‘Via Verde Project’ สวนแนวตั้งในเม็กซิโกช่วยลดมลพิษในอากาศ

ในปี 1992 สหประชาชาติได้ประกาศให้เม็กซิโกซิตีเป็นเมืองที่มีมลภาวะสูงที่สุดในโลก ด้วยปริมาณควันพิษจากการใช้ยานพาหนะจำนวนมหาศาลและลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการปกคลุมของมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้จะมีมาตรการต่างๆ จากฝั่งรัฐบาล เป็นต้นว่า การประกาศให้ประชาชนงดใช้รถยนต์ส่วนตัว 1 วัน/สัปดาห์ ภายใต้นโยบาย Hoy No Circula หรือนโยบายการงดใช้รถยนต์ทุกวันเสาร์ ที่ทำให้อันดับเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดของเม็กซิโกถูกโค่นลง ทว่าปัญหาดังกล่าวได้กลับมาสร้างวิกฤตให้ที่นี่อีกครั้งอย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินการประกาศเตือนภัยมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องต้นแต่ต้นปี 2016

ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือการจัดตั้งโครงการ ‘Via Verde’ หรือ Green Way ที่พลเมืองชาวเม็กซิโกซิตี้รวมตัวกันเคลื่อนไหวผ่านเว็บไซต์ change.org จนกระทั่งโครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยพวกเขามีแผนที่จะเปลี่ยนเสาไฮเวย์กว่าพันเสาในเมืองหลวงให้กลายเป็นสวนแนวตั้ง เพื่อช่วยดูดซับมลพิษ รวมถึงสร้างทัศนียภาพอันเขียวชอุ่มและร่มรื่นให้กับเมือง

ทีมงาน Via Verde ที่นำโดยสถาปนิกและผู้อำนวยการโครงการอย่าง Fernando Ortiz Monasterio คาดการณ์ว่าสวนแนวตั้งที่กินพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร รอบเมืองนี้จะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากร 25,000 คน พร้อมๆ ไปกับทำหน้าที่กรองก๊าซพิษในอากาศจำนวน 27,000 ตัน ฝุ่นละออง 5,000 กิโลกรัม โลหะหนักกว่า 10,000 กิโลกรัม เป็นฉนวนป้องกันความร้อนที่จะช่วยลดอุณหภูมิได้ 8 องศาเซลเซียส รวมถึงลดมลพิษทางเสียงได้ 10 เดซิเบลต่อปี นอกจากนี้ยังจะมีการออกแบบเทคโนโลยีขึ้นมาเฉพาะ ทั้งระบบชลประทาน การบำรุงรักษา การสำรองและบำบัดน้ำฝนสำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื่นและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณอยู่ได้ตลอดทั้งปี การดีไซน์ระบบเซนเซอร์เพื่อใช้สังเกตคุณภาพทั้งการจัดการและพืชพรรณว่าได้รับสารอาหารและน้ำเพียงพอหรือไม่ ไปจนถึงระบบการตรวจสอบอุณหภูมิ ระดับความชื้น และแสงสว่าง

ณ ปัจจุบันโครงการนำร่องจำนวน 19 เสา ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเอกชน (โดยแลกกับพื้นที่โฆษณาที่จะไปติดตั้งบนเสาเหล่านั้น) และกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ การตื่นตัวของชาวเม็กซิโกส่งผลให้อีกหลายเมืองในเยอรมนีและประเทศแถบละตินอเมริกาหันมาสนใจเรื่องสิ่งแลดล้อม และอยากจะนำแนวคิดของ Via Verde ไปทดลองใช้กับประเทศตัวเองบ้าง

เราคงไม่ปฏิเสธความคิดของนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งที่มองว่า Via Verde ไม่ยั่งยืนเท่ากับการรณรงค์และปลุกฝังให้ประชาชนรักและหวงแหนเมืองและสิ่งแวดล้อมจากจิตสำนึกที่แท้จริง แต่การโครงการดังกล่าวก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยในแง่ที่ว่ามันถูกเริ่มต้นและทำให้เกิดขึ้นได้จริงจากพลังของภาคประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ (แถมก็ไม่ใช่โครงการกระจ้อยร่อยด้วย) ส่วน Via Verde จะไปถึงฝั่งฝันไหม ก็คงต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์ความสำเร็จแล้วล่ะ

[youtube url=”http://youtu.be/pzwUDz5Bifc” width=”600″ height=”350″]

 

อ้างอิง: Via Verde