ออฟฟิศทำมือจากขวดเหลือใช้ 8,500 ใบโดยสถาปนิกจีน

16

ขวดแก้ว นับเป็นวัสดุเหลือใช้ที่มักได้รับการนำมาใช้เป็นลำดับต้นๆ ในการสร้างสถาปัตยกรรม อันเนื่องมาจากมีความแข็งแรงสามารถนำมาใช้ก่อเป็นผนังแทนอิฐได้ จึงมักมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่สร้างสถาปัตยกรรมขึ้นจากขวดแก้วเหลือใช้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ Li Rongjun สถาปนิกหนุ่มชาวจีน ที่ใช้ขวดแก้วเหลือใช้ในการสร้างสำนักงานของตัวเอง

อาคารสำนักงานจากขวดแก้วฝีมือของ Li Rongjun ตั้งอยู่ในเมืองฉงชิ่ง (Chongqing) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตัวอาคารเป็นอาคารชั้นเดียว มีผังเป็นรูปทรงโค้งคล้ายขดก้นหอย ผนังของอาคารทั้งหมดก่อตัวเรียงร้อยด้วยขวดเบียร์จำนวน 8,500 ใบ โดยเริ่มจากการนำขวดมามัดเข้าด้วยกันด้วยเชือกพลาสติก จากนั้นจึงนำมาก่อเป็นชั้นๆ โดยใช้ปูนก่อเป็นตัวยึด และแทรกด้วยก้อนหิน ทำให้ผนังมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้ดี ในขณะที่หลังคาเป็นหลังคาแบน โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

บรรยากาศภายในอาคาร ให้ความรู้สึกพิเศษที่แตกต่างจากอาคารทั่วไป เนื่องจากความโปร่งใสของขวดช่วยให้แสงจากภายนอกสามารถสาดส่องเข้ามาภายในได้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่พิเศษแตกต่างจากบ้านที่สร้างจากวัสดุทั่วๆ ไป ข้อดีประการสำคัญของออฟฟิศขวดหลังนี้คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการสกัดทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อนำมาสร้างเป็นวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ยังช่วยลดมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการทำลายขยะ โดยการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  นับเป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งก่อสร้างในยุคใหม่ที่ช่วยให้เราได้หันกลับมามองสิ่งธรรมดาๆ ใกล้ตัว

1

2

3

4

5

6

7

8

อ้างอิง : inhabitatMirror