‘Run Hero Run ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ’ ระดมทุนซื้อเสื้อเกราะสู่ทหารชายแดนใต้   

6

ท่ามกลางความร้อนระอุที่ปลายด้ามขวาน ชีวิตของวีรชนคนกล้าถูกรูดม่านลงคนแล้วคนเล่า แม้ว่าเรื่องราวความเสียสละของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก แต่ความกล้าหาญ องอาจ ไม่เกรงแม้ภยันตราย ได้จุดประกายให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ผ่านโครงการ ‘RUN HERO RUN ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ’ เพื่อส่งสารไปสู่ ‘คนแนวหน้า’ ว่าตรงนี้ยังมี ‘คนแนวหลัง’ ยืนหยัดเคียงข้างพวกเขาเสมอ

IMG_3889_low res(แถวบน จากซ้ายไปขวา) ปรารถนา จริยวิลาศกุล (พี่บี๋), มารุต บูรณศิล (โปรรุจน์), จินตนา วิทูวิทยา (พี่ตุ๊ก), อนุตรา สวัสดิ์ศรี (พี่อุ๊) (แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) วรารินทร์ เครือวาณิชกิจ (พี่ต๊อบ), โลจน์ นันทิวัชรินทร์ (พี่โอ๊ค), พรรษมณฑ์ พัฒนศรีรัตน์ (พี่แอน)

13705051_10153898643774037_1174924339_n

พุทธิคุณ เพ็ญวรรณ (พี่ยาร์ด)

Q: การเกิดขึ้นของ RUN HERO RUN มีที่มาที่ไปอย่างไร? 

A: (พี่ต๊อบ) ประมาณ 4 ปีก่อน พี่ต๊อบมีโอกาสเข้าไปช่วยโครงการหนึ่งในการระดมทุนจัดหาเสื้อเกราะเพื่อส่งให้กับทหารสามจังหวัดชายแดนใต้ ทีมงานซึ่งประกอบไปด้วยพี่อุ๊ (อนุตรา สวัสดิ์ศรี), พี่แอน (พรรษมณฑ์ พัฒนศรีรัตน์), และพี่ตุ๊ก (จินตนา วิทูวิทยา) ซึ่งมาจากต่างสายอาชีพได้มารวมตัวกันนอกเวลาทำงาน ด้วยความหวังที่ว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือและตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่เสียสละปกป้องประเทศชาติของเรา จนปลายปี 2557 โครงการนี้ก็จัดตั้งเป็น ‘มูลนิธิสันติภาพชีวิตคิดเพื่อสันติภาพใต้‘ ขึ้น โดยมีเป้าหมายคือการระดมทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่และเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ด้วยโครงการของเราเป็นโครงการที่ไม่ได้ใหญ่โตนักและทำด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งในแง่การระดมทุน เราจึงไม่สามารถส่งเสื้อเกราะจำนวนมากลงไปได้

ต้นปี 2558 พี่เลยไปชวนพี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) รุ่นพี่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีฯ ซึ่งนอกจากเป็นเบื้องหลังในการสร้างแบรนด์ให้กับหลายแบรนด์แล้ว พี่บี๋ก็รักในงานจิตอาสา เพราะฉะนั้นพี่บี๋ก็รับคำแล้วยังชวนพี่พี่โอ๊ค (โลจน์ นันทิวัชรินทร์) รุ่นพี่นิเทศฯ จุฬาฯ เข้ามาร่วมอีก แถมพี่โอ๊คยังไปชวนพี่ยาร์ด (พุทธิคุณ เพ็ญวรรณ) ก้อปปี้ไรท์เตอร์มือฉมังเข้ามาลุยงานนี้ไปด้วยกัน จนกลางปี 58 พวกเราก็คิดการใหญ่ วางแผนกันจัดงานวิ่งการกุศลที่ชื่อ ‘RUN HERO RUN ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ 2016’ ขึ้น แน่นอนว่าปลายทางของพวกเราคือการรวบรวมทุนสำหรับจัดซื้อเสื้อเกราะเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ในสามจัดหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

AP3_2508

Q: ทำไมต้องเสื้อเกราะกันกระสุน?

A: (พี่อุ๊) จุดแรกของการทำมูลนิธิฯ คิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าเราอยากทำอะไรให้ทหาร เพราะว่าเราเกิดในครอบครัวทหาร มันมีคำตอบที่ค้างใจว่าความช่วยเหลือลงไปไม่ถึง วันหนึ่ง พี่ได้อ่านหนังสือของผู้กองแคน (พลตำรวจโท ธรณิศ ศรีสุข) แล้วด้านหลังปกหนังสือเล่มนี้จะมีที่อยู่ของฐานบันนังสตา พี่ก็คิดว่าสิ่งที่เราต้องการส่งไปช่วยเหลือน่าจะไปถึงแล้วล่ะ เลยไปโพสต์ที่เว็บพันทิป.คอม ว่าพี่จะส่งของไปที่นี่ มีใครบ้างไหมที่สนใจ แล้วก็มีคนเขียนตอบมา พอร่วมกันทำตรงนั้นเสร็จเรียบร้อย เราก็ได้ข่าวว่าของบางส่วนมันไปไม่ถึงในพื้นที่จริงๆ จนกระทั่งมีน้องคนหนึ่งแนะนำว่าเขารู้จักอยู่ตำรวจพลร่มที่ทำงานอยู่ที่ฐานเลย ก็เลยถามเขาไปว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน พี่ไม่รู้หรอกว่าคุณต้องการอะไร ช่วยบอกเรามาหน่อยได้ไหมว่าของที่มันจำเป็นที่สุดสำหรับการทำงานในพื้นที่ ณ เวลานี้คืออะไร เขาก็บอกว่าเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งตอนนั้นพี่ก็เลยบอกเขาว่า พี่ไม่รู้หรอกนะว่าคุณต้องการใช้แบบไหน เอาอย่างนี้เดี๋ยวพี่หาสตางค์ให้ แต่คุณต้องขึ้นมาทดสอบชุด คุณไปหามา เราจะไปหาสตางค์ให้ จนได้รู้จักพี่ทหารคนหนึ่งที่ทำวิจัยเรื่องเสื้อเกราะกันกระสุน นั่นคือจุดเริ่มต้น

Q: แต่เสื้อเกราะเป็นอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่ใช่ของทั่วๆ ไปที่ใครก็ครอบครองได้ แล้วการที่ RUN HERO RUN ส่งมอบเสื้อเกราะลงไปในพื้นที่ มันเป็นไปในลักษณะไหน? 

A: มูลนิธิฯ จะเป็นฝ่ายที่ระดมทุน ส่วนผู้ผลิตเสื้อเกราะจะเป็นทหารที่อยู่ในหน่วยวิจัยซึ่งเสื้อเกราะเหล่านี้ได้รับการรับรองคุณภาพจากกระทรวงกลาโหมให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยเอง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีข้อกังขาในเรื่องของการทำเสื้อเกราะ เราเป็นแค่ตัวกลางส่งมอบ เพราะเราไม่สั่งมาเพื่อครอบครอง แต่เราหาสเป็กที่ดีที่สุดให้ในราคาที่ถูกสุด โดยมีทหารเป็นคนผลิต เพราะจริงๆ แล้ว ประชาชนทั่วไปไม่สามารถครอบครองยุทโธปกรณ์ได้

IMG_3833_low res

Q: สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะต้องผ่านการมาตรฐานอย่างไรบ้างก่อนจะทำการจัดลงพื้นที่?

A: นอกจากมาตรฐานของกระทรวงกลาโหมแล้ว จะต้องมีการทดลองนำไปใช้จริงโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้งานจะต้องเป็นคนที่อนุมัติด้วย และเราจะทดสอบก่อนส่งต่ออยู่ตลอด ซึ่งการทดสอบหรือการตรวจสอบของเราต้องเข้มงวด เพราะนี่คือชีวิตคน มันแลกไม่ได้ พลาดไม่ได้ โดยเสื้อเกราะชุดนี้สามารถกันกระสุน รวมถึงสะเก็ดระเบิดได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่หลายคนเสียชีวิตเพราะโดนสะเก็ดระเบิด

Q: เพราะอะไรจึงเลือกกิจกรรมอย่างการวิ่งมาเป็นคีย์ในการระดมทุน?

A: (พี่บี๋) สำหรับหลักการทำแบรนด์ สิ่งที่ดีที่สุดคือการโฟกัสในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด เจ๋งที่สุด แล้วทำเรื่องนั้นเรื่องเดียว เราคุยกันจนรู้ว่าสามารถทำเสื้อเกราะได้ เสื้อเกราะมันไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้นะ เพราะมันเป็นยุทโธปกรณ์ แล้วทางพี่อุ๊ก็รู้จักกับทหารที่ออกแบบเสื้อเกราะที่ได้รับการรับรอง ผลิตในประเทศไทยได้ และผ่านการทดสอบว่ามีประสิทธิภาพในการใช้งาน ราคาอยู่ที่ตัวละ 17,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาการระดมทุนสามารถซื้อเสื้อเกราะได้เพียงปีละประมาณ 10 ตัว หากเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่อาสาซึ่งไม่มีสวัสดิการในส่วนนี้จากรัฐอยู่เยอะพอสมควร ทำให้จำนวนของเสื้อเกราะยังคงไม่เพียงพอ ใช้กันแบบผลัดกันใส่ เราก็มาคิดกันว่าเรื่องนี้รอไม่ได้ พวกเขาเสียสละชีวิตเขาเพื่อปกป้องพวกเรา ซึ่งถึงแม้ว่าบางพื้นที่มีเสื้อเกราะแต่ถ้าลูกน้องไม่มีใส่ พี่เจ้าหน้าที่หัวหน้าก็จะไม่ใส่ด้วย มันก็เหมือนลุ้นเอาว่าวันนี้การทำงานจะเป็นอย่างไร วันนี้จะได้กลับไหม แต่พวกเราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ควรต้องลุ้น และมันก็ไม่ใช่เรื่องจะมานั่งคิดว่าเป็นหน้าที่ของใคร ตรงนี้จึงเป็นจุดตั้งต้นว่าหากเราต้องการเพิ่มจำนวนเสื้อเกราะเพื่อส่งลงไป เราต้องระดมทุนให้เยอะขึ้น มากขึ้น แล้วกิจกรรมอะไรล่ะที่มันสามารถระดมทุนได้มาก และสามารถทำต่อเนื่องได้ทุกๆ ปี ไม่ใช่ต้องมานั่งคิดใหม่ทุกปี

IMG_3830_low res

A: (พี่โอ๊ค) หลังจากนั้นบี๋ก็โยนบอลมาที่พี่ ซึ่งพี่ก็บอกว่าโอเคถ้าบี๋ตั้งโจทย์ไว้แล้วว่าอยากให้เป็นกิจกรรมที่สามารถเรียกทุนได้ทุกปี ดังนั้น หากทำอะไรก็ตาม มันต้องเป็นเหมือนแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่มันคงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ มีเป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงจะต้องได้รับความสนใจทั้งในปีนี้ ปีหน้า และปีต่อๆ ไปได้ด้วย ก็มีโอกาสได้คุยยาร์ด ซึ่งทำด้านโฆษณา

ก็ปรึกษากันจนสรุปกันได้ว่าเราจะจัดวิ่งการกุศล เพราะว่าการวิ่ง อย่างแรกเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจคน ณ ขณะนี้ สองคือจำนวนคนที่วิ่งเพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ นี่ก็เลยเป็นจุดตั้งต้น แต่จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมการวิ่งกับสิ่งที่เราทำให้มันอยู่ด้วยกันได้ เราก็คิดกันว่า ถึงแม้เราจะอยู่ห่างไกลจากพี่ๆ เราอยู่หลังแนวรบ แต่เราทุกคนอยากเป็นฮีโร่แถวหลังที่คอยซัพพอร์ตเจ้าหน้าที่แถวหน้าทุกคน เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย เพื่อแสดงให้เขารู้ว่าพวกเราอยู่ตรงนี้คอยช่วย และอยากขอบคุณในความเสียสละ พวกเรามาร่วมกันเปลี่ยนเหงื่อเป็นเสื้อเกราะไหม เสื้อที่คุณซื้อมูลค่า 500 และ 600 บาท จะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นเสื้อเกราะให้กับฮีโร่แนวหน้า ‘RUN HERO RUN ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ 2016’ จึงเกิดขึ้น ‘ฉัน’ คือพวกฉันจะวิ่ง ‘เพื่อเธอ’ ก็คือเพื่อฮีโร่แนวหน้านะ เราใส่ปี 2016 ไป เพราะคิดว่าโครงการนี้จะต่อไปอีกในปี 2017, 2018, 2019 ไปเรื่อยๆ

Q: แต่ว่าแต่ละคนยังไม่เคยจับงานเรื่องการวิ่งมาก่อนเลย การทำงานส่วนนี้ต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง?

A: (พี่โอ๊ค) เรื่องวิ่ง เราก็ต้องการตัวช่วยเหมือนกัน เพราะในทีมไม่มีใครวิ่ง พี่คนเดียวที่วิ่ง แล้ววิ่งในฐานะคนวิ่ง ไม่ใช่คนจัดงาน เลยต้องไปหาว่าใครเป็นคนจัดงานวิ่งที่ดีที่สุดในเมืองไทย เราเลยทำ survey กับนักวิ่งด้วยกัน ทุกคนก็โหวตมาว่า Shutter Running ซึ่งมีประสบการณ์สูง ทำงานแบบมืออาชีพ แล้วทุกคนที่เคยไปงานที่ Shutter Running จัดจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาทำงานแบบสร้างสรรค์และเน้นเรื่องการอนุรักษ์ รณรงค์เรื่อง green running ลดขยะในที่วิ่ง เราจึงติดต่อที่นี่และได้ทำงานร่วมกับพี่รุจน์ – มารุต บูรณศิล

IMG_3838_low res

Q: นอกจากเรื่องวิ่งแล้ว ต้องดูงานในส่วนอื่นเพิ่มเติมอีกไหม?

A: (พี่ต๊อบ) ในส่วนงานออกแบบ เมื่อเราเซ็ตว่าเป็นงานวิ่งแล้ว แน่นอนต้องมีเหรียญกับเสื้อ โจทย์คือเราอยากได้ดีไซเนอร์สักคนหนึ่งมาออกแบบให้ พวกเราชอบงานของคุณสุทธิชาติ ศราภัยวานิช ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูน ทีนี้เราก็ตามหาเบอร์เพราะไม่รู้จักกันมาก่อน พอได้เบอร์มาเราก็โทรไปเล่าให้ฟังว่าตอนนี้เรากำลังจะทำโครงการแบบนี้ๆ พอคุยจบเขาก็บอกว่าเขาช่วยวาดให้โดยไม่คิดสตางค์ นั่นคือความช่วยเหลือลำดับแรกๆ ที่เราได้รับเลย (ยิ้ม) สำหรับงานออกแบบส่วนอื่น คือเราอยากให้บรรยากาศงานสนุกๆ ให้คนมาร่วมมีกำลังใจ มีความสุข ไม่อยากให้มีความเศร้า โดยต๊อบรับผิดชอบในส่วนนี้ เพราะบริษัทเรา (farmgroup) ถนัดด้านนี้ ก็ต้องขอบคุณน้อง ๆ ในทีมที่ทุ่มเทให้ด้วย IMG_3452_low res IMG_3451_low res IMG_3448_low resIMG_3457_low res

Q: อย่างที่เห็นกันอยู่ จนถึงตอนนี้งานวิ่งมีมากมายทั้งในไทยเองหรือสนามระดับอินเตอร์ที่คนแย่งกันไป เรามีวิธีอย่างไรในการเรื่องประชาสัมพันธ์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ความตั้งใจของเรามันถูกส่งออกไปอย่างแท้จริง? 

A: (พี่รุจน์) เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาวิ่งที่งานเรา เพราะอย่างที่เห็นว่างานวิ่งมีเยอะ เราจะแข่งกับเขาอย่างไร อย่างแรกก็ต้องเลือกวันที่มีงานวิ่งน้อย นั่นคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่พอเราเลือกได้ปั๊บ เวลาผ่านไป ปรากฏว่าวันนั้นมี 4 มาราธอนทันที รวม RUN HERO RUN ก็มีทั้งหมด 5 งาน

A: (พี่โอ๊ค) เราก็เลยบอกว่า “ขอบคุณมากพี่รุจน์” (หัวเราะ) แต่จริงๆ คือเราไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ เพราะต่อให้ดูดวงลูกแก้วหรือแม่หมอ ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ เพราะฉะนั้นเราถือว่าเราได้วันที่เซียนมาก และในเมื่อพี่รุจน์เลือกวันขนาดนี้ เราก็จะเต็มที่

IMG_0710 IMG_0808

A: (พี่รุจน์) จากโจทย์ตอนต้นที่ทีมอยากให้มีคนร่วมงานประมาณ 1,500 คน แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่เราได้คุยกัน ผมคิดว่ามันสามารถดึงคนได้มากกว่านั้น เลยให้ตั้งเป้าเยอะไปเลย เพราะว่าจุดหนึ่ง เลือดคนไทยเมื่อถึงเวลาที่ต้องรวมกัน ช่วยกัน ไม่ต้องห่วงเลยครับ ทุกคนเต็มใจ ที่สำคัญ นี่เป็นเรื่องของบ้านเราเมืองเรา ผมเลยบอกว่า 5,000 คนได้เลย การจัดมันจึงเริ่มโจทย์ตรงนั้น และด้วยว่าวันนั้นมีหลายงานจัดพร้อมกัน สิ่งที่เราจัดการอย่างแรกเลยคือการเลือกเส้นทางและสถานที่ เราต้องหาอะไรที่นักวิ่งไม่เคยเจอ เป็นเส้นทางที่นักวิ่งชอบวิ่ง ได้เห็นวิวดีๆ เห็นแลนด์มาร์คในเมืองเยอะๆ แน่นอนว่าแลนด์มาร์คนั้นจะต้องสัมพันธ์ไปกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ด้วย นี่เลยเป็นสิ่งที่ทำให้งานของเราต่างออกไป ฉะนั้นเราเลยสตาร์ทบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า นั่นคือแลนด์มาร์คที่ 1 จากนั้นวิ่งขึ้นสะพานพระราม 8 เพื่อไปเป็นแลนด์มาร์คที่ 2 ได้เห็นพระที่นั่งอนันตสมาคม วิ่งผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เราใช้จุดนี้เป็นกลยุทธ์แรกในการดึงดูดคน

นอกจากนี้ Shutter Running เอง เราก็มีมาตรฐานและระบบจัดการที่ค่อนข้างละเอียดในทุกกระบวนการ รวมถึงเราทำงานบนแนวคิด green running มาตลอด ซึ่งงานนี้ก็เช่นกัน เราพยายามลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด คน 5,000 คน จะมีจำนวนขยะเท่าไหร่ เราต้องกำจัดอีกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เราก็เลือกเป็นแก้วกระดาษที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของวิธีการจัดกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่าจะส่งออกไปให้สาธารณชนรับรู้กันอย่างไร คิดว่าการจัดของเรามันทำด้วยความตั้งใจดี ทุกคนรับรู้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่คนในเมืองอยากและพยายามหาทางที่จะช่วยเหลือมาตลอด แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะช่วยอย่างไร งานนี้ก็จะเป็นโอกาสของคนที่อยากช่วย

AP3_2633

Q: ฟังมาถึงตรงนี้ ดูเหมือน RUN HERO RUN เป็นงานสเกลใหญ่พอสมควร พี่ๆ เอาเงินทุนมาจากไหนกัน?

A: (พี่โอ๊ค) งานส่วนนี้เป็นเรื่องที่ผม บี๋ และต๊อบต้องช่วยกัน เราตั้งโจทย์ไว้ว่าเราต้องการผู้วิ่ง 5,000 คน และเงินทุกบาทจะต้องถึงพี่เจ้าหน้าที่ เราจะไม่เอาเงินจากนักวิ่งหรือคนซื้อเสื้อมาเป็นรายจ่ายในการวิ่งเลย แปลว่าเราต้องหาสปอนเซอร์เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายตรงนี้เพื่อที่รายได้ในการวิ่ง 500 บาท และ 600 บาท ต่อคน ของ 5,000 คน มันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พอได้ตัวเลขในการจัดงานนี้ เราก็จัดเป็นแพ็คเกจ ก็คิดตั้งแต่แพ็คเกจโกลด์ ซิลเวอร์ บรอนซ์ แพ็คเกจเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่เพราะไม่มีใครในทีมเคยจัดอีเว้นท์แบบนี้ ประกอบกับแต่ละคนมีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องคนรู้จัก อยากร่วมด้วยช่วยกันมากมาย ทำให้ตัวเลขของการสนับสนุนมีมาหลากหลายมาก จนในที่สุด เราก็สรุปกันว่าโอเค ลุยไปเลยแล้วกัน เราคิดแค่ว่าเรามีความตั้งใจดีตั้งแต่ต้นทาง เราได้พี่รุจน์ที่ผ่านงานวิ่งมาเยอะมากมาช่วยดูแลให้ เราได้ต๊อบและ Farmgroup มาดูแลเรื่องออกแบบซึ่งทางทีมดีไซน์ทำออกมาดีมาก สวยมาก แล้วเราก็คำนึงถึงหัวใจของคนที่มาวิ่งว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ของเขาจะไปถึงปลายทางจริงๆ ทุกอย่างเราพร้อมเราเต็มที่แล้ว

Q: แล้วฟีดแบคของการหาผู้สนับสนุนเป็นอย่างไรบ้าง?

A: (พี่บี๋) ผู้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ก็ใจดีมากค่ะ ทุกท่านให้โดยไม่ได้มองหาประโยชน์ ไม่แคร์ว่าจะต้องมีโลโก้กี่ตำแหน่ง ไม่สนว่าต้องมีเรดิโอสปอต ต้องมีการโปรโมท สิ่งที่ขอคือขอให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ แล้วถ่ายรูปมาเยอะๆ ส่งมาให้ดู ให้ชื่นใจก็พอ ทุกคนให้ใจกันหมด

A: (พี่โอ๊ค) พี่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก นอกจากนี้จะมีคนที่เงินทุนไม่ถึงในแพ็คเกจที่เราตั้งไว้ แต่อยากช่วย ก็จะถามไถ่มาว่ามีวิธีอื่นไหมที่เขาพอจะช่วยเหลือได้ บางคนก็เลือกให้เป็นของ บางคนที่ช่วยด้วยตัวองค์กรไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ก็จะเสนอมาช่วยในนามส่วนตัว หรือบางกรณีก็จะช่วยในขอบข่ายที่ธุรกิจเขาเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็น Ogilvy PR ที่ดูแล PR งานนี้แบบครบถ้วนจัดเต็ม

AP3_2222

ช่องสาม ก็ช่วยเราประชาสัมพันธ์โครงการแบบจัดเต็มมาก ให้ดารามาชวนซื้อเสื้อยืด อัด VTR โปรโมท คุณพุดเดิ้ลก็มาอ่าน spot ให้ สื่อในช่องก็โหมเปิด รายการในช่องก็ทำ scoop วันจริงก็มาร่วมงานทั้งผู้บริหารเอง และคุณพุดเดิ้ลที่มาเป็นพิธีกรช่วงประมูลเสื้อดาราที่มากันคับคั่งมากๆ นอกจากนี้ ดารานางแบบก็สนับสนุนด้วยการช่วยโพสลง ig แบบไม่คิดค่าตัว แล้วก็มีพี่ๆ น้องๆ ที่มาช่วยคนละไม้ละมือ สุดท้ายก็คือกลุ่มเพื่อนเราทุกหย่อมหญ้า เมื่อรู้ว่าเราจัดงานนี้ ก็ส่งเงินสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งการหาผู้สนับสนุนครั้งนี้ มันเลยได้ทั้งผู้สนับสนุนด้านเงินทอง กำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิด ซึ่งทั้งคนและองค์กรเหล่านี้เต็มใจที่จะช่วย ไม่รู้พวกเราทำบุญด้วยอะไร (หัวเราะ) เราทุกคนรู้สึกดีมากๆ ว่าเราได้อยู่ในสังคมที่ดี เพื่อนๆ และคนรอบตัวที่ดี อาจะเป็นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติที่ใครก็อยากกระโดดลงมาช่วย

Q: RUN HERO RUN มีวีธีอย่างไรที่จะมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำทั้งมันส่งตรงถึงปลายทางที่ตั้งใจไว้จริงๆ?

A: (พี่อุ๊) สิ่งที่เราขอกับคนในพื้นที่มีอยู่สองข้อ ข้อแรก เราจะบอกเขาเลยว่าเราไม่ต้องการแม้แต่จดหมายของคุณสักฉบับเดียว ทุกปีที่เราส่งไปให้ไม่ต้องส่งอะไรคืนกลับมา เราขอแค่ให้คุณส่งรูปของที่เราให้คุณเพื่อยืนยันว่าถึงพื้นที่และนำไปแจกจ่ายจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เราทำมันถึงมือพวกคุณแล้ว และสองขอให้ของทั้งหมดขอให้ถึงมือคนทำงานในระดับปฏิบัติการจริงๆ ซึ่งถ้าหน่วยไหนไม่ส่งรูปกลับมา เราจะไม่ให้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้เราขอแลกเปลี่ยนด้วยสองสิ่งนี้ที่เราคิดว่ามันไม่ได้เกินกำลังที่จะทำให้เราได้

นอกจากชุดเกราะแล้ว เราก็จะถามเขาว่ามีอย่างอื่นอีกไหมที่เขาต้องการ ซึ่งก็จะมียาสามัญประจำบ้าน อาหารอย่างเช่นหมูข้าวเหนียวที่สามารถพกไปทานระหว่างลาดตระเวนได้ ซึ่งนอกจากเราจะได้ภาพถ่ายตอนที่มีการแจกจ่ายเสื้อเกราะไปให้เจ้าหน้าที่แล้ว ก็จะมีภาพหมูทอดและข้อความว่า “พี่ครับนี่เป็นหมูทอดชิ้นเดียวที่ผมชูให้พี่ดูได้ เพราะที่เหลือคือหมดแล้ว” (หัวเราะ) นั่นคือสิ่งที่เรามีเพื่อยืนยันกับผู้บริจาคและสนับสนุนทุกคน

AP3_2075

Q: งานนี้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ไหม?

A: เราเริ่มประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2558 ซึ่งจำนวนที่สมัครหน่อมแน้มมาก ประมาณ 100 คน เหลืออีก 4,900 แต่ปรากฏว่า 1 เดือน ก่อนวิ่งเต็ม 5,000 คนเลย แต่มีคนสนใจงานนี้เยอะมาก ทำให้สุดท้ายยอดไปถึง 5,300 คน แล้ววันงานจริงซึ่งคำนวณด้วยน้ำและถ้วยใส่น้ำดื่มบนเส้นทาง น่าจะเกิน 5,500 คน เมื่อจบงาน ทุกคนแฮปปี้มาก ทุกอย่างมันลงตัว คนที่มาร่วมส่วนใหญ่ก็จะฟีดแบคว่าเป็นงานวิ่งที่สนุก ท่านเหลน (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) ประธานเปิดงานที่ตอนแรกท่านจะมาเปิดงานให้แล้วไม่สามารถอยู่ต่อได้ เพราะติดภารกิจต่อ แต่พอมาถึงท่านเห็นสิ่งที่เราทุ่มเท ท่านก็ยกเลิกภารกิจอื่นและขอร่วมวิ่งด้วย แล้วก็มาร่วมกิจกรรมต่ออีก ท่านบอกว่ารู้สึกสนุก ดีใจที่เห็นคนไทยมีน้ำใจ รักและกลมเกลียวกัน  แล้วเป็นงานที่ประชาชนทุกคนน่ารักมาก ทุกคนช่วยกันหมดเลย ดาราก็มา คนธรรมดาก็มา คนแต่งซูเปอร์ฮีโร่ก็มา ทุกคนแต่งตัวกันมาเต็ม แล้วช่วยถ่ายรูปโปรโมทให้จริงๆ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างมากกว่าตัวเงินที่ได้ก็คือเราได้เห็นคนมากมายร่วมแรงร่วมใจกัน เชื่อมั่นและสนับสนุนสิ่งที่เราทำ

AP3_2327

Q: เหมือนกับว่าพอทุกคนรู้ข่าวโปรเจ็กต์นี้ ก็อยากช่วยเหลือ เลยก็ติดต่อเข้ามา มันเป็นแบบนั้นไหม? 

A: เขาอยากช่วยทหาร นี่เป็นหนึ่งข้อสำคัญเลย และพวกเขาก็รู้ว่ารายได้ทุกบาททุกสตางค์จากการจัดงานนี้ให้เจ้าหน้าที่หมด มีหลายคนที่เขามาเขียนคอมเม้นท์ในหน้าเพจว่าดีใจที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยแนวหน้าแบบเป็นรูปธรรมจริงๆ

Q: เวลาที่สาธารณชนมองเข้ามา แน่นอนว่ามันต้องมีบางส่วนล่ะที่มีคำถามกับความโปร่งใสของโครงการ ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวพันกับภาครัฐ กับเจ้าหน้าที่แล้ว มันมีวิธีแสดงออกถึงความชัดเจนในการทำงานแบบที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ไหม? 

A: เราแจกแจงเรื่องรายรับและค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ในเพจหลังจบงานทันที ซึ่งตัวเงินที่เราชี้แจงไปทั้งหมดสามารถคำนวณได้เลยว่าจำนวนเงิน 4 ล้านกว่าบาท ที่ได้มาสามารถนำไปผลิตเสื้อเกราะได้ทั้งหมด 240 ตัว  ซึ่งในการทำงานก็มีหลายคนถามว่าเขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าของมันถึงจริงๆ ซึ่งมันสามารถตรวจสอบได้ เพราะเราจะเชิญเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขึ้นมาเป็นคนรับมอบเอง โดยที่พวกเราเป็นคนส่งมอบกันตรงนั้นเลย เมื่อเสื้อเกราะผลิตเสร็จ เมื่อทดสอบ เมื่อส่งมอบ เราจะเผยแพร่ในเพจของเราทุกขั้นตอนแน่นอน ข้อสำคัญ เราไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ และเราทุกคนพร้อมให้ตรวจสอบได้หมด

DSC_2867

Q: ความแตกต่างของจำนวนการส่งเสื้อเกราะก่อนหน้านี้กับปัจจุบันต่างกันมาน้อยขนาดไหน? 

A: ในปีแรก ปี 53 เราส่งได้ 10 ตัว ปีที่ 2 ได้ 15 ตัว ปีที่ 3 และ 4 ประมาณสัก 40 ตัว ล่าสุด เกินคาดมาก เราส่งได้ 240 ตัว ซึ่งทีมงานทุกคนดีใจมาก มันจะทำให้เราสามารถส่งไปได้ถึง 3 หน่วยเลยทีเดียว

Q: แล้วตอนนี้เสื้อเกราะกระจายไปที่หน่วยงานใดบ้าง?

A: (พี่อุ๊) ที่ผ่านมากระจายไปที่ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 41 และ 47 จังหวัดยะลา และหน่วยฉพาะกิจทหารพรานที่ 46 จังหวัดนราธิวาส แต่ในปีต่อๆ ไป เราจะกระจายไปหน่วยอื่นๆ ด้วย เพราะว่าทหารพรานเป็นหน่วยงานที่ต้องใช้คำว่าเสี่ยงที่สุด เพราะเขาเป็นทหารที่อาสาไปตาย บางคนอายุ 18 สมัครเป็นทหารพราน พออายุ 25 โดนยิงเสียชีวิต ลูกเพิ่ง 2 ขวบ คือถามว่ารู้ไหมว่าไปมันเสี่ยง เขาก็รู้แต่เขาอยากเป็นทหาร เขาก็บอกนะว่า “ผมเป็นทหาร ถ้าผมไม่ทำ แล้วทำใครจะทำ” เรามองว่ามันคืองานที่เสียสละมากเพื่อให้คนที่อยู่แนวหลังอยู่อย่างสุขสบาย

IMG_3848_low res

Q: มีอุปสรรคระหว่างการทำงานบ้างไหม? 

A: (พี่อุ๊) ตั้งแต่เริ่มทำโครงการมา เราถูกตรวจสอบจากภาครัฐ ว่าพวกเราเป็นใคร มาจากไหน ถามเหตุผลของการทำโครงการ ซึ่งพวกเราก็ชี้แจงถึงความตั้งใจ วิธีการทำงาน และปลายทางที่เราอยากจะเห็น บอกผู้ใหญ่ไปว่าพวกเราไม่ได้ทำเพื่อครอบครอง เพราะฉะนั้นทุกอย่างตรวจสอบได้ แล้วข้อสำคัญ ยุทโธปกรณ์  เราไม่ได้นำเข้า เราไม่ได้เป็นคนทำ ทุกอย่างมาด้วยกระบวนการที่ถูกต้องตามระบบของมัน เราอยากให้คนที่เขาทำงานจริงๆ ได้รับความห่วงใยว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทิ้งจากคนแนวหลัง พวกเราเป็นห่วงเขาเสมอ แต่อะไรล่ะที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ มันไม่สามารถจะบอกแค่ว่า “เราห่วงคุณมากนะ” แล้วจบแค่นั้น

Q: ด้วยทีมงานที่มาจากต่างอาชีพ จากคนไม่เคยรู้จัก แล้วต้องมาร่วมงานกัน มันมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเรื่องทัศนคติบ้างไหม? 

A: ทุกคนใหม่กับโครงการนี้หมด แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือหัวใจที่ยิ่งใหญ่ แม้ระหว่างทางจะมีเรื่องราวต่างๆ มาเป็นบททดสอบจิตใจให้เราต้องคุย ต้องถกเถียง คนนี้ชอบอย่างนั้น คนนั้นไม่ชอบอย่างนี้ ด้วยพื้นฐานของทุกคนที่ไม่เหมือนกัน แต่พวกเราจะรับฟังและพูดคุยกันตรงไปตรงมา อะไรที่เวิร์กที่สุดสำหรับโครงการ เราจะเลือกอันนั้น ตัดความรู้สึกส่วนตัวแล้วเดินหน้าต่อ อาจจะมีตบตีกันบ้าง (หัวเราะ) เรื่องความคิดเห็น แต่สุดท้ายพวกเราก็เรียนรู้และเข้าใจมันไปด้วยกัน

IMG_3813_low res

Q: แล้วการรับมือกับเสียงจากคนภายนอกล่ะ ทางทีมจัดการกันอย่างไร?

A: ก็มีคนข้างนอกที่ไม่เข้าใจเหมือนกัน แล้วคิดว่าเรามีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็อย่างที่บอก เราจะชัดเจนในเรื่องของตัวเลข หรือหากมีการตั้งคำถามในเรื่องการจัดการ ในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการวิ่ง เราร้อนรนกันอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่พี่รุจน์ก็จะเป็นคนที่คลี่คลายปัญหาหรือข้อสงสัยหลังบ้านให้เราได้เสมอ

Q: เอาจริงๆ เลย ทุกคนก็มีหน้าที่การงานของตัวเองที่ถ้าไม่ทำงานนี้ก็อยู่อย่างสุขสบาย อะไรเป็นสิ่งที่ผลักดันให้อยากทำให้งานนี้ให้มันสำเร็จ?

A: เราก็เคยถามตัวเองนะว่าทำไมถึงอยากมาทำโครงการนี้ คำตอบก็คือที่ผ่านมาเราเป็นผู้ดูมาตลอด ซึ่งถ้าจะคงสถานภาพนี้ไว้ เราก็จะเป็นผู้ดูเหตุการณ์นี้ไปเรื่อยๆ จนตาย แต่เราทำอะไรได้มากและดีกว่านั้น แล้วทำไมไม่ทำล่ะ เอาความสามารถที่มี พี่น้องเพื่อนฝูงทั้งหมดที่มีแล้วโดดลงมาเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดแทนที่จะเป็นแค่คนที่สดับฟัง แล้วก็ปล่อยให้มันไหลผ่านหูไปวันๆ

แน่นอนว่าทุกคน มันมีจุดหนึ่งแหละที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกลำบาก รู้สึกท้อ หมดหวัง แต่ในเวลาที่เรารู้สึกแบบนั้น ก็ยังมีคนที่หนักหนากว่าเรา แบกเสื้อเกราะหนักกว่าเรา ต้องถือปืนเสี่ยงทุกวินาทีแทนเรา อีกสิ่งสำคัญ เรามีพระเจ้าอยู่หัวเป็นแบบอย่าง ท่านเหนื่อยกว่าเราหลายร้อยเท่า ท่านไม่เคยบ่น ท่านไม่เคยท้อ ท่านทำงานทุกวัน และที่ทำก็เพื่อคนอื่น นี่คือขุมพลังและแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่มากที่ผลักดันให้เราอยากทำโครงการนี้ให้มันไปถึงปลายทาง ถ้าเราอยู่คนเดียว เราก็อาจเป็นแค่ก้อนกรวดเล็กๆ ก้อนหนึ่ง แต่ถ้ากรวดทุกก้อนมารวมกันมันก็สร้างรั้วที่แข็งแรง คนในบ้านก็อยู่สบาย ข้อสำคัญพ่อเราจะไม่เหนื่อย นั่นคือสิ่งที่สูงสุดที่พวกเราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก่อนหน้าที่จะมาทำโครงการนี้ เราเสียน้ำตาไปเยอะ แต่น้ำตาของเมื่อ 6 ปี ก่อน กับน้ำตาของวันนี้มันต่างกันมาก RUN HERO RUN ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกของคำว่าปิดทองหลังพระ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนผ่านทุกพระราชกรณียกิจของพระองค์หมายความว่าอะไร สำหรับคนไทย คำว่าน้ำใจมันอยู่ในสายเลือด แล้วนี่พี่น้องเรา มันนิ่งดูดายไม่ได้ แม้เราไม่สามารถไปสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขาได้ แต่โครงการนี้หยิบยื่นโอกาสให้เราได้ทำหน้าที่คนไทยกับการเป็นกำลังใจ กับการเป็นส่วนหนึ่งที่จะปกป้องเขาในวิถีที่เราทำได้

IMG_3883_low res

Q: อะไรคือความสุขของการทำโครงการนี้ และสิ่งได้ที่จากการทำงานร่วมกัน? 

A: ความสุขของการทำโครงการนี้คือการได้ทำงานร่วมกับทุกคน ได้เจอกับทีมงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน เชื่อมั่นในกันและกัน จากจุดเล็กๆ อย่างหมูทอดที่เรานั่งทำเพื่อส่งไปให้พี่ทหาร ขับรถเพื่อไปเอาเครื่องสังฆทานมานั่งแกะแล้วส่งลงไปในพื้นที่ ซึ่งแม้แต่ครอบครัวก็ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าสิ่งที่ทำ เราทำไปเพื่ออะไร จากที่ไม่เคยรู้ว่าเลยว่าความอิ่มใจมันอบอุ่นและมีพลังขนาดไหนก็ได้มารู้จากการทำโครงการ RUN HERO RUN

พวกเราคงจะเสียดายมาก และจะเสียใจยิ่งกว่าถ้าไม่ได้ทำงานนี้ สุขที่สุดคือการได้เห็นน้ำใจที่หลั่งไหลมาจากคนรู้จักและไม่รู้จักที่ซึ่งไม่มีใครคิดว่ามันจะล้นหลามมากจริงๆ ประเทศนี้มันอาจจะมีมุมที่ไม่ดีไม่สวยงามอยู่บ้าง แต่พวกเราก็สร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้เสมอ และงานนี้คงจะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่ได้ทีมงานที่ดีที่พร้อมส่งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิด ทำให้มาถึงจุดที่เราสามารถรวบรวมสตางค์ทำเสื้อเกราะได้ถึง 240 ตัว เชื่อว่าทีมงาน RUN HERO RUN คงภูมิใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ และต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้ทั้งต่างฝ่ายต่างรู้ว่าเราไม่ได้ต่อสู้ตามลำพัง

IMG_3918_low res IMG_3875_low res IMG_3874_low res

อ้างอิง: Facebook.com/rRunHeroRunThailand
ภาพ: Ketsiree Wongwan

บันทึก

บันทึก