ครั้งแรก! ใบไม้เทียมฝีมือมนุษย์ สังเคราะห์แสงแถมปล่อยออกซิเจนได้

26

ธรรมชาติใกล้ตัวล้วนเป็นต้นตอแรงบันดาลใจในการผลักดันให้มนุษย์ก้าวข้าม ‘ความเป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เป็นไปได้’ และนวัตกรรมความเป็นไปได้ที่ว่านี้ เกิดจากจุดเริ่มต้นของการสงสัย ตั้งคำถามในใจ กระบวนการทดลอง สู่ผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม เช่น เทปตีนตุ๊กแก (เวลโคร์เทป) มีต้นตอที่มาจาก เมล็ดพืชของต้น Burdock ที่ติดตามเสื้อปัดออกยาก แต่แทนที่ George de Mestral จะมองข้ามเขากลับนำข้อสงสัยที่ว่านี้ต่อยอดเป็นเทปตีนตุ๊กแก ผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปใช้ทั่วโลก วันนี้ CreativeMOVE ได้พบอีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ที่มนุษย์ได้เลียนแบบธรรมชาติ สรรสร้างใบไม้สังเคราะห์ที่ทำหน้าที่เลียนแบบ ‘ใบไม้’ จริงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนเป็นครั้งแรกของโลก

‘Silk Leaf’ คือชื่อแผ่นใยสังเคราะห์ทางชีวภาพที่เกิดจากการสกัดสาร Chloroplasts จากเซลล์ของพืชจากนั้นนำไปผสมผสานกับโปรตีนจากไหมซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความเสถียร ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เกิดวัสดุสังเคราะห์ทางชีวภาพตัวใหม่ที่ดูดซับน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมปล่อยก๊าซออกซิเจน เฉกเช่นเดียวกับใบไม้จริง ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ Julian Melchiorri นักศึกษาจาก RCA (Royal College of Art) โดยความร่วมมือกับ Tufts University ภายใต้หลักสูตร Innovation Design Engineering ช่วยเปิดหน้าใหม่ให้กับวงการอวกาศในการหาแหล่งออกซิเจนทดแทนสำหรับช่วยให้มนุษย์เดินทางในอวกาศได้นานมากขึ้น เพราะต้นไม้จริงไม่สามารถเติบโตได้ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก

นอกจากนี้ Julian ยังมีแนวคิดในการนำวัสดุไปใช้กับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับอากาศที่อยู่โดยรอบ เช่น โคมไฟภายในบ้าน แผ่นปิดผิวรอบอาคาร ฯลฯ แถมดูดซับกาซพิษอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ไปด้วย ที่สำคัญ Silk Leaf มีน้ำหนักเบา ใช้พลังงานน้อย สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย อีกหนึ่งแนวคิดที่มนุษย์นำธรรมชาติมาเป็นต้นตอแรงบันดาลใจในการสรรสร้างนวัตกรรมทางชีวภาพเพื่อโลกที่สะอาด บริสุทธิ์ หลังจากที่เราทำลายโลก (ในทางอ้อม) จากการบริโภคที่ขาดจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง : dezeen, wikipedia