‘เกียวโต’ เมืองประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าผ่านการวางแผนอย่างมีระบบ

4

หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทยที่ต้องการไปพักผ่อนท่องเที่ยวระยะสั้นภายใน 15 วัน ทำให้คนไทยเริ่มปักหมุดมุ่งหน้าสู่ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นก็คือ เกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นมานานกว่า 1,000 ปี ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบันในปี ค.ศ.1869 แต่กาลเวลาที่ผ่านมานับพันปีไม่ได้ทำให้เสน่ห์แห่งย่านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเมืองจมหายไปตามกาลเวลาเลย ในทางตรงกันข้ามมันกลับได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ให้เป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาเที่ยวชมมากกว่าปีละ 50 ล้านคน และทำรายได้ให้กับเมืองเกียวโตถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี

อาจกล่าวได้ว่า เกียวโต เป็นเมืองที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างเมืองแห่งประวัติศาสตร์และความทันสมัยที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ไม่หยุดนิ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไร้แบบแผน แต่เกิดจากการให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองโดยให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเติบโตของเมือง แนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเมจิ ไทโช โชวะ และหลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 การวางแผนพัฒนาเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเกียวโตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพราะนั่นคือหัวใจหลักที่เป็นเสน่ห์สำคัญของเมืองเกียวโต ในปี ค.ศ. 1991 สภาเทศบาลเมืองเกียวโตกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองไว้ 3 ส่วนหลักคือ การอนุรักษ์, สร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา, และการสร้างสรรค์ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดพื้นที่ธรรมชาติและการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทางตอนเหนือ การผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างเมืองเก่ากับย่านธุรกิจในแถบใจกลางเมือง และย่านใหม่ที่รองรับการเติบโตของเมืองทางตอนใต้

จากนั้นในปี ค.ศ. 2007 สภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทำให้เทศบาลเมืองเกียวโตกำหนดทิศทางการวางผังเมืองเพิ่มขึ้น เช่น การกำหนดความสูงของอาคาร, การพิจารณารูปแบบอาคารโดยไม่ให้ทำลายภาพลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมเก่าอันทรงคุณค่า, ออกกฏระเบียบอย่างเคร่งครัดในการใช้พื้นที่โฆษณาภายนอกอาคาร ทั้งนี้เพื่อให้เมืองเกียวโตคงภาพลักษณ์ของเมืองประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ที่สามารถอยู่ร่วมกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ได้อย่างลงตัว และมาสเตอร์แพลนล่าสุดที่เกิดจากการร่วมมือของภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงประชาชนชาวเกียวโต ได้วางวิสัยทัศน์ของเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า (เริ่ม ค.ศ. 2011-2020) ดังนี้ เกียวโตจะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม เกียวโตจะเป็นเมืองนานาชาติแต่หัวใจญี่ปุ่น เกียวโตจะเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมที่ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นหลัก เกียวโตจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และพร้อมเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารี และท้ายที่สุด เกียวโตจะเป็นเมืองที่เราสามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ เกียวโต กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งที่เราสามารถเยี่ยมชมมรดกโลกวัดคิโยมิสึ ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริกับประตูโทริอินับพันต้น สถานีรถไฟเกียวโต ศูนย์กลางคมนาคมของเมืองที่เชื่อมอาคารเก่าที่สวยงามเข้ากับอาคารสูง 15 ชั้นไว้อย่างลงตัว บ้านโบราณ มะชิยะ ฯลฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นจะได้รับการต้อนรับอย่างดี จนผมอดตั้งคำถามสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองเหมือนดั่งเช่นเกียวโต บริเวณพื้นที่สถานีหัวลำโพง ศูนย์กลางการเดินทางทางรถไฟ ย่านยมราช ย่านตลาดน้อย ย่านเยาวราช คลองผดุงกรุงเกษม ฯลฯ อาจกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=Jd1wzlwtKJ0″ width=”600″ height=”350″]

Kyoto-1Kyoto-2 Kyoto-8 Kyoto-10 Kyoto-9 Kyoto-4 Kyoto-7 Kyoto-3 Kyoto-5 Kyoto-6 Kyoto-11 อ้างอิง : City of Kyoto, Kyoto Station, Kyoto Travel