ให้ชีวิตด้วย Kit Yamoyo ส่งต่อชุดรักษาพยาบาลผ่านลังขวดโค้ก


นอกจาก ‘yamoyo’ จะเป็นภาษา Nyanja แปลว่า ‘ชีวิต’ หรือ ‘การให้ชีวิต’ แล้ว มันยังเป็นชื่อของโครงการดีๆ อย่าง Kit Yamoyo ที่มี Simon และ Jane Berry เป็นหัวหอกสำคัญด้วย

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ Simon และ Jane มีโอกาสได้ทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับโปรแกรม British Aid และตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่น้ำดื่มโคคาโคล่าซึ่งดูเหมือนจะเป็นของฟุ่มเฟือยสามารถหาได้ในร้านค้าของพื้นที่กันดารและเข้าถึงยากอย่าง Zambia ทว่าชุดรักษาพยาบาลพื้นฐานกลับเป็นสิ่งที่หายากแทบพลิกแผ่น ทั้งคู่เลยปิ๊งความคิดที่จะส่งผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาพยาบาลพื้นฐานไปตามเส้นทางการจัดจำหน่ายโค้กเพื่อให้ถึงมือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ จึงเริ่มผลักดันแนวคิดที่ว่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงปี 2008 จนท้ายที่สุดโครงการ Kit Yamoyo ก็เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างหลังจากที่ Simon ก่อตั้งมูลนิธิ ColaLife อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมี PI Global เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านภาพลักษณ์ของชุดรักษาพยาบาลดังกล่าว

หลังจากการพัฒนาแบบมาเกือบ 10 ครั้ง Kit Yamoyo ก็ลงตัวกับแพ็คเกจหน้าตาเรียบๆ ที่ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมมาเป็นฟอร์มหลักเพื่อให้ชุดรักษาพยาบาลชุดนี้สามารถวางได้พอดีระหว่างคอขวดของโคคาโคล่าที่จัดเรียงอยู่ภายในลังสำหรับการขนส่ง โดยในหนึ่งชุดจะประกอบด้วย สบู่ก้อนและภาชนะสำหรับใส่ เกลือแร่สำหรับใช้ดื่มเมื่อมีอาการท้องร่วง (ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา) Zinc Tablet จำนวน 10 เม็ด (สำหรับภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสีกันที่พบมากในเด็กๆ แถบแอฟริกาเช่นกัน) และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือแผนพับซึ่งให้ข้อมูลส่วนประกอบต่างๆ ในชุดว่ามีอะไรบ้างและใช้งานอย่างไร นอกจากทีมออกแบบจะดีไซน์ให้ตัวแพ็คเกจจิ้งเหมาะสมกับการขนส่งแล้ว เจ้าฟอร์มสามเหลี่ยมดังกล่าวก็ถูกคิดมาแล้วว่าสามารถนำไปใช้เป็นภาชนะสำหรับตวงและผสมเกลือแร่เมื่อเกิดอาการท้องร่วงได้อีก

ถ้าไม่นับไอเดียเจ๋งๆ และความตั้งใจดีๆ Kit Yamoyo ยังมีความน่าสนใจในแง่โมเดลทางธุรกิจที่พวกเขาเชื่อว่า ‘สอนวิธีจับปลาให้เขา’ นั้นย่อมยั่งยืนกว่า ‘การให้ปลาทั้งตัว’ ดังนั้น Kit Yamoyo เลยออกมาในรูปแบบของการ ‘ขาย’ ไม่ใช่ให้การ ‘ให้เปล่า’ ซึ่งด้วยวิธีดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้จากการขายชุดยาชุดนี้แล้ว บรรดาแม่ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักยังสามารถซื้อได้ในราคาไม่ถึง 1 ดอลล่าร์ ที่สำคัญเลยก็คือการเป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหาที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงไปได้ในตัว

ทีมงานจาก ColaLife บอกไว้ชัดเจนในเว็บไซต์ของเขาว่า หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ พวกเขาก็จะเพิ่มผลิตภัณฑ์จำเป็นอื่นๆ อย่างเช่นถุงยางอนามัยเข้าไปด้วย ซึ่งล่าสุดที่เราเข้าไปดูความคืบหน้า ทีมงาน ColaLife คงจะต้องทำให้ความคิดที่ว่านี้เป็นรูปเป็นร่างซะแล้ว เพราะทั้งตัวผลิตภัณฑ์เอง ไปจนถึงโมเดลทางธุรกิจต่างก็ได้รับความสนใจจากประเทศนำร่องอย่าง Zambia ไปมากพอตัวกับยอดสั่งซื้อกว่า 20,000 ชุด ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ win-win กันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายให้ ฝ่ายรับ รวมถึงสังคมโดยรวมที่มีโอกาสได้เห็นและสามารถเป็นส่วนหนึ่งผ่านการบริจาคให้กับโครงการนี้ได้ด้วย yamoyo สมชื่อจริงๆ ล่ะ

Simon Berry (ขวา)