ที่พักพิงริมหาดสีสดใสในสิงคโปร์ สร้างจากขยะพลาสติก

23

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญของหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพราะมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายยากและทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม คุณรู้หรือไม่ว่าขวดน้ำพลาสติกที่เราใช้เวลาดื่มแค่ไม่กี่นาทีแล้วโยนลงถังนั้น ใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานถึง 450 ปีต่อ 1 ใบ ซึ่งถ้าขยะเหล่านี้ถูกกำจัดโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ลองคิดดูซิว่า ความร้ายกาจของมันจะมากแค่ไหน!

สตูดิโอออกแบบในสิงคโปร์ที่ชื่อว่า SPARK จึงเกิดความคิดที่จะนำขยะพลาสติกที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมันมาสร้างที่พักพิงริมชายหาด East Coast Park ในประเทศสิงคโปร์ที่ทั้งสวยงามแถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่พักเหล่านี้มีโครงสร้างคล้ายกับต้นปาล์ม ในขณะที่ส่วนบนซึ่งเป็นส่วนที่พักพิงจะมีรูปทรงคล้ายกับลูกสน เปลือกอาคารสร้างจากขยะพลาสติกที่รวบรวมมาจาก South Pacific Garbage Patch ซึ่งล้วนแต่เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ หรือ HDPE (high density polyethylene) โดยนำมาผ่านกระบวนการแยกสี บดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปหล่อให้เป็นแผ่นคล้ายแผ่นวัสดุมุงหลังคา ส่วนของโครงสร้างหลักจะเป็นคอนกรีตสำเร็จรูป ด้านบนเป็นเฟรมไม้ทรงโค้งที่จะยึดติดกับเปลือกอาคาร อีกทั้งยังติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกทำให้เป็นฟิล์มบางๆ ติดบนเปลือกอาคารเพื่อสร้างแสงสว่างและให้พลังงานไฟฟ้าภายใน โดยผู้พักพิงสามารถเข้าที่พักผ่านทางบันไดเชือกที่ห้อยลงมาจากด้านบน

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ดีๆ ที่ช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้คนหันมาใส่ใจปัญหาขยะในมหาสมุทรที่นับวันก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นที่พักพิงสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวบริเวณชายหาดอีกด้วย

beach-huts-spark-concept-recycling-ocean-plastic_dezeen_936_2

beach-huts-spark-concept-recycling-ocean-plastic_dezeen_936_3

beach-huts-spark-concept-recycling-ocean-plastic_dezeen_diagram_2_1000

beach-huts-spark-concept-recycling-ocean-plastic_dezeen_diagram_1_1000

beach-huts-spark-concept-recycling-ocean-plastic_dezeen_section_1_1000

อ้างอิง: Dezeen