Carrot Mob หากร้านคุณรักษ์โลก เราจะก่อม็อบไปอุดหนุน!

ในโลกแห่งการบริโภคเช่นทุกวันนี้ อะไรจะมีอำนาจไปมากกว่าพลังแห่งการซื้ออีกเล่า? ฟังดูอาจจะชวนให้คุณจินตนาการไปถึงโลกแห่งวัตถุนิยมอันฟุ้งเฟ้อ แต่พอมามองอีกมุมแล้ว วัตถุนิยมก็อาจจะไม่ได้แย่เสมอไป ถ้านำมาใช้ให้ถูกทาง

เบรนท์ ชูลคิน (Brent Schulkin) คือตัวอย่างของการพลิกความเป็นวัตถุนิยมที่คนทั่วไปมักมองว่าเป็น ‘วิกฤต’ ให้กลายเป็นโอกาสในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ในเมื่อพลังแห่งการซื้อมีอำนาจสูงสุด ก็นำพลังที่ว่านี้มาใช้ซะเลยสิ…ในปีค.ศ. 2008 เขาจึงตั้งโครงการชื่อ Carrotmob ขึ้นที่ซานฟรานซิสโก โดยมุ่งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตื่นตัวเรื่องการทำประโยชน์เพื่อโลกและส่วนรวมมากขึ้นโดยใช้พลังแห่งการบริโภคนี้เองเป็นพลังขับเคลื่อน หลักการของแครอทม็อบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้รางวัล คือแทนที่จะไปคว่ำบาตร (Boycott) ร้านค้าที่ทำร้ายโลก ก็หันไปสนับสนุนโดยการซื้อ (Buycott) สินค้าจากร้านค้าที่รักษ์โลกแทน (การที่โครงการนี้ใช้แครอทเป็นสัญลักษณ์ก็มีที่มาจากสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า carrot and stick ซึ่งหมายถึงนโยบายการตอบแทนที่ผสมผสานระหว่างการลงโทษ หรือ stick และการให้รางวัลหรือ carrot นั่นเอง) ดังนั้นร้านที่ร่วมโครงการร้านใดแสดงให้เห็นว่ารักษ์โลกอย่างได้ใจ คุณเบรนท์ก็จะนัดแนะกับเครือข่ายของเขาผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค แล้วในวันที่นัดกันไว้ ม็อบแครอทก็จะเฮโลกันไปปรากฏตัวที่ร้านนั้นอย่างพร้อมเพรียง เพื่ออุดหนุนสินค้าของร้านดังกล่าวกันอย่างคับคั่งในรูปแบบของแฟล็ชม็อบ (flash mob)

ด้วยความที่เป็นไอเดียที่ทำได้ง่าย ไม่สิ้นเปลืองแถมยังสนุกอีก แครอทม็อบจึงกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายไปยังรัฐอื่นและประเทศอื่นๆ อย่างฟินแลนด์และฝรั่งเศสด้วย จวบจนปัจจุบันนี้ แครอทม็อบได้จัดแฟล็ชม็อบไปเหมาสินค้าของร้านต่างๆ มาแล้วเกือบ 180 ร้านแล้ว และพวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นั้นแน่ และถ้าหากคุณอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ก็ไม่มีใครขัดศรัทธา ขอแค่มาตามนัดเท่านั้น

ใครบอกว่า ‘ม็อบ’ จะต้องสร้างความขัดแย้งวุ่นวายเสมอไป ม็อบใสๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแบบนี้ก็มีนะเออ

อ้างอิง: Carrotmob