สถาปนิกฟินแลนด์ปั้นโรงเรียนจากก้อนดินให้ผู้ยากไร้ในกัมพูชา


มีหลายคำถามในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมว่า ออกแบบอย่างไรให้สวย ออกแบบอย่างไรให้เท่ ให้ผู้คนจำได้ ให้ผู้คนพูดถึง ฯลฯ คำตอบของคำถามเหล่านั้นคงมีหลากหลาย และอาจเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรจะรู้ คือ ‘ออกแบบเพื่อใคร?’

อาคารสองชั้นที่สร้างขึ้นจากวัสดุในท้องถิ่นนี้เป็นโรงเรียนสอนอาชีวะในหมู่บ้าน Sra Pou ประเทศกัมพูชา สีแดงของอาคารนั้นมาจากการขึ้นรูปดินด้วยมือแล้วนำมาตากแดดจนได้เป็นบล็อคดินทำเอง (ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนเพื่อที่ชาวบ้านจะได้ใช้ทำบ้านของตัวเองในอนาคต) บล็อคดินที่ได้ถูกนำมาต่อเรียงกัน โดยมีการเว้นช่องแสงเล็กๆ ให้ลอดผ่านเพื่อให้แสงและลมอ่อนๆ เข้าถึงพื้นที่ภายใน อาคารหลังนี้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เปิดโดยมีการออกแบบแผงกันแสงด้านนอกอีกด้วย นอกจากสีแดงของดินแล้วยังมีสีสันต่างๆ ที่ได้จากงานหัตกรรมของคนในหมู่บ้าน ที่สามารถเห็นได้ชัดจากระยะไกล เสมือนเป็นการเชิญชวนผู้ที่มาเยือน

โครงการสร้างโรงเรียนอาชีวะให้กับครอบครัวที่ยากจนในหมู่บ้านนี้ ริเริ่มโดยสองสถาปนิกหนุ่ม Hilla Rudanko และ Anssi Kankkunen จนทำให้เกิดบริษัท  Architects Rudanko + Kankkunen ในระหว่างการทำโครงการนี้ และได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยธรรม’ ในฟินแลนด์อีกด้วย

อ้างอิง: archdaily