‘ร้าน 0 บาท’ ใช้ขยะแทนเงิน สร้างอาชีพ ปลุกจิตสำนึกแบบพอเพียง

รู้หรือไม่ว่าเรามีปริมาณขยะแต่ละปีถึง 12 ล้านตัน แล้วก็ต้องใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาทในการกำจัดขยะเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะนั้นสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แถมยังสร้างมูลค่าได้ถึง 20,000 ล้านบาท พูดมาถึงตรงนี้ แน่นอนว่าเรื่องตัวเลขคงไปกระชากความสนใจใครหลายคน แต่สิ่งที่น่าดึงดูดกว่า คือ ถ้าเราสามารถจัดการขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธีแล้วละก็ มันสามารถจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพ แถมยังสร้างจิตสำนึกด้านบวกให้กับชุมชนได้ด้วย

นี่คือที่มาของโครงการ ‘ร้าน 0 บาท’ ที่ดำเนินการโดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ที่อยากนำเสนอแนวทางในการเปลี่ยนขยะในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง แนวคิดของโครงการนี้ก็คือจะให้คนในชุมชนรวมตัวกันจัดตั้งร้านค้าขึ้นมา 1 ร้าน ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งร้านของชำ ร้านข้าวแกง หรือร้านรับแลกสินค้าเคลื่อนที่ก็ได้ แล้วแทนที่จะใช้เงินเพื่อแลกของสักชิ้นก็เปลี่ยนมาใช้ขยะที่สามารถนำกลับไปผลิตใหม่อย่าง ขวดแก้ว ขวกพลาสติก กล่องนม กล่องกระดาษ แทน โดยมีระบบการจัดการภายในร้านเหมือนกับร้านค้าทั่วไปผสมกับระบบสหกรณ์ที่จะมีการปันผลให้กับสมาชิกทุกๆ 6 เดือน

ถ้าดูตามระยะเวลาที่ร้าน 0 บาท เกิดขึ้นมาแล้ว ก็นับว่าโครงการนี้มาไกลและดูจะประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เพราะไม่เพียงแต่จะลดภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและช่วยลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่คนในชุมชนยังต่อยอดจากโครงการดังกล่าวด้วยการรวมตัวกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะด้วยตัวเอง ทั้งการนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระเป๋า กล่องทิชชู่ และกล่องดินสอ รวมทั้ง คิดโครงการต่างๆ เพื่อที่จะดึงให้ชาวบ้านเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างห้องสมุด การปลูกผักสวนครัว และการเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งความสำเร็จสูงสุดก็คงจะเป็นการได้ช่วยสร้างวัฒนธรรมการแยกขยะที่จะติดตัวชาวบ้านและเด็กๆ การก่อให้เกิดการคิดและจัดการอย่างเป็นระบบในชุมชน และยังเป็นการสร้างอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตแบบยั่งยืนและพอเพียงด้วย

อ้างอิง: ร้าน 0 บาท, ผู้จัดการออนไลน์