ผนังไม้เลื้อยป้องกันแสงแดดในชิลี สู้ธรรมชาติด้วยธรรมชาติ

เทคโนโลยีผนังสีเขียวสำหรับอาคารสูง ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและลงทุนไม่มาก หากเทียบกับเทคโนโลยีประหยัดพลังงานด้วยวิธีอื่น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ที่พบเห็น ผนังสีเขียวจึงจัดเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่จะบ่งชี้ได้ในเบื้องต้นว่า อาคารแห่งนั้นๆ ให้ความใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

อาคาร Consorcio ในประเทศชิลี ถือเป็นอีกหนึ่งอาคารที่มีการออกแบบผนังสีเขียว ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับตัวงาน อาคารแห่งนี้เป็นสำนักงาน สูง 17 ชั้น ผังอาคารมีสัณฐานค่อนไปทางยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับถนน และหันหน้าออกสู่ทิศตะวันตก ทำให้ด้านหน้าของอาคารต้องรับความร้อนจากแสงแดดในช่วงบ่ายอย่างเต็มที่ Enrique Browne และ Borja Huidobro สองสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ จึงได้แก้ปัญหาด้วยการ ออกแบบให้ผนังอาคารด้านนี้ เป็นผนังสองชั้น ผนังชั้นในเป็นกระจก ในขณะที่ผนังชั้นนอก เป็นผนังสำหรับปลูกไม้เลื้อยห่อหุ้มผนังชั้นในเอาไว้ สีเขียวจากพืชพรรณ ช่วยลดความแข็งกระด้างของอาคารขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ผนังไม้เลื้อยผืนใหญ่ผืนนี้ มีพื้นที่ถึง 2,700 ตารางเมตร ใกล้เคียงกับพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคารทั้งหมด มีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ให้สัมผัสกับผิวอาคารโดยตรง เพื่อลดการใช้พลังงานในการทำความเย็นภายในตัวอาคาร นอกจากนี้ยังช่วยกรองแสงธรรมชาติให้สาดส่องเข้าสู่อาคารในปริมาณที่เหมาะสม พืชพรรณที่นำมาปลูกจะเป็นประเภทไม้เลื้อย มีใบช่วยในการกรองแสง และในบางฤดูกาลพืชพรรณเหล่านี้จะออกดอกเป็นสีสันต่างๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละช่วงของปี เกิดเป็นแผงกันแดดมีชีวิตขนาดใหญ่ ที่นอกจะช่วยกันแดดแล้ว ยังช่วยสร้างความร่มรื่น และสีสันสวยงาม ให้กับผู้คนที่ใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งผู้ที่ผ่านไปมาโดยรอบ นับเป็นเทคโนโลยีที่ทำได้ง่าย เหมาะกับอาคารสูงในยุคโลกร้อนเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง : plataforma arquitectura