สถาปัตยกรรมริมหาดจากพืชธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติอย่างแท้จริง

ทัศนอุจาดกับพื้นที่สวยๆ ของหลายหาดในประเทศไทย สีสันที่มากเกินไปแบบเมืองร้อนดูจะเป็นการตั้งคำถามถึงการมีตัวตนที่ชัดเจนของเหล่าร่มกันแดดหลากสี(แถมพะยี่ห้อโน่นนี่)ริมหาด ประสานกับขยะมากมายบนชายหาดล้วนทำจากวัสดุที่ไม่ชวนย่อยสลาย พอเก่าผุพังก็กลายเป็นขยะแห่งทะเลที่กลืนลงไปในทะเลซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จบ คำถามต่อตัวตนทัศนอุจาดและหลากวัสดุจากการท่องเที่ยว(แบบไม่รักษ์โลก)ริมหาดนี้จะแก้ไขได้อย่างไรบนพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างน่าสงสัย

แต่ในขณะเดียวกันอีกซีกโลก ณ ชายหาดเมืองเวนดูเน ประเทศเบลเยียม ปรากฏสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าเป็นประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรม มันดูคล้ายไส้เดือนทะเลทราย แต่ในความเป็นจริงมันถูกผลิตและถักทอจากต้นตะไคร้บก ออกแบบโดย Marco Casagrande สถาปนิกชาวฟินน์ แนวคิดคือการการสร้างสิ่งที่คลุมเครือของศิลปะและสถาปัตยกรรม ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน เป็นธรรมชาติ พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้รองรับกิจกรรมสำหรับผู้คนที่มาพักผ่อนที่ริมหาดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปิกนิก การทำสมาธิ หรือจะเพียงผ่านเข้าไปเดินเล่นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อเข้าไปยังภายในไส้เดือนทรายแล้วจะพบกับแสงสลับเงารอดรำไร แสงส่องผ่านจากผิวภายนอกของการสานผิวที่เป็นกึ่งทึบกึ่งโปร่งทาบลงบนพื้นทรายอย่างชวนพิศวงภายในของอุโมงค์เงายาว 45 เมตร

พื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ คล้ายฐานทัพลับในวัยเยาว์หวนกลับมาอีกครั้งในความทรงจำ เพียงแต่ในคราวนี้ไม่ใช่แค่การเอาต้นไม้พุ่มขนาดย่อมมาโค้งน้อมตัวเป็นกระโจม แต่เป็นการคิดถึงสิ่งแวดล้อมที่จะไม่เกิดอะไรที่ดูขัดตากับสภาพแวดล้อม วัสดุล้วนเป็นสิ่งที่พบได้จากธรรมชาติ สามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติได้โดยง่าย

สิ่งที่เราจะฝากไว้กับโลกใบนี้เราควรสร้างวางตัวให้สัมผัสโลกราวกับจุมพิตบางเบา แค่เราช่วยกันคิดกันก่อนจะจุมพิตโลกเราด้วยความไม่ทันคิดแบบเดิมๆ ก็ช่วยโลกได้เยอะแล้ว

อ้างอิง : archdaily, marco casagrande