เรือนไผ่ในพื้นที่รกร้าง ต้นทุนต่ำ แก้ปัญหาการเคหะในฮ่องกง

ไม้ไผ่เป็นไม้โตเร็ว และพบได้แพร่หลายในเอเชีย ไม้ไผ่อยู่คู่กับชีวิตประจำวันของชาวเอเชียมานาน ทั้งเป็นอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ และการปลูกบ้านปรุงเรือน อย่างที่เราจะเห็นได้ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของเอเชียที่มีไผ่เป็นส่วนประกอบทั้งหลัง เช่นในกรณีเรือนเครื่องผูกในอุษาคเนย์ที่ใช้ไผ่ไปทุกส่วนจริงๆ ขาดก็แต่หลังคาเท่านั้น เพียงแต่ว่าด้วยสาเหตุของอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เน้นเทคโนโลยีจากตะวันตกทำให้พวกเราลืมความสำคัญของไม้ไผ่ในสถาปัตยกรรมไป เพราะมันยังไม่ตอบสนองกับระบบอุตสาหกรรม

แต่ยังมีการทดลองไม้ไผ่ให้กลับมามีความสำคัญในสถาปัตยกรรมตะวันออกอยู่เสมอ อย่างสำนักงานสถาปนิก AFFECT-T จากเกาะฮ่องกง ได้ออกแบบบ้านตัวอย่างสำหรับงาน Hong Kong/ Shenzhen Biennale of 2013 โดยโจทย์ตั้งอยู่ที่การนำพื้นที่รกร้างของอาคารอุตสาหกรรมในเมืองฮ่องกงให้กลับมาใช้เป็นพื้นที่อาศัยด้วยที่พักอย่างง่าย ที่ทำจากไม้ไผ่ขนาดต่างๆ กันทั้งทำเป็นโครงสร้าง เป็นผนัง โดยเลือกไผ่ขนาดต่างๆ มาประกอบ ดัดโค้งเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเรือนไผ่ที่ซ้อนอยู่ในที่ว่างร้างอีกที แนวคิดนี้สถาปนิกเสนอถึงการแนวทางการลดปัญหาคนไร้บ้านกว่า 280,000 ชีวิตอย่างที่เราเห็นว่านอนกันในกรงและมีที่นอนใหญ่กว่าแคปซูลเท่านั้นเอง โครงการนี้ได้ถูกนำเสนอในงานเพื่อเสนอถึงปัญหาของเคหะการในฮ่องกงของปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถทดลองเข้าไปอยู่ในสเปซเหล่านั้นเพื่อเข้าใจถึงประสบการณ์ที่จะได้รับ

วัสดุง่ายๆ ที่เรามองข้าม แต่หากจับมาปรุงใหม่ ความหมายและคุณค่าก็เปลี่ยน เพียงแต่เราต้องเลือกหาให้เจอจุดแข็งของแต่ละวัสดุเท่านั้นเอง

อ้างอิง: affect-tarchdaily, inhabitat