โรงเรียนชนบทในกัมพูชา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา

4

เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและยังคงมีอยู่ในแทบทุกสังคมบนโลกใบนี้ ทำให้หลายภาคส่วนได้พยายามดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือ การรวมกลุ่มในรูปขององค์กรซึ่งไม่แสวงผลกำไร (Non-profit Organization) โดยในปัจจุบันได้มีองค์กรในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากที่ได้ดำเนินการโดยเข้าไปพัฒนาตามท้องถิ่นที่ยังขาดแคลน ซึ่งหนึ่งในผลงานที่เป็นผลผลิตของการดำเนินงานลักษณะนี้คือ โรงเรียนมัธยมแห่งประเทศกัมพูชา

โรงเรียนมัธยมแห่งนี้ ได้รับการออกแบบและดำเนินการโดย Architetti senza frontiere Italia องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากประเทศอิตาลี ซึ่งได้เลือกพื้นที่หมู่บ้าน Roong เมืองตาแก้ว (Takeo) ทางตอนใต้ห่างจากกรุงพนมเปญราว 50 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สำหรับสร้างโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ขึ้น ด้วยความที่พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ชนบท ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนในการจะซื้อวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่จะทำการก่อสร้างขึ้นใหม่นี้

ภายในอาคารเรียน ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวนั้น ประกอบไปด้วยห้องเรียนขนาดเล็กจำนวน 6 ห้อง โดยวางเรียงเป็นแนวยาวในลักษณะเป็นเส้นตรง ซึ่งข้อดีของการวางผังอาคารในลักษณะนี้คือ ทำให้ทุกห้องสามารถระบายอากาศและรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ดี ผนังของอาคาร ก่อขึ้นจากอิฐซึ่งทำจากดิน ทำให้มีความแข็งแรงและยังเป็นฉนวนช่วยลดความร้อนที่จะเข้ามาสู่ภายในตัวอาคาร ผนังด้านข้างของทุกห้องยังถูกออกแบบให้เป็นระแนงไม้ไผ่ ทำให้สามารถระบายอากาศได้ดีโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ โครงหลังคาทำจากไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยกระเบื้องลอน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการก่อสร้างโดยแรงงานในท้องถิ่น

ทางผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีความคาดหวังจะให้ให้อาคารเรียนหลังนี้ ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชน ช่วยให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาและมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ให้ลดลงบ้าง ไม่มากก็น้อย

1

2

3

4

5

6

7

8

อ้างอิง : archdaily