ซ่อนลิฟท์ใต้บันได เปลี่ยนสลับทางเข้า-ออกของผู้พิการและคนปกติ

การสร้างความทัดเทียมที่เสมอภาคบนความต่างที่หลากหลายกลายเป็นโจทย์สำคัญที่นักสร้างสรรค์ไม่สามารถมองข้ามได้ แนวคิดของการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) จึงเป็นแนวทางในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักฟื้น สตรีมีครรภ์ เด็กและผู้ต้องการความช่วยเหลือ สามารถดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทางเดินเท้า การใช้บริการขนส่งสาธารณะ การเข้าอาคารสถานที่หรือพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ได้เหมือนคนปกติ

หลายๆ ประเทศเริ่มออกกฏหมายบังคับใช้ เพื่อให้สถาปนิกและวิศกรคำนึงถึงทางเข้าสำหรับผู้พิการที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น หรือผู้สูงอายุที่อาจไม่สะดวกในการขึ้นบันไดเข้าอาคาร ถ้าเป็นอาคารที่อยู่ในระหว่างการออกแบบ การเพิ่มพื้นที่ส่วนนี้คงเป็นไปได้ง่าย แต่สำหรับอาคารเก่าที่ถูกสร้างมานาน การออกแบบทางเข้าอาคารเพื่อผู้พิการหรือผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออาจเป็นไปได้ยาก แต่นั่นใช่ว่าจะหมดหนทางปิดประตูตาย เพราะทุกปัญหาสามารถพลิกโอกาสให้เราสามารถสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ดีเยี่ยม เหมือนดั่งเช่นทีมงานจาก Allgood Trio ประเทศอังกฤษ ที่คิดค้นระบบลิฟท์ Sesame เปลี่ยนบันไดทางเข้าตึกแบบเดิมให้กลายเป็นลิฟท์สำหรับผู้พิการ โครงสร้างของระบบลิฟท์ Sesame จะถูกติดตั้งซ่อนไว้ทางด้านล่างของบันได เมื่อกดปุ่มคำสั่งทำงาน บันไดที่คุณเห็นจะถูกเลื่อนเก็บเข้าไปในตัวอาคารพร้อมเปิดทางให้กับระบบลิฟท์ Sesame ทำงาน เมื่อผู้พิการเลื่อนรถเข็นขึ้นไปบนลิฟท์ เซ็นเซอร์จับสัญญาณจะเคลื่อนตัวล๊อคกันตกทางด้านข้าง พร้อมแกนจับสำหรับกดคำสั่งให้ลิฟท์เลื่อนขึ้น-ลง ตามต้องการ เพียงเท่านี้ผู้พิการก็สามารถเข้าอาคารได้อย่างง่ายดาย ระบบลิฟท์ Sesame เป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบไว้สำหรับอาคารเก่าที่ยากต่อการเตรียมทางลาดสำหรับรถเข็น หรือพื้นที่หน้าอาคารที่มีจำกัดยากต่อการดัดแปลง นอกจากจะช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงอาคารได้แล้ว ระบบลิฟท์ Sesame ยังไม่ไปรบกวนงานสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามอยู่แล้ว

การเตรียมพื้นที่สำหรับผู้พิการ หรือระบบโครงสร้างของงานออกแบบสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่าคิดเพียงแค่ออกแบบให้มีแต่ใช้งานไม่ได้ นักออกแบบจะต้องศึกษาข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้สิ่งอำนวยความสะดวกสามารถใช้งานได้ดีเต็มประสิทธิภาพ เช่น อัตราส่วนทางลาดชันสำหรับรถเข็นคนพิการ จะต้องมีอัตราส่วน 1:12 (สูง : ยาว) ถ้ามีความยาวเกิน 2.5 เมตรจะต้องมีราวจับทั้ง 2 ข้าง และความยาวทางลาดแต่ละช่วงจะต้องไม่เกิน 6 เมตร ถ้าเกินจะต้องมีชานพักกว้าง 1.5 เมตร เป็นต้น อีกหนึ่งแนวคิดที่ผนวกเอาเทคโนโลยีเข้ากับอาคารเก่าเพื่อผู้พิการได้อย่างลงตัว

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=Qo0ZGkYik28″ width=”600″ height=”340″]

 

อ้างอิง: All Good, สภาวิศวกร