มอมแมมบุก! สกัลปเจอร์นี้สร้างความหมายใหม่ให้พื้นที่รกร้าง

ประเทศไทยมีที่ดินถูกทิ้งร้างมากมายขนาดไหน? ซึ่งแทนที่จะส่ายหน้ายี้แล้วหันหลังให้กับความเสื่อมโทรมที่ค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย มาเปลี่ยนเป็นความคิดสร้างสรรค์และลงมือทำอะไรสนุกๆ กันดีไหม เพราะจะซอยไหนรก หรือถนนไหนร้าง สุดท้ายก็เมืองของเราทั้งนั้น และถ้าตอไม้หรือเถาวัลย์มันคอมเม้นท์ได้ มันก็คงอยากพิมพ์บอกมนุษย์เหมือนกันว่า “มาตัดซอยเซ็ตฉันหน่อยได้ไหม ฉันไม่ได้อยากรกแบบนี้” โถ ธรรมชาติ อย่าเพิ่งน้อยใจไป โลเล – ทวีศักดิ์ ศรีทองดี มาช่วยสร้างสรรค์พวกคุณแล้ว!

โลเลเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ให้ความสนใจในพื้นที่ทิ้งร้างอันอาจเกิดจากเหตุผลว่าเจ้าของที่ไม่มีเวลาดูแล ซึ่งสำหรับเขา หากขึ้นชื่อว่าธรรมชาติแล้ว จะรกแห้งหรือแตกปลายยังไง ก็มีความสวยงามและคุณค่าในตัวของมันเสมอ โลเลเริ่มไอเดียด้วยการตั้งคำถามว่า ถ้าเราจัดการกับพื้นที่รกร้างด้วยการลองใส่ความหมายใหม่เข้าไปยังธรรมชาติรกๆ เหล่านั้น เติมลูกตา สร้างความรู้สึกให้คล้ายว่าธรรมชาติเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมา หรือวางสกัลปเจอร์สักชิ้นไว้บนที่ดินร้างสุดๆ แล้วปล่อยให้เถาวัลย์พันเกี่ยว ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านกาลเวลาจนความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิดอย่างเป็นธรรมชาติล่ะ? โลเลเริ่มทดลองความคิดนี้กับโคมไฟกลมๆ ที่บ้านของเขา ด้วยการเติมลูกตาและปล่อยไม้เลื้อยให้ขึ้นไปที่โคมไฟ เขาตั้งชื่อให้กับสิ่งประดิษฐ์หน้าแป้นว่า ‘มอมแมม’ ขยายความหมายต่อไปยังพื้นที่ข้างทางด้วยการรีทัช เติมลูกตาเข้าไปที่ต้นไม้รก ต่อยอดมาเป็น conceptual art ที่ใหญ่ขึ้นโดยการร่วมงานกับโครงการ THINK EARTH โดยมีโจทย์คือพื้นที่ทิ้งร้างกลางเมืองบริเวณสี่แยกราชเทวี มอมแมมชิ้นนี้เป็นโครงเหล็กที่ถูกสร้างขึ้นและนำไปปล่อยวางยังพื้นที่ดังกล่าว ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการ กระทั่งจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอันเป็นความหมายใหม่ให้กับพื้นที่ทีละน้อย

การจัดการวัชพืชที่ไม่ปรารถนาตามชุมชนด้วยวิธีสร้างสรรค์นี้ทำให้มนุษย์อย่างเราๆ เองได้ฉุกคิดถึงการอยู่ร่วมกัน เป็นการจัดการกับธรรมชาติอย่างง่ายๆ ที่จะร้างมาก ร้างน้อย หรือร้างที่ไหน คุณหรือใครก็ครีเอทวิธีการในแบบของคุณได้ คิดดูเล่นๆ ว่า ถ้ามอมแมมถูกส่งไปตั้งวางอยู่ที่รกร้าง ทั่วประเทศไทยล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น …แหม ร้างก็ร้างเหอะ แต่ร้างอย่างมีดีไซน์นิ!

ขอบคุณภาพและข้อมูล: โลเล – ทวีศักดิ์ ศรีทองดี