‘ผูกปิ่นโตข้าว’ แม่สื่อผูกรักข้าวอินทรีย์ ช่วยคนปลูก-คนกินรักกันยั่งยืน

1200x1200มีคนเคยเปรียบเปรยว่า ‘การทำความดีไม่ต่างไปจากการก่อเจดีย์หิน แต่ละชั้นที่วางหินแต่ละก้อน ต้องมีความตั้งใจ ละเมียดละไม และอดทน’ เช่นเดียวกันกับการทำงานของ ‘ผูกปิ่นโตข้าว’ โครงการที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากความตั้งใจดีที่อยากจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาและคนไทย กับการทำหน้าที่ ‘แม่สื่อ’ ที่เข้ามาช่วยผูกความสัมพันธ์อันหอมกรุ่นระหว่าง ‘คนปลูกข้าว’ และ ‘คนกินข้าว’ ให้ดำเนินไปในรูปแบบที่มันควรและเคยเป็น

กว่า 800 วัน ของการ ‘ตั้งต้น’ และ ‘เติบโต’ วันนี้ ผูกปิ่นโตข้าวได้ ‘ส่งต่อ’ เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก มิตรไมตรี และความปรารถนาดีสู่คนกินข้าวและคนปลูกข้าวในแบบที่ใคร แม้กระทั่งตัวเราก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง

8-Ma Sue-9724--s(จากซ้ายไปขวา) คุณอนุสรา แสงละออง (พี่นุช) คุณปรารถนา จริยวิลาศกุล (พี่บี๋) คุณเพ็ญวลี ธารีจิตต์ (พี่แป๊ก) คุณศรีสรรพ์ ธเนสวิวัฒน์ (พี่น้อย) คุณร่มฉัตร พัฒนศิริ บุญเจริญ (พี่ฉัตร) และ คุณจอมทรัพย์ วงศาโรจน์ (พี่จุ๋ม)

f9320a979f2fb4095bdf981e668abeb5

Q: จุดเริ่มต้นของผูกปิ่นโตข้าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

A: โครงการนี้เริ่มต้นจากเรื่องราวเพื่อนของเราชื่อคุณฝน (นภนีรา รักษาสุข) ลูกของคุณฝน น้องฝนหลวงเรียนอยู่ที่โรงเรียนปัญโญทัย (www.panyotai.com) เป็นโรงเรียนทางเลือก ซึ่งในโรงเรียนก็มีวิชาที่ให้เด็กๆ ไปทำนา ปรากฏว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเรื่องโครงการจำนำข้าว แล้วที่นาของคุณป้าคนนี้เป็นที่เดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องจำนำข้าว เพราะข้าวที่เด็กๆ ไปช่วยกันทำจะถูกส่งต่อมาขายในสหกรณ์ของโรงเรียน ซึ่งขายดีมาก เพราะมันอร่อยมาก คุณฝนก็ดีใจครึ่งหนึ่งเสียใจครึ่งหนึ่ง ที่ดีใจก็เพราะว่าคุณป้าคนนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการจำนำข้าว ดีใจว่าครอบครัวตัวเองได้กินข้าวดีๆ แต่ก็เสียใจที่ชาวนาคนอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ รวมถึงคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้กินข้าวดีๆ หลังจากนั้นคุณฝนก็เลยโพสเรื่องนี้ลงในเฟซบุ๊กว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะผูกระหว่างครอบครัวคนกินข้าวกับชาวนา

ส่วนของพี่ฉัตร (ร่มฉัตร พัฒนศิริ บุญเจริญ) ตอนนั้นก็นั่งดูทีวี เห็นชาวนาขึ้นเวทีออกมาพูด ชาวนาร้องไห้ ชาวนาผูกคอตาย เราไม่คิดว่าในชีวิตต้องมาเจอชาวนาร้องไห้ ไม่มีข้าวกิน ผูกคอตาย พี่ฉัตรก็ร้องไห้อยู่หน้าทีวี แล้วในนาทีต่อมาก็คิดได้ว่าร้องไห้มันไม่ได้สร้างความแตกต่าง แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ก็คือตัวเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้มากกว่า พี่ฉัตรโทรหาคุณฝนว่าเราต้องทำด้วยกันแล้วล่ะ ทำคนเดียว ทำ 2 คน ไม่มัน เราต้องชวนเพื่อนๆ ที่รู้ใจรู้มือมาทำกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการชักชวนเพื่อนๆ เรามาทำโครงการนี้ ซึ่งครั้งแรกพวกเราเจอกันคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557

10336837_710581195666031_987457803591886767_n

Q: แล้วโครงการผูกปิ่นโตข้าวเข้ามาแก้ปัญหาอะไรบ้าง?

A: โครงการนี้แก้ปัญหา 3 อย่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครแก้ได้ และพวกเราคิดว่าถ้าเราไม่แก้ ลูกหลานเราก็ต้องมาแก้ ข้อแรกคือชาวนาจนและเจ็บ มีคุณภาพชีวิตไม่ดี ซึ่งเราเห็นมาตั้งแต่เกิด นับวันยิ่งแย่ลงๆ ข้อสอง คนไทยสุขภาพแย่ลง ตายด้วยโรคที่เกิดจากการกินเยอะมาก และข้อสาม คนไทยไม่รักกันเหมือนเดิม นับวันยิ่งห่างกัน เราคิดว่าด้วยโมเดลของผูกปิ่นโตข้าวจะแก้ได้ทั้ง 3 ข้อ คุณเชื่อเราไหม ถ้าเชื่อ คุณลองมาร่วมโครงการนี้กัน

ถามว่าทำไมผูกปิ่นโตข้าวแก้ได้หมด ข้อแรก เราจะทำให้ชาวนาที่เป็นชาวนาอินทรีย์อยู่รอดให้ได้ แล้วจะรอดแบบเจิดจรัส เป็นผู้นำ ลุกขึ้นมาให้ทุกคนเห็น ทำให้ชาวนาอินทรีย์มีที่ยืน เพราะพวกเขาไม่มีที่ยืน ไม่มีคนมาซื้อเพราะประเทศไทยไม่มีมาตรฐานรองรับว่าคนนี้จะเป็นอินทรีย์ โดยที่ผูกปิ่นโตข้าวจะหาคนกินข้าวให้ ถ้าพี่ชาวนาตั้งใจจะเปลี่ยนจากเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ เพราะฉะนั้น ชาวนาอินทรีย์จะมีทางไปแล้ว

38-Ma Sue-9838-s

คุณศรีสรรพ์ ธเนสวิวัฒน์ (พี่น้อย) 

ขณะที่คนกินข้าวก็จะได้กินข้าวที่ดี รู้ว่าใครปลูก และปลูกอย่างไร ที่สำคัญคือทุกคนมั่นใจได้เลยว่าไม่มีเคมีแน่นอน ซึ่งสำหรับผู้บริโภค นี่เป็นทางเลือกที่น่าเลือก เพราะที่ผ่านมาแค่คุณจะกินข้าวอินทรีย์ ก็ต้องจ่ายในราคาที่แพงมาก แล้วคุณก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชื่อเขาได้ไหม ซึ่งนี่ก็เป็นการแก้ปัญหาข้อที่สองได้แล้ว

สำหรับข้อสาม ผูกปิ่นโตข้าวจะผูกโยงคนสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกันในลักษณะของการผูกสัมพันธ์ฉันญาติมิตร ซึ่งคนกินข้าวกำลังเอาเงินเพื่อซื้อข้าวจากเพื่อนที่ตั้งใจปลูกข้าวมาให้คุณ เพราะฉะนั้น บริบทจะเปลี่ยน จากคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนได้มารู้จักกันมากขึ้น เรียกคนนี้ว่าลุง ป้า น้า อา เขาเป็นญาติเรา คุณสามารถไปเยี่ยมนาเยี่ยมบ้านเขาได้ หรือหากเขามากรุงเทพฯ ก็สามารถมาเยี่ยมพวกคุณได้เช่นกัน ถ้าความสัมพันธ์เป็นแบบนี้ คนไทยไม่ทะเลาะกันได้แล้วค่ะ

เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าโมเดลนี้จะแก้ได้ทุกอย่าง คนกินข้าวได้กินข้าวดี ข้าวอร่อย คนปลูกข้าวมีกำลังใจ แล้วการที่ชาวนาอินทรีย์มากขึ้นจะทำให้ชาวนาเคมีน้อยลง ซึ่งแปลว่าหนี้สินชาวนาน้อยลง ธรรมชาติจะถูกทำลายน้อยลง ประเทศไทยจะกลับมาดีเหมือนเดิม ไม่มีใครเสียอะไร แม่สื่อก็มีความสุข

Q: ผูกปิ่นโตข้าวทำงานกันอย่างไร?

A: จากโจทย์ที่เล่าไป เราใช้เวลาคิดทำทุกอย่างอย่างเป็นระบบ และคิดไปจนถึงภาพสุดท้ายว่าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในเกษตกรและผู้บริโภค รวมถึงสังคมไทยด้วย ตัวโมเดลการทำงานจริงๆ มันตั้งต้นมาจากโมเดลของโรงเรียนปัญโญทัย แต่เราจะทำอย่างไรที่จะให้คนทั่วประเทศสามารถผูกโดยตรงกับชาวนาได้เลย โดยผูกปิ่นโตข้าวจะพาคน 2 คนมาเจอกัน และบอกว่าคุณไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้า แต่คุณจะเป็น ‘เจ้าบ่าว’ (คนปลูกข้าว) และ ‘เจ้าสาว’ (คนกินข้าว) โดยมี ‘แม่สื่อ’ ซึ่งก็คือพวกเราเป็นคนช่วยดูใจ ดูคุณสมบัติ และความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้คำแนะนำ จนกระทั่งตกลงปลงใจผูกปิ่นโตกัน 12 เดือน แล้วจับแต่งงานกันเลย ไม่ให้เดทด้วย แล้วอย่าเลิกกันนะ (หัวเราะ) ซึ่งคนกินข้าวสามารถจ่ายเงินเท่าที่ตัวเองจะกิน ไม่ต้องมีขั้นต่ำ แค่คุณบอกมาว่าในแต่ละเดือนคุณกินข้าวเท่าไหร่ ส่วนคนปลูกข้าวก็ปลูกเท่าที่เขาจะขาย ซึ่งเจ้าสาวจะโอนสตางค์ค่าข้าวให้กับเจ้าบ่าวโดยตรง

b8ac11a24dcb16fc1f46398e9e71031d

Q: โมเดลแบบนี้จะกลายเป็นว่าผูกปิ่นโตข้าวมาทำหน้าที่แทนพ่อค้าคนกลางหรือภาครัฐแบบนั้นรึเปล่า?

A: เราเป็นคนกลางก็จริง แต่เราจะชัดเจนว่าที่เราไปช่วย ไม่ใช่เพราะว่าพี่ชาวนาอ่อนแอหรือเพราะเราสามารถแก้ปัญหาให้เขาหมดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าชาวนาย้ายที่พึ่งพิงจากรัฐมาเป็นแม่สื่อ เราชัดเจนว่าเราจะไม่ทำให้เขาเข้าใจแบบนั้นเด็ดขาด เพราะเขาจะไม่เข้มแข็ง แต่สิ่งที่เราทำในโครงการนี้คือเราจะทำให้เขาเห็นว่าเขายอดเยี่ยมอยู่แล้ว ทำให้เขาเกิดความเข้มแข็งด้วยตัวเขาเอง ด้วยการเข้าไปเพิ่มและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้เจ้าบ่าว

Q: สำหรับเจ้าสาวล่ะ มีบ้างไหมที่เข้าใจจุดประสงค์โครงการนี้ไปคนละแบบ?

A: แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ ก็จะมีเจ้าสาวที่ยังคงไม่เคลียร์กับแนวทางของผูกปิ่นโตขาวว่าโครงการนี้คืออะไร เมื่อมองว่าตัวเองเป็นผู้ซื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฉันจะต่อรอง ฉันจะต้องได้การปฏิบัติที่ดีที่สุดจากคนขาย เพราะฉะนั้น มันก็เป็นหน้าที่แม่สื่ออย่างพวกเราแล้วที่ต้องสร้างความเข้าใจให้เขาใหม่ว่าความตั้งใจของเราคืออะไร เปลี่ยนความเข้าใจเดิมของเขาให้มาเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น ซึ่งในท้ายที่สุด ถ้าเราเจอเจ้าสาวที่วางตัวเองว่าฉันจะเป็นผู้ซื้อ เราก็จำเป็นต้องปฏิเสธ อย่างที่เราบอกว่าผูกปิ่นโตข้าวเป็นการซื้อขายบนความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร ช่วงแรกๆ มีคนถามเหมือนกันนะที่บอกว่าการซื้อขายในโครงการเราจะผูกกัน 12 เดือน และต้องโอนสตางค์ไปที่เจ้าบ่าวก่อน มันก็จะมีคำถามเกิดขึ้นแหละว่าถ้าน้ำท่วมแล้วไม่ได้ข้าวล่ะ? คือเขาไม่ได้โกงหรอก แต่ถ้าน้ำท่วม ไม่มีข้าวให้ จะทำอย่างไรกับเงินเขา เราก็บอกไปเลยว่า ถ้าเกิดแบบนั้นขึ้นมา มันไม่ใช่พวกเราเหรอที่ต้องเอาข้าวไปให้เขากิน เขาเป็นญาติเรานะ แน่นอนว่าเราเข้าใจว่ามันมีความเคยชินกับการเป็นผู้ซื้อ เรามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความสะดวกสบาย แต่เราต้องพลิกให้เขาเห็นว่าโครงการนี้มันมากกว่านั้น หรือมันก็มีที่เจ้าบ่าวไม่เคยค้าขายมาก่อน แล้วต้องมาแพ็คของ ต้องมาลงรายชื่อ มาบริหารจัดการ มันก็มีตกหล่นลูกค้า เราก็ต้องอธิบายให้เจ้าสาวฟังว่าเพราะแบบนี้แหละเราถึงต้องการเจ้าสาวเพื่อมาให้กำลังใจเขา เพราะมันง่ายมากเลยที่จะล้มเลิก แต่ถ้าเจ้าสาวเข้าใจและให้โอกาส ผูกกันเหมือนญาติมิตร ก็จะทำให้เจ้าบ่าวเหล่านี้อยากจะสู้ อยากจะยืนหยัดอยู่ได้ในวิถีของเกษตรอินทรีย์

10608471_801744099883073_2559584663860512998_o

แต่เราไม่ได้เจอคำถามจากเจ้าสาวฝ่ายเดียว มันก็จะมีความสงสัยจากพี่ๆ ชาวนาอยู่เหมือนกัน เราเจอคำถามตลอดว่าคุณไม่ได้อะไรจริงๆ เหรอ ไม่เชื่อหรอก ชาวนาบางคนถึงกับชี้หน้าเราเลยแล้วบอกว่า ผมไม่เชื่อพวกคุณหรอก ไปรับจ้างใครมา แล้วแกล้งมาทำเป็นโครงการบังหน้า ซึ่งเราก็ต้องสร้างความเข้าใจฝั่งพี่ๆ เขาในจุดนี้ รวมถึงเจ้าบ่าวที่เข้าร่วมโครงการว่านอกจากการทำงานบนวิถีของอินทรีย์แล้ว เจ้าบ่าวต้องรับฟังความต้องการของฝั่งเจ้าสาวด้วย ต้องพัฒนาตัวเองด้านต่างๆ จนถึงตอนนี้เจ้าบ่าวใช้เฟซบุ๊คเป็น ใช้ไลน์ ใช้ excel, word, google กันได้แล้ว ส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง คือการเป็นเจ้าสาวกับเจ้าบ่าวโครงการเราไม่ได้ง่าย แต่นั่นเป็นสิ่งดึงพวกเขาออกมาจาก comfort zone

Q: อย่างที่พี่ๆ เล่ามาว่าผูกปิ่นโตข้าวเป็นการผูกแบบ ‘ฉันญาติมิตร’ มันสะท้อนภาพบางอย่างของสังคมไทยในเวลานี้ว่าความเอื้ออาทร ความไว้ใจกันมันห่างหายไป มันเป็นแบบนั้นรึเปล่า?

A: ตอนนี้กลายเป็นว่า นี่เรื่องของเธอ นี่เรื่องฉันไปเสียหมด ซึ่งเรารู้แหละว่าถ้าถึงเวลา คนไทยช่วยกันแน่นอนอยู่แล้ว มันอยู่ในสายเลือดเรา แต่ก็คิดนะว่าก่อนหน้านี้ สังคมไทยมันคือสังคมที่พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องบอกเลย เหมือนเป็นญาติกัน พอเรารู้สึกเหมือนญาติเราจะเข้าไปทันทีแบบไม่ต้องบอก

33-Ma Sue-9784--s

 

คุณปรารถนา จริยวิลาศกุล (พี่บี๋) 

Q: การดึงเอาความสัมพันธ์แบบนั้นมาใช้กับโมเดลการทำงานของตัวเองแบบนี้ ผูกปิ่นโตข้าวมีวิธีอย่างไรที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบนั้นมันบริสุทธิ์จริงๆ?

A: เราจะไม่เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขาย เพราะเจ้าสาวจะจ่ายสตางค์โดยตรงกับเจ้าบ่าว เมื่อคอนเซ็ปต์ชัดเจน มันเลยเป็นกรอบที่ทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำงานอะไร บทบาทของใครเป็นอะไร ในขณะเดียวกันมันก็เป็นกิมมิกที่น่ารักและมีสีสัน ซึ่งเมื่อมันมีเจ้าบ่าวเจ้าสาว เขาต้องแต่งงานกัน เขาต้องอยู่กันไปนานๆ บทบาทเราที่เป็นแม่สื่อก็ต้องคอยประคับประคอง หาว่าคนไหนที่ใช่สำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว เอาจริงๆ การที่จะบอกว่าไม่ผ่านคนกลางมันมีคนทำกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งมันก็ไม่ยั่งยืน เราเลยมองว่ามันมีอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีกไหมที่จะทำให้มันยั่งยืน เรารู้สึกว่าเวลาเราไปขายของกับคนรู้จัก เราจะไม่กล้าไปทำร้ายเขา เราจะรู้สึกอัตโนมัติในใจเลยว่าคนนี้กินข้าวเรา กินของเรา ต้องทำให้ดี ผูกกันไปเหมือนผูกปิ่นโตสมัยก่อน

12240317_1009140449143436_1053563620340400268_o

Q: ด้วยความที่โครงการนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์การจำนำข้าวที่ครึกโครมมากในช่วงเวลานั้น ผูกปิ่นโตข้าวมีความกังวลหรือต้องระมัดระวังในการทำงานบ้างไหม?

A: ถึงแม้ว่าตัวโครงการจะเกิดขึ้นในช่วงบ้านเมืองไม่ปรกติ แต่สำหรับเรา ผูกปิ่นโตข้าวไม่ได้ก่อตั้งขึ้นจากความโกรธแค้นหรือเคียดแค้นใคร เราทำด้วยความสนุก ความรัก มองความเป็นไปได้ของประเทศนี้ อย่างในส่วนของคนกลาง เราไม่ได้รังเกียจรังงอนคนกลาง ไม่ใช่ว่าเราจะตั้งตัวเป็นศัตรู แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นก็คือขั้นตอนที่มันไม่เป็นธรรม ถ้าจะตัดขั้นตอนที่ไม่เป็นธรรมออกไปได้ เราจะทำแบบนั้น

25-Ma Sue-9870--s

คุณอนุสรา แสงละออง (พี่นุช) 

Q: จากแนวคิด บทบาท และปลายทางที่ผูกปิ่นโตข้าวตั้งไว้ มันนำเราไปสู่การตั้งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติตัว หรือหลักการทำงานของผูกปิ่นโตข้าวบ้างไหม?

A: เราคุยกันตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะทำและไม่ทำอะไร ในความคิดของสมาชิกทุกคน ความชัดเจนสำคัญมาก เราตกลงกันไว้ว่าเราอยู่ในบริบทและสถานะอะไร เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเรื่องท้าทายอะไรเข้ามา หรือบางครั้งมันมีโอกาสดีๆ เข้ามา ต่อให้มันเป็นเรื่องที่ดีงาม ดีกับคนอื่น แต่ถ้าไม่ใช่สำหรับโครงการเรา ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะทำ ไม่ได้อยู่ในกรอบหรือบริบทแบบที่เราตั้งไว้ เราก็ไม่ทำนะ เราอยากรักษาจุดยืนในการที่เราจะทำสิ่งต่างๆ อย่างช่วงหนึ่งที่ไลน์ฮิตมาก ก็มีคนแนะนำว่าให้เราทำสติกเกอร์สิ จะได้นำรายได้เข้าผูกปิ่นโตข้าว แต่เราก็ขออนุญาตปฏิเสธเพราะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจแต่แรกว่าไม่ทำ มันจำเป็นที่จะต้องชัดเจนในสิ่งที่เราแสดงออกต่อสาธารณชนว่าอะไรที่ใช่และไม่ใช่ มันเป็นเหมือนหลุมพรางอันหนึ่งเลยเมื่อเราทำอะไรไปนานๆ แล้วสุดท้ายเราลืมไปว่าความตั้งใจแรกของโครงการทำเพื่ออะไร ใครเป็นกลุ่มคนที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย

1

Q: ‘สิ่งที่ทำและไม่ทำ’ มีอะไรบ้าง?

A: สิ่งที่เราไม่ทำ ข้อแรกคือเงินจะไม่ผ่านมือเรา ข้อสองเราจะไม่ดีลกับชาวนาเคมีเพราะมันเกินกำลังเราที่จะไปดีล แต่สิ่งที่เราทำก็คือเราจะดีลกับชาวนาอินทรีย์ หรือเป็นชาวนาที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนจากเคมีไปเป็นอินทรีย์ อันนี้จะเป็นส่วนเนื้องานหลักๆ นอกจากนี้เราจะมีวิธีการและการกระทำบางอย่างที่เราจะเป็นและไม่เป็น คือเมื่อเราเข้ามาทำหน้าที่แม่สื่อ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ดีเราจะไม่ทำเลย เช่น เราจะไม่ทำผิดกฎหมาย จะข้ามถนนบนทางม้าลาย นั่งมอเตอร์ไซค์เราจะใส่หมวกกันน็อค จะรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ ไม่อยากให้เป็นในเชิงที่ว่าเราพูดเราทำอะไรมาไกลถึงขนาดนี้ แต่การวางตัวต่างๆ กลับไม่สอดคล้อง เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนที่มาอยู่ตรงนี้ต้องรับผิดชอบกับการวางตัวของตัวเองด้วย และเมื่อเราทำงานกับความออร์แกนิก ทุกอย่างจึงต้องออร์แกนิกด้วย เราไม่เคยใช้เงินซื้อโพสต์ในเฟซบุ๊ค เรารับผิดชอบกับทุกอย่างๆ บนหน้าเฟซบุ๊คของเรา เราจะไม่ป่าวประกาศ เกณฑ์คน หรือเชิญชวนมากจนกลายเป็นบีบบังคับ ซึ่งการจะมาเป็นเจ้าสาวโครงการฯ ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เขาจะต้องออกมาจาก comfort zone ตัวเองเหมือนกัน อีกอย่างคือผูกปิ่นโตข้าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความสงสาร เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องความสงสาร ไม่อิงการเมือง คงเพราะเราคิดมาจากภาพสุดท้ายว่าจะไปถึงระดับโลก เราจึงต้องเริ่มวางตัวตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นวันหนึ่งถ้าเราไปยืนบนเวทีแล้วมีคนมาบอกว่า “เฮ้ย วันนั้นคุณทำแบบนี้ แบบนั้น”

29-Ma Sue-9882-s

คุณเพ็ญวลี ธารีจิตต์ (พี่แป๊ก)

A: ถ้าผูกปิ่นโตข้าวไม่แตะเรื่องเงิน แล้วทุนในการรันโครงการมาจากไหน?

Q: เมื่อเงินไม่ผ่านมือเรา เราจึงต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินทุนสนับสนุนโดยที่ไม่แตะสตางค์ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างง่ายๆ คือใครที่อยากสนับสนุนก็ส่งตรงไปได้เลย ใครมีของ ใครมีอะไรเหลือ ใครถนัดอะไร ใครมีและไม่ลำบากอยากจะให้อะไร สามารถส่งต่อได้เลย อย่างเสื้อยืดล็อตแรกของเรา โรงงานทำเสื้อยืดขอทำให้ บอร์ดที่เป็นภาพเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็มีโรงงานทำบอร์ดทำให้ ผูกปิ่นโตข้าวไม่ได้เป็น SE (Social Enterprise) เราทำโดยหน้าที่คนไทย มันเป็นหน้าที่คนไทยที่ต้องทำก็แค่นั้นเอง และทุกคนมีงานประจำที่สามารถเลี้ยงชีพได้ เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งทำตรงนี้เพื่อมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งพอเรายิ่งทำ เราก็ยิ่งรู้ว่าเงินไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอะไรมากมายเลย และเงินใช้น้อยกว่าที่เราคิดไว้เยอะ เราเข้าใจว่านี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนลังเลเวลาที่จะเริ่มต้นทำอะไร เพราะว่าเขาคิดว่าเขาไม่มีเงิน แต่จริงๆ อย่างวันที่พวกเรามา มันก็ไม่มีอะไรเลย เราก็จ่ายค่าบุฟเฟ่ที่โรงแรมกันเอง แล้วก็มานั่งประชุมกันเอง มันก็มีความสุขและสนุกเวลาเราทำงาน

Q: ในความคิดของสมาชิกทุกคน อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการนี้มันดำเนินมาได้จนปัจจุบัน?

A: จริงๆ แล้ว พวกเราคิดว่ามาจากความรัก ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของคนไทยที่มีมาโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพจผูกปิ่นโตข้าวเป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างโอกาสให้เราได้แสดงออกถึงความเป็นคนไทย ความเป็นมิตร จริงใจ มีน้ำใจต่อกัน

โมเดลนี้ใหม่สำหรับทุกคน ทั้งแม่สื่อ เจ้าบ่าว เจ้าสาว รวมถึงอาสาทุกๆ ท่าน เพราะฉะนั้นมันต้องการการสื่อสารที่เยอะกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ด้วย เริ่มจากเราตั้งใจออกแบบใบสมัครที่ถ้าคนที่ขี้เกียจก็จะไม่อ่านไปเลย เราคิดตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าตัวใบสมัครจะใช้เวลา 15 นาที ถ้าเขาได้ใช้ 15 นาทีนี้ อ่านจริงๆ เขาจะเคลียร์เลย จุดสำคัญคือเมื่อเราได้ใบสมัครแล้วแม่สื่อต้องโทรคุยทีละคน มันเป็นโอกาสดีที่เราจะได้พาเขาไปมองความตั้งใจของโครงการ ได้เชื้อเชิญ ชวนเชิญให้เขาได้ลุกขึ้นมาเป็นหนึ่งกำลังใจที่จะให้เจ้าบ่าว แล้วก็เริ่มพลิกจากบริบทที่เป็นผู้ซื้ออย่างเดียว ที่เคยชินกับการอยู่ในเมือง ทุกอย่างต้องตรงเป๊ะ ธนาคารต้องมีหลายบัญชี เราก็ต้องบอกว่า ชาวนาค่ะชาวนา (หัวเราะ) ซึ่งการทำงานของแม่สื่อ เราคุยกันลึกซึ้งมาก คุยกันทุกมิติว่าคนแบบไหนเราจะรับมืออย่างไร แต่ถ้าสุดท้ายเขาไม่มาด้วย เราก็จะขอบคุณเขาที่สนใจ แล้วเมื่อไหร่ที่พร้อม ผูกปิ่นโตข้าวก็ยินดีต้อนรับเสมอ มันเป็นความท้าทายทั้งจากเราและจากเขาด้วย ถ้าเขาข้ามมาได้ เราก็เหมือนได้เจอทองคำ จริงๆ มันมีค่ามากกว่านั้นเพราะเราเจอคนที่จะช่วยให้ความตั้งใจนี้ขยายออกไป

12647330_1048588725198608_5983011355282548880_nQ: สำหรับมาตรฐานที่ใช้ในการคัดเลือกและดูแลในฝ่ายเจ้าบ่าวล่ะ มีอะไรบ้าง?

A: เรามีมาตรฐานอินทรีย์ PGS (Participatory Guarantee Systems) ‘ผูกปิ่นโตข้าว’ ที่จะใช้ในการตรวจรับเจ้าบ่าวใหม่ๆ เข้าโครงการ และรับรองข้าวอินทรีย์ในโครงการเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเจ้าสาว โดยเจ้าบ่าวทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนการกรอกใบสมัคร การตรวจนา และการพูดคุยกับทีมแม่สื่อ โดยมาตรฐานของผูกปิ่นโตข้าวจะเป็นมาตรฐานการมีส่วนร่วม คือฝั่งเจ้าบ่าวในโครงการที่มีประสบการณ์จะร่วมกันทำขึ้นมาว่าจะต้องมีอะไรบ้างที่เราต้องดูเพื่อให้มันเป็นการทำนาแบบอินทรีย์ที่ถูกมาตรฐานจริงๆ ที่ปฏิบัติได้จริงโดยมีทั้งหมด 24 ข้อ ทั้งการเพาะปลูก เพาะเมล็ด เก็บเกี่ยว จัดเก็บ จัดส่ง รวมทั้งการสื่อสารด้วย มาตรฐานการมีส่วนร่วมหมายถึงว่าคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องข้าว มีส่วนในการรับผิดชอบดูแล ดังนั้นในการไปตรวจเยี่ยมนาเจ้าบ่าวคนหนึ่งก็จะต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว อาสาสมัคร  แม่สื่อ และเจ้าสาว เข้าไปร่วมด้วย แล้วก็มีเอกสารชัดเจน ไม่ผ่านคือไม่ผ่าน เราไม่มีการออมชอมกัน หรือถ้าผ่านแต่อาจจะมีเงื่อนไขตรงไหนบ้างที่ต้องจัดการภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้มีความใกล้เคียงกับมาตรฐานโลกในเรื่องการเป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ

1Q: ในการจับคู่ มีเกณฑ์ในแมชเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันอย่างไร?

A: ในช่วง 2 ปีแรก ก่อนจะมี ‘มาตรฐานอินทรีย์ผูกปิ่นโตข้าว’ เราจะแบ่งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวเป็นฝ่ายละ 2 แบบ คือ ‘เจ้าสาวใจถึง’ ที่พร้อมสนับสนุนชาวนาในช่วงปรับเปลี่ยน แม้ว่าข้าวจะไม่ได้เป็นอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล โดยเราจะจับคู่กับ ‘เจ้าบ่าวมือใหม่’ ที่กำลังจะเลิกปลูกข้าวเลิกเคมี แล้วกับมาทำนาอินทรีย์ กับ ‘เจ้าสาวเอาชัวร์’ สำหรับใครที่ต้องการให้กำลังใจชาวนาที่ทำอินทรีย์อยู่แล้วให้สามารถขยายชุมชนที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะจับคู่กับ ‘เจ้าบ่าวเข้มแข็ง’ ที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว โดยสามารถเลือกผูกปิ่นโต ‘แบบทีม’ สำหรับคนที่รวมกันได้สิบคนยี่สิบคน ‘แบบธุรกิจ’ สำหรับกลุ่มองค์กร และ ‘แบบเดี่ยว’ สำหรับคนที่อยากสั่งเดี่ยว ซึ่งพอเจ้าบ่าวของเราได้รับมาตรฐานอินทรีย์ผูกปิ่นโตข้าวทุกคนแล้ว ก็ไม่มี ‘มือใหม่’ หรือว่า ‘เข้มแข็ง’ อีกต่อไป ทุกคนคือชาวนาอินทรีย์ผู้เข้มแข็งและกล้าหาญที่จะยืนหยัดบนเส้นทางอินทรีย์อย่างเต็มภาคภูมิ

1969145_687601871297297_3220219234530711533_n

ความตั้งใจของพวกเราคือถ้าจะกินข้าวต้องกินอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าเครียด เช่น ต้องสั่งเยอะๆ เดี๋ยวชาวนาน้อยใจว่าเราสั่งน้อย มันจะไม่ใช่แบบนั้น แล้วเจ้าบ่าวเราจะไม่ชอบให้เอาข้าวไปกองไว้ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะฟังความต้องการของฝั่งเจ้าสาวก่อน อย่างเจ้าสาวเดี่ยว เราจะสอบถามก่อนว่าต้องการกินข้าวเดือนละเท่าไหร่ อยากกินข้าวอะไรบ้าง สอบถามประวัติครอบครัว จำนวนสมาชิก ดูจังหวัด ซึ่งเราจะหาจังหวัดใกล้เคียงเพราะว่าเข้าสาวจะสามารถไปเยี่ยมเจ้าบ่าวได้ง่าย ส่วนเจ้าสาวองค์กร เราก็ต้องไปรับสเปคมาจากทางองค์กรว่าความต้องการเป็นอย่างไร ทำธุรกิจลักษณะใด แล้วก็จะจัดเจ้าบ่าวที่สอดคล้องกัน มีความเข้ากันและเข้าใจกันไปให้ เช่น เจ้าสาวจะระบุว่าขอเจ้าบ่าวที่สามารถพรีเซ็นต์เพาเวอพอยท์ได้ คือนอกจากดำนาเป็นแล้ว ต้องมีทักษะส่วนนี้ด้วย (หัวเราะ) บางองค์กรที่เป็นเอเจนซี่ เราก็คัดเจ้าบ่าวที่ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ซึ่งมีความเชื่อมโยงในเชิงสร้างสรรค์กันได้อยู่ แต่หลักๆ เราก็เน้นสอบถามความต้องการเรื่องข้าว

1549557_683289608395190_1972918653_nQ: ปัจจุบันเครือข่ายของเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเชื่อมโยงกันได้ด้วยวิธีไหน?

A: ผูกปิ่นโตข้าวจะมีกรุ๊ปไลน์ชื่อว่า ‘ห้องหอ’ สำหรับให้คนปลูกข้าวและคนกินข้าวมีโอกาสได้ทำความรู้จักและพูดคุยกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์แบบพ่อค้า-ลูกค้า กลายเป็นความสัมพันธ์แบบญาติมิตร มีความเป็นห่วงใยและช่วยเหลือกันจริงๆ

Q: สำหรับการทำงาน ผูกปิ่นโตข้าวได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรหรือสาธารณชนบ้างไหม?

A: เราได้แรงสนับสนุนจากหลายทางมาก อย่างที่เล่าแฟนเพจที่เป็นเจ้าของโรงงานเสื้อยืดที่ลำปาง ส่งเสื้อยืดมาให้เพราะบอกว่าอย่างไรเราต้องใช้ หรือการช่วยผลิต cut-out สำหรับใช้งาน เพื่อนเราที่ทำงานบริษัทไทยประกันชีวิตก็อนุมัติให้แม่สื่อใช้ห้องประชุมได้หลังเลิกงานเพื่อ พี่ๆ น้องๆ ดาราที่เป็นเจ้าสาวก็เต็มใจที่จะช่วยโปรโมทโดยที่ไม่มีใครคิดค่าตัว น้องๆ อาสาสมัคร ทั้งแม่สื่ออาสาที่ช่วยโทรศัพท์จับคู่เจ้าบ่าวให้กับเจ้าสาว เถ้าแก่อาสาที่ช่วยสัมภาษณ์ว่าที่เจ้าบ่าวและช่วยขับรถไปสำรวจและเยี่ยมที่นาในโครงการทั่วไทย แม่สื่ออาสาองค์กรที่รับหน้าที่จัดพิธีดูตัวให้กับเจ้าสาวองค์กรต่างๆ และดูแลความสัมพันธ์ให้ยืนยาว โดยอาสาทุกท่านมาช่วยด้วยใจ ด้วยเงินทุนส่วนตัวทั้งหมด รวมไปถึงองค์กรอย่างเช่นสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงที่มาให้คำปรึกษา แน่นอนว่าเจ้าสาวของเราและพี่ๆ ชาวนาอินทรีย์ที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเจ้าบ่าวด้วยกัน

16-Ma Sue-9835--sคุณจอมทรัพย์ วงศาโรจน์ (พี่จุ๋ม)

Q: ปัญหาระหว่างทางที่เจอมีอะไรบ้างและแก้ปัญหาอย่างไร?

A: คงเป็นความคาดหวังของคน ตั้งแต่ความคาดหวังของเราเอง ของพี่ชาวนาว่าเราเป็นตลาดที่จะช่วยเขา แต่เราไม่ใช่ตลาด ก็ต้องสื่อสารกัน เอาจริงๆ พวกเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เรามองว่ามันเป็นขั้นตอนการทำงานที่มันจะต้องมีแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่เราเจอมันก็ไม่ต่างไปจากเวลาเราทำงานบริษัทที่เมื่อไหร่มีคนมารวมกัน มันมีปัญหาหมดแหละ แต่ที่ต่างคือเราทุกคนคุยกัน เราไม่เก็บอะไรไว้ เรามีพื้นที่รับฟังกัน แล้วก็จะหาทางว่าจะไปต่อกันอย่างไร ไม่มานั่งติดกับความรู้สึกเล็กๆ ซึ่งบางครั้งมันก็ยากนะสำหรับความเป็นมนุษย์ แต่ความเยี่ยมยอดก็คือเรามองไปที่สิ่งที่ใหญ่กว่าว่าทำไมต้องทำ พอเรารู้ว่ามันเป็นหน้าที่ เราเป็นคนไทย สุดท้ายทุกคนก็วางได้ แล้วมันก็ไปต่อได้ ปัญหาจริงๆ ถ้ามีก็คือใครสวยกว่าใคร ซึ่งเป็นปัญหาตอนถ่ายรูปมาก ปัญหาอื่นแก้แล้วจบแต่เรื่องนี้ไม่จบ (หัวเราะ)

12647330_1048588725198608_5983011355282548880_nQ: จนถึงตอนนี้มีจำนวนเจ้าบ่าวเจ้าสาวประมาณเท่าไหร่แล้ว?
A: เจ้าบ่าวมี 50 กลุ่ม จาก 3 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ส่วนเจ้าสาว เรามีเจ้าสาวเดี่ยวมีประมาณกว่า 3,000 คน และเจ้าสาวองค์กรประมาณ 33 องค์กร

41-Ma Sue-9795--sQ: ถ้าถามถึงผลที่เกิดขึ้นจากตอนแรกจนถึงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

A: แน่นอนว่าเจ้าบ่าวเราลืมตาอ้าปากได้แล้ว ซึ่งโมเดลที่เราให้ดีลกัน 12 เดือน ทำให้เจ้าบ่าวมีเงินก้อนไปปลดหนี้ได้เลยเมื่อเขาไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเครียด อยู่ได้ และมีความสุข ยิ่งมีเจ้าสาวที่คอยสนับสนุน เจ้าบ่าวของเราก็มีความภูมิใจในตัวเอง ถึงเวลาเขาก็อยากจะมาส่งข้าว อยากมาเจอเจ้าสาว มันส่งเสริมให้เขากล้าลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ จนตอนนี้เกิดเป็นคณะกรรมการ ทำกิจกรรมต่างๆ ไปมาหาสู่กัน ไปตรวจงานให้เจ้าบ่าวคนอื่นซึ่งเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย แล้วเขาก็ต้องละมือจากงานของตัวเอง ออกค่ารถกันเอง แต่เขาก็ยินดี เขาเริ่มสัมพันธ์กันเป็นกลุ่ม เริ่มรู้ว่ามันมีผลกระทบนะถ้าใครคนหนึ่งทำอะไรที่มันไม่โอเค ออกมาทำอะไรบางอย่างเพื่อรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการที่เขาได้ไปเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ พี่ว่านอกจากมันจะทำให้เขาได้เพื่อนแล้ว เขายังมีความสุขและภูมิใจกับสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งมันทำให้เขาก็จะอยากส่งต่อความรู้ เหมือนมันตอกย้ำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันดีอยู่แล้ว แล้วพอเราเอาธรรมชาติกลับมา คนก็เอื้อเฟื้อกันโดยอัตโนมัติ

10683719_773902199333930_7665328586084461057_oQ: สำหรับพี่ๆ ล่ะคะ ได้อะไรจากการทำโครงการนี้บ้าง?

A: จากปกติที่เราเคยมีระยะห่างจากพี่ๆ ชาวนา ไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องรู้เลย ก็เป็นคนเมืองทั่วๆ ไป แต่พอไปเจอเขาจริงๆ มันเซอร์ไพร์ซมาก เพราะเขาเป็นคนที่เราใช้คำว่าปราชญ์ชาวบ้านได้เลยนะ แล้วเป็นคนฉลาดที่เป็นเนื้อแท้ ไม่ได้ฉลาดโดยแสดงให้รู้ว่าเขาฉลาด เมื่อเราไปสัมผัสตรงนั้น ตัวตนของเรามันก็ละลายไปเลย เพราะจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้เก่งมาจากไหน มีคนที่เขาเก่งจริง เหนื่อยจริง เจ๊งจริง และกล้าลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งแบบจริงๆ อยู่ตรงนั้น มันพลิกความคิดความเชื่อของพวกเราเหมือนกัน มันทำให้โลกของเรากว้างขึ้น ได้ออกจากกะลาติดไฟของตัวเอง การมีโอกาสได้ทำโครงการนี้ถือเป็นความโชคดีของชีวิต เพราะเราได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศนี้บ้าง ตอนเด็กๆ เราดูทีวีดูข่าวช่วงข่าวในพระราชสำนัก ได้เห็นในหลวงเดินอยู่ในท้องนาตลอด แล้วเราก็คิดว่าในฐานะที่เราเป็นลูก เป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็อยากจะดำเนินรอยตาม จนถึงตอนนี้พวกเรายังคิดด้วยซ้ำว่ายังทำไม่พอ ถ้าเทียบกับในหลวง คือห่างไกลกันลิบลับในระดับของความเสียสละ ของสติปัญญา ของความฉลาด เพราะฉะนั้นพอคิดแบบนี้ปั๊บมันก็มีพลังที่อยากจะทำงานนี้ต่อ

13423949_1131007326956747_8398169985812417852_n 13427957_1130399597017520_193260557912391596_nแล้วสิ่งที่ถามมาตลอดตั้งแต่เกิดมาว่าทำไมชาวนาถึงจน แล้วเราเคยหมดหวังไปแล้วว่าคงไม่มีใครทำอะไรได้หรอกเพราะถ้ามีใครจะทำอะไรมันคงทำไปนานแล้ว ใครจะปล่อยให้ชาวนาจนซ้ำซากเศร้าซ้ำซากได้ทุกปี แต่พอได้มาทำผูกปิ่นโตข้าว สิ่งที่ได้ก็คือเราทำได้แล้ว รู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวังมากๆ รู้สึกเลยว่าประเทศไทยไม่ต้องง้อประเทศไหนในโลกนี้อีกเลย ตราบใดที่เราปลูกข้าวเองได้ เราอยู่ได้แน่นอน เราไม่ต้องไปสนใจว่าใครจะให้เรตติ้งอะไรเรา

12651188_1043133605744120_8838642076433038937_n

ที่สำคัญคือการได้ทำงานกับเพื่อนๆ ที่ยอดเยี่ยม ได้ทำงานกับคนที่หัวใจใหญ่ ใจกว้าง ซึ่งมันเตือนเราเสมอว่าเราไม่ยอดเยี่ยมไม่ได้ เราก็ต้องยอดเยี่ยมด้วย เมื่อใดก็ตามที่เราออกไปทำงานข้างนอกแล้วมันมีอะไรที่มารบกวนจิตใจ การทำงานตรงนี้มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องปล่อยวางมันอย่างไร และมันก็มีพื้นที่ตรงนี้แหละที่เขาจะคอยรับฟังและช่วยแก้ไขสิ่งเหล่านั้นถึงแม้มันจะไม่เกี่ยวกับงานในโครงการผูกปิ่นโตข้าวทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน มันไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนหรือร้อนรนมาก ได้ใช้ชีวิตอยู่ในวิถีที่อบอวลไปด้วยความรัก การที่เราตื่นมาแล้วได้อยู่ ได้ทำงานกับแม่สื่อ อาสาสมัคร เจ้าบ่าว และเจ้าสาวมันทำให้เรามีชีวิตแบบที่มีชีวิตจริงๆ ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือเราได้ความสุขนั่นแหละ เราได้เห็นน้ำใจคนไทย เห็นความกล้าหาญของเจ้าบ่าว การที่เขาได้พัฒนายกระดับตัวเอง ได้เห็นการสนับสนุนขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มันคือความน่ารัก และรู้สึกได้ว่าประเทศไทยมันวิเศษจริงๆ

12418977_1027828327274648_7409437974432935621_o9499_834388113285338_6267817747965560504_n

Q: อนาคตของผูกปิ่นโตข้าวจะเป็นอย่างไร?

A: พี่ขอย้อนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่พวกเรามีโอกาสไปพูดให้ที่จังหวัดอำนาจเจริญถึงโครงการผูกปิ่นโตข้าว ไปจัดเวิร์คช็อป 2 วัน ผลปรากฏว่าเหนือความคาดหมาย ทางพาณิชย์จังหวัดของอำนาจเจริญก็อยากจะทำโครงการผูกปิ่นโตข้าวอำนาจเจริญขึ้น ซึ่งเขาก็ได้ภาพสุดท้ายในใจของอำนาจเจริญที่เหมือนกับเรา และภาพสุดท้ายของพวกเขาคือผู้คนในโลกจะรู้จักอำนาจเจริญในฐานะของเมืองที่อุดมไปด้วยความสุข อุดมไปด้วยธรรมชาติ เป็นธรรมเกษตร มันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ซึ่งจุดสำคัญคือผู้ว่าราชการสนับสนุนโครงการนี้ ไฟเขียวทุกอย่าง มันเลยกลายเป็นการร่วมมือระหว่างข้าราชการแทบจะทุกส่วนของอำนาจเจริญร่วมกับภาคประชาชน โดยถอดโมเดลของเราไปทั้งหมด ทางเราก็มีโค้ชชิ่งคอลกันทุกอาทิตย์กับกลุ่มพาณิชย์จังหวัด เสร็จแล้วเราก็เล่าความคืบหน้ากันปรกติให้กับกลุ่มเจ้าบ่าวของเราฟัง ซึ่งกลุ่มเจ้าบ่าวก็เกิดอิจฉาตาร้อน (หัวเราะ) อยากจะให้จังหวัดตัวเองเป็นอย่างอำนาจเจริญบ้าง แล้วเจ้าบ่าวของเราซึ่งอยู่จังหวัดต่างๆ ก็เข้ามาประชุมที่กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่าเจ้าบ่าวก็น่ารักมาก เขาก็ประชุมกัน แล้วร่างหนังสือกันสดๆ ในช่วงทานอาหารกลางวันเพื่อยื่นให้กับปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่าอยากให้ทางกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนโครงการนี้ อยากให้มีทั่วประเทศเพราะมันส่งผลดีต่อชาวนาอย่างไร ซึ่งทางปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่าได้รับทราบและติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอด หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น ทางปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็ทำบันทึกข้อความแจ้งไปยังพาณิชย์ทุกจังหวัดว่าให้นำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ทั่วประเทศ ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่าเราตั้งใจให้ปีนี้เป็นปีแห่งการส่งต่อ และเป็นเป้าหมายแต่แรกของเราเลยคือเราอยากจะเห็นการผูกปิ่นโตข้าวทั่วประเทศ ซึ่งการผูกด้วยตัวเราเองมันช้า เราก็เลยเกิดไอเดียในช่วงปีที่ 2 ว่าเราต้องปรับโมเดลให้มันอยู่ทุกที่ไปเลย โดยไม่ต้องมีเรา แต่มีโมเดลผูกปิ่นโตข้าวทุกที่เลย แล้วทุกที่จะต้องนำจิตวิญญาณทุกอย่างไปให้หมด เพราะฉะนั้นคำถามข้อสุดท้ายที่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็คือ อนาคตข้างหน้าจะไม่มีพวกเรา ผูกปิ่นโตข้าวจะอยู่ได้เองทุกที่ ไม่ต้องมีแม่สื่อ ไม่ต้องมีตัวเราอยู่ในนี้แล้ว

20-Ma Sue-9841--sคุณร่มฉัตร พัฒนศิริ บุญเจริญ (พี่ฉัตร) 

Q: แล้วถ้าวันหนึ่ง ประเทศไทยมีโมเดลของผูกปิ่นโตข้าวกันหมด สมาชิกแต่ละคนจะทำอะไรในโครงการนี้?
A: จริงๆ เราทำโมเดลนี้เพื่อที่จะส่งต่อ เราอยากสร้างผู้นำ ซึ่งก็คือพี่ๆ ชาวนานี่แหละ เมื่อมีผู้นำแล้ว เราไม่จำเป็นต้องอยู่ เราก็จะไปทำอย่างอื่น ผูกปิ่นโตข้าวถูกวางโครงร่างให้ง่ายที่สุดเพื่อที่ทุกคนจะทำตามได้ เราคิดว่าถ้าเรายังต้องอยู่ ประเทศไทยมันแย่แล้ว เพราะเรื่องแบบนี้มันต้องเป็นเรื่องปกติของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น จริงๆ แล้วเราก็คงไม่ได้ไปไกล ก็จะอยู่เป็นทรัพยากรให้เขาหยิบใช้ อยู่สวยๆ ให้เขาเรียกป้าๆ (หัวเราะ) และสิ่งที่ดีที่สุดในความคิดของพวกเราคือวันที่เขาไม่ต้องการเราแล้ว

1-Ma Sue-9705--s  8-Ma Sue-9724--s27-Ma Sue-9736-s 37-Ma Sue-9755--s 32-Ma Sue-9746--s 22-Ma Sue-9731--s 18-Ma Sue-9763--s 13-Ma Sue-9769--s

อ้างอิง: FB/pookpintokao
ภาพ: Zuphachai Laokunrak, FB/pookpintokao

บันทึก

บันทึก