Tulou Housing แรงบันดาลใจจากบ้านดินชาวจีนฮากกาอายุ 300 ปี

จากบ้านดินอายุกว่า 300 ปี เก่าแก่และผ่านการใช้งานมาหลายรุ่นทางตอนใต้ของจีน บ้านดินที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแบบหนึ่งของจีนคือ บ้านดินถูลู่นั่นเอง บ้านดินถูลู่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวจีนแคะหรือฮากกา ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเป็นกำแพงสูงราวสี่ชั้นล้อมรอบพื้นที่ลานตรงกลางอีกชั้นหนึ่ง ในบ้านดินถูลู่1 หลังนอกจากจะถูกแบ่งเป็นห้องของแต่ละครอบครัวแล้ว ยังประกอบไปด้วย ส่วนพักผ่อน ส่วนสันทนาการสาธารณะ สถานที่ทางจิตวิญญาณ เก็บของ ทางเข้าออกก็มีเพียงประตูเดียวเท่านั้น ซึ่งมาจากการแก้ปัญหาที่ป้องกันศัตรูจากภายนอก และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือในชุมชนมีความใกล้ชิดกันในแต่ละหน่วย เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากเพราะแก้ปัญหาได้ทั้งชุมขนไปพร้อมกับภาวะสบายในเมืองหนาว

นอกจากจะเป็นแค่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจีนให้ใช้ได้เฉพาะในบริบทชนบทแล้ว สถาปนิกเลือดใหม่ชาวจีนนามว่า Urbanus ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า urban ที่หมายถึงชุมชนเมือง ได้เสนอการออกแบบชุมชนเมืองที่ปลุกวิญญาณบ้านดินถูลู่ให้มีลมหายใจในบริบทเมืองสมัยใหม่ของจีนได้อย่างน่าสนใจ โจทย์ที่สถาปนิกได้รับคือ การออกแบบอพาร์ตเมนต์กว่า 220 ห้องสำหรับผู้มีรายได้น้อยในกวางโจว สถาปนิกออกแบบโดยแปลรูปแบบบ้านดินให้เปลี่ยนวัสดุบ้านๆ แบบดินๆ มาเป็นคอนกรีต บล็อคลม แผงไม้ แต่ยังคงรสชาติของการสร้างชุมชนให้ใกล้ชิดกันแบบของเดิม บ้านดินสมัยใหม่นี้ออกแบบให้ห้องพักแต่ละหน่วยวางเป็นกำแพงล้อมรอบคอร์ตกลาง แต่ไม่ทำให้ทึบตันแบบบ้านดิน ใช้ผนังบล็อกลมที่มีลักษณะกลวงช่วยในการระบายอากาศได้ดี ช่วยสร้างภาวะส่วนตัวให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ได้ดี และในพื้นที่ส่วนระเบียงก็ออกแบบโดยใช้ฉากไม้ปรับเลื่อนได้ซึ่งคลี่คลายรูปแบบมาจากสถาปัตยกรรมบ้านจีน ช่วยให้ระบายอากาศได้ทั้งด้านหน้าและหลัง รายละเอียดในการออกแบบเหล่านี้ช่วยทั้งให้ชุมชนมีความใกล้ชิดกันขึ้น แต่ไม่ขาดจากกันทีเดียวนัก

ของเก่าจริงๆ แล้วไม่เคยเก่า อยู่ที่เราเลือกมาปรับใช้ให้เหมาะกับยุคปัจจุบันเท่านั้นเอง

อ้างอิง: Urbanus, archdaily