ติดเกม ‘StreetPong’ ที่ทางม้าลาย ชวนเล่นเกมฆ่าเวลากับอีกฟากถนน

การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เคยชินกับการทำอะไรบางอย่างนั้นยาก อย่างบนท้องถนนในเมืองไทยเองก็ตาม พฤติกรรมที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ เช่นการข้ามถนนไม่ตรงทางม้าลาย การขี่มอเตอร์ไซด์สวนเลน หรือการคุยโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ก็ยากที่จะแก้ไขได้ หากการบังคับกฏหมายไม่เข้มแข็งพอ และจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

ถ้าหากคนยังคงคุ้นชิน นักจิตวิยาบอกว่าการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ อาจต้องการ ‘สิ่งเร้า’ ใหม่ๆ มาเป็นตัวกระตุ้น… อย่างที่เยอรมันในเมือง Hildesheim สองนักศึกษาของมหาวิทยาลัย University of Applied Sciences and Arts (HAWK) ได้คิดค้นไอเดียขึ้นมาหนึ่งอย่างในชั่วโมงเรียนวิชาอินเตอร์แอ็คทีฟ ในหัวข้อ Urban Interfaces จะทำอย่างไรให้ดีไซน์ เทคโนโลยี กับพื้นที่สาธารณะนั้นอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน

พวกเขาคิดว่าในหัวเมือง ชีวิตประจำวันเราต้องข้ามถนน แต่จะทำอย่างไรให้การรอข้ามถนนไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ไอเดียของพวกเขาคือ การใช้วิธีการของเกม (Gamification) ที่เราเล่นๆ กันอยู่มาวางไว้ที่สี่แยกตอนรอข้ามถนน พวกเขานำนำเกม Pong เกมคลาสสิคในสมัยยุคเครื่องเล่นอาตาริ ที่ให้สองฝ่ายผลัดกันตีลูกตอบโต้ไปมา ใครตีพลาดก็เสียแต้มให้คู่แข่ง มาติดตั้งให้คนที่รอไฟแดงทั้งสองฝั่งเล่นเพื่อฆ่าเวลา เป็นสิ่งเร้าที่เบี่ยงเบนความสนใจจากการรอสัญญาณไฟ ทันทีที่ถึงเวลาสัญญาณไฟเขียวให้ข้ามถนนได้  เกมก็จะยุติแล้วบอกว่าใครเป็นผู้ชนะจากจำนวนแต้มที่ได้ระหว่างการยืนรอ

การข้ามถนนที่เมืองนอกจะต่างจากเมืองไทยนิดหน่อย ตรงที่คนที่จะข้ามถนนต้องกดปุ่มที่เสาสัญญาณไฟ แล้วรอให้รถหยุด เจ้าปุ่มนี้เองที่สองนักศึกษาได้ทำการดัดแปลงให้เป็นเครื่องเล่นเกม ไอเดียนี้คล้ายๆ กับที่เราเคยเรียนรู้ในวิชาการบริการ ที่เราต้องลดความเบื่อหน่ายของคนที่รอคิวด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจไปที่สิ่งอื่น ยกตัวอย่าง คนรอลิฟท์ก็ติดกระจกไว้แถวๆ หน้าลิฟท์เพื่อให้คนได้แต่งตัว สำรวจความสวยหล่อของตัวเอง จะได้ลืมเรื่องการรอไปชั่วขณะ

ไอเดียนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่สองหนุ่มนักศึกษาก็ทำวิดีโอจำลองการใช้งานจริงออกมาให้ดู แน่นอนว่า ด้วยความแปลกใหม่ของสองสิ่งที่ไม่น่าเข้าพวกกันมาอยู่ด้วยกันแต่มีประโยชน์ ทำให้วิดีโอนี้ถูกกระจายไปอย่างรวดเร็ว มีคนดูมากกว่าครึ่งล้านคน แถมหลายคนอยากทำให้มันเป็นจริงด้วย!

ไม่แน่ว่าด้วยแรงเชียร์ขนาดนี้ โปรเจ็กต์นี้อาจจะได้ทำขึ้นจริงทั่วเมือง Hildesheim เลยก็ได้ แล้วถ้าดีจริง เมืองอื่นๆ ก็น่าจะเริ่มนำ Gamification มาพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่และสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่แน่ว่าวันหนึ่งในเมืองไทย อาจมีผู้ใหญ่เห็นคุณค่าของเรื่องเหล่านี้แล้วริเริ่มนำมาใช้ในกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

แต่สิ่งที่ผมชอบที่สุดสำหรับโปรเจ็กต์นี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของเกมหรือเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกคน เพราะไอเดียนี้ช่วยลดพื้นที่ความเหงาของเพื่อนร่วมเมืองได้ จากที่ไม่เคยรู้จักกันก็ได้เริ่มรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน เมื่อเล่นเสร็จต่างคนต่างเดินข้ามถนนมาเจอกัน ส่งยิ้มให้กัน ทักทายกัน และไม่แน่ว่าท้ายที่สุดอาจพัฒนาเป็นเพื่อนกัน เมืองนี้ก็จะมีมิตรภาพเพิ่มมากขึ้น

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=Oe3TsxVSnpg” width=”600″]

 

อ้างอิง : Locker Gnome DigitalBuzz, StreetPong