‘Victor Civita Plaza’ สวนสวยกลางเมือง เนรมิตขึ้นจากโรงเผาขยะ

ในทางผังเมือง เรามักใช้คำว่า Brownfield ในการนิยามที่ดินที่มีสิ่งก่อสร้างร้าง หรือที่ดินเปล่าถูกปล่อยปละให้รกร้าง หรือใช้งานไม่คุ้มค่ากับศักยภาพที่มี อันเป็นอุปสรรคซึ่งทำให้การพัฒนาเมืองต้องประสบความยุ่งยาก ในแง่ของสิ่งแวดล้อมที่ดิน Brownfield ยังถือเป็นพื้นที่ที่สร้างมลภาวะหรือมีมลพิษให้กับเมือง ซึ่งพื้นที่ในลักษณะนี้สามารถพบได้ในทุกเมืองโดยเฉพาะเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการขยายตัวอย่างไร้ระเบียบแบบแผน และเมืองเซาเปาโล (São Paulo) ในประเทศบราซิล ถือเป็นหนึ่งในจำนวนเมืองเหล่านั้น ซึ่งมีพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก และโครงการสวนสาธารณะ  Victor Civita Plaza ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามจัดการกับพื้นที่ไร้ประโยชน์ที่มีอยู่มากมายเหล่านั้น

เดิมทีพื้นที่ 130,000 ตารางฟุตกลางเมืองเซเปาโลแห่งนี้ เคยถูกใช้เป็นที่ทิ้งและเป็นที่ตั้งเตาเผาขยะ ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่ด้วยความที่พื้นที่แห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่อยู่มาก ทางเมืองจึงมีโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ไร้ประโยชน์และสร้างมลภาวะให้กับเมืองแห่งนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยมี Levisky Arquitetos Associados เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบและวางผังพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ ต้นไม้เดิมได้รับการเก็บรักษาไว้ทุกต้น เพื่อช่วยสร้างความร่มรื่นให้กับสวนแห่งนี้ ผู้ออกแบบพยายามหลีกเลี่ยงที่จะปรับระดับพื้นดินเดิมให้มากที่สุด จึงเลือกวิธีแก้ปัญหาโดยการทำโครงสร้างเหล็กซึ่งยกลอยจากพื้นประมาณ 3 ฟุต สำหรับใช้เป็นทางเดินและพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ทั้งเวที ลานกิจกรรม ที่นั่ง และหลังคาเวที ทั้งหมดถูกตกแต่งพื้นผิวด้วยไม้เหลือใช้ ซึ่งถูกใช้งานแล้ว ตัวอาคารโรงเตาเผาขยะเดิมได้รับการอนุรักษ์ไว้ ให้อยู่ในสภาพเดิมพร้อมกับปรับเปลี่ยนการใช้งานภายในให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เคยไร้ประโยชน์แห่งนี้

สวนแห่งนี้ยังมีการคำนึงถึงความยั่งยืนในการออกแบบ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณหลังคาเวทีการแสดง เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในสวนแห่งนี้ รวมทั้งยังมีระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืช ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จสมบูรณ์ สวนสาธารณะ Victor Civita Plaza ได้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆ ของคนในละแวกชุมชนแห่งนี้ ซึ่งแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของชาวเมืองได้อย่างครบครัน

อ้างอิง : archdaily