‘กายอุปกรณ์’ โฉมใหม่ ดีไซน์เก๋ สะท้อนบุคลิกภาพของผู้สวมใส่

‘กายอุปกรณ์’ เป็นอวัยวะเสริมคู่กายของผู้บกพร่องทางร่างกายให้สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ โดยทั่วไปกายอุปกรณ์ส่วนใหญ่ เช่น ขาเทียม แขนเทียม จะมีรูปลักษณ์และดีไซน์ที่คล้ายคลึงกัน อย่างที่เห็นบ่อยๆ ก็จะมีลักษณะเป็นแท่งเหล็กหรือเป็นขาเทียมที่มีสีไม่กลมกลืนกับผิวผู้สวมใส่  ดูไม่เป็นธรรมชาติ  ทำให้เห็นได้ชัดถึงความผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต

ดีไซเนอร์บางคนได้นำเทคโนโลยีการพรินท์สามมิติมาใช้ในการผลิตขาเทียม บางคนพยายามฉีกแนวการออกแบบกายอุปกรณ์ให้มีดีไซน์ไม่เหมือนใคร โดยการนำเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือจากร้านตกแต่งรถยนต์มาใช้ แต่สำหรับดีไซน์เนอร์อย่าง Sophie de Oliveira Barata ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและการออกแบบกายอุปกรณ์ ที่ต้องการทำให้กายอุปกรณ์กลายเป็นงานศิลปะที่สะท้อนบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ เธอจึงก่อตั้งสตูดิโอ The Alternative Limb Project ขึ้นเพื่อบริการให้คำปรึกษา แนะนำ, ออกแบบ, ปรับเปลี่ยน, และผลิตกายอุปกรณ์เฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สวมใส่

ลักษณะของกายอุปกรณ์แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ กายอุปกรณ์ที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด และกายอุปกรณ์ที่มีลักษณะของงานศิลปะ ที่เป็นการนำจินตนาการของผู้สวมใส่มาออกแบบให้เกิดเป็นงานศิลปะ ผู้สวมใส่สามารถแจ้งความต้องการของกายอุปกรณ์ที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สี หรือการลวดลายต่างๆ หรืออาจจะนำกายอุปกรณ์เดิมมาให้เธอปรับเปลี่ยนหรืออัพเกรดให้ใหม่ก็ได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ต้องการกายอุปกรณ์แบบใกล้เคียงธรรมชาติ เธอจะเช็ครูปร่างของอวัยวะ สีผิว ริ้วรอย หรือแม้กระทั่งรอยกระของผู้สวมใส่อย่างละเอียด เพื่อให้ได้งานที่ดูสมจริงมากที่สุด ผลงานที่โดดเด่นของเธอได้แก่ ‘Stereo leg’ ขาเทียมที่มาพร้อมลำโพงฝังในตัว, ‘Crystallized leg’ ขาเทียมฝังคริสตัลชาวาลอฟสกี้ที่สวมใส่โดย Viktoria Modesta ในพิธีปิดเกมส์พาราลิมปิคที่ลอนดอนปี 2012, ‘Floral leg’ ขาเทียมที่มาในลวดลายดอกไม้สีสันสวยงาม เป็นต้น

นับว่าเป็นการออกแบบที่่เปลี่ยนกายอุปกรณ์ให้กลายเป็นชิ้นงานศิลปะบนร่างกายที่สะท้อนความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจอีกด้วย

อ้างอิง : The Alternative Limb Project