เปลี่ยนชีวิตเมืองด้วยการฝังเข็ม ปรับซอกรกร้างให้เป็นศูนย์ดูแลเด็ก

การจัดการที่รกร้างเหลือเป็นซอกมุมในเมืองเป็นปัญหาของเมืองใหญ่เสมอ ยิ่งเมืองขยายตัวมากขึ้นปัญหาเรื่องการจัดการสาธารณูปโภคก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะปัญหาของคนหมู่มากนั้นจะยิ่งซับซ้อนตามจำนวนคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างในกรณีเมือง Selb ประเทศเยอรมัน ซึ่งเกิดความไม่สมดุลของการพัฒนาเมืองจนมีซอกพื้นที่รกร้างเกิดขึ้น

ในพื้นที่เหลือของเมืองเหล่านั้นหากไม่ได้รับการออกแบบที่ดี มันจะกลายเป็นที่ซ่องสุมของกิจกรรมไม่พึงประสงค์ของเมือง ในระยะยาวจะกลายเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่ต้องรอการรักษา แต่วิธีที่สถาปนิกจากสเปนนามว่า TallerDE2 Arquitectos + Gutiérrez-delafuente Arquitectos เสนอคือ การมองเมือง Selb คล้ายร่างกายมนุษย์เรานี่เอง การเข้าไปรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกหลักวิชาการ จึงเป็นการ ‘ฝังเข็มเมือง’ ที่พวกเขานิยามว่า Preventive Urban Acupuncture กระบวนการที่นำเสนอคือนำโปรแกรมที่เกิดจากความต้องการของเมืองที่เหล่าสมาคมคุณแม่ต้องการสถานที่สำหรับดูแลเหล่าเด็กๆ ในชั่วโมงทำงาน จนถึงดูแลเด็กหลังเลิกเรียน เพื่อตอบสนองชีวิตครอบครัวคนเมืองให้ง่ายขึ้น วิธีการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมที่พวกเขาใช้คือ การออกแบบให้มีความขัดแย้งจากสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นสีโทนเรียบเทา ด้วยการเลือกใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้ใช้หลักซึ่งเป็นเด็กๆ ในเมือง นอกจากวัสดุแล้วการออกแบบที่ว่างให้มีจังหวะจะโคนที่แตกต่างสลับกันไปเพื่อความเคลื่อนไหวอีกด้วย

หากเราเลือกจะมองเลยผ่าน ซอกเหล่านี้จะกลายเป็นแค่ที่รกร้างที่ใครๆ ก็บ่น แต่ถ้าลงมือแก้ปัญหามันด้วยการออกแบบ เชื่อเหอะว่ามันจะช่วยให้สังคมดีขึ้นแน่นอน

อ้างอิง : designboomarchdaily