‘เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ’ กับโปรเจ็กต์ The Guidelight ให้คนตาบอดเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

22

ครั้งหนึ่ง Mark Twain เคยกล่าวไว้ว่า “ความเอื้ออารีคือภาษาที่คนหูหนวกได้ยินและคนตาบอดมองเห็น” และความเอื้ออารีแบบเดียวกันนี้แหละคือสิ่งที่เราสัมผัสได้จาก จูน – เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ ‘The Guidelight’ โครงการที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเพื่อขยายทางเลือกให้น้องตาบอดมีโอกาสเรียนหนังสือด้วยสื่อการสอนที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย การเป็นตัวกลางและเสียงสะท้อนที่ช่วยกระชับช่องว่างของเด็กตาบอดและสังคมให้แคบลง ตลอดจนเป็นประกายไฟแห่งความหวังดวงเล็กๆ ที่ทำให้หัวใจของคนตาบอด รวมถึงตัวเราเองพองโตระดับมหาศาลเชียวล่ะ

IMG_4959_low res

Q: ก่อนโปรเจ็กต์ The Guidelight เริ่มต้น จูนทำอะไรมาก่อน?

A: จูนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอเรียนจบ ก็ทำงานที่ AIS ครบสัญญา 1 ปี ก็ออกจาก AIS แล้วมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมค่ะ

Q: แล้ว The Guidelight เกิดขึ้นตอนไหน?

A: ต้องเท้าความตั้งแต่ช่วงที่จูนเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งที่นี่จะรับเด็กตาบอดมาเรียนใน 3 สาขาหลักๆ คือ นิติศาสตร์ สังคมสงเคราะห์  และรัฐศาสตร์ ตอนเรียนนิติฯ จูนมีเพื่อนสนิทคือพี่นิว (นุวัตร ตาตุ) ช่วงนั้นเรียนจบกันแล้ว พี่นิวก็วานให้จูนช่วยอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้าปริญญาโทด้านกฎหมายเพราะพี่นิวอยากเป็นอาจารย์ ตอนที่พี่นิวขอให้ช่วย จูนก็อ่าน ไม่ได้คิดอะไร วันประกาศผล พี่นิวโทรมาบอกว่าพี่นิวสอบติดแล้วนะ ซึ่งพี่เขาจะเป็นนักศึกษาปริญญาโทของจุฬาลงกรณ์คนแรกที่เป็นคนตาบอด คือตอนเรียนปริญญาตรี จูนก็เคยอ่านนะ แต่ก็ไม่เคยรู้สึกอะไรขนาดนั้น แต่วันนั้นที่พี่นิวโทรมา จูนรู้สึกว่า เฮ้ย…ชีวิตเรามีประโยชน์ขนาดนี้เลยเหรอ มันเลยจุดประกายว่าถ้าอย่างนั้นเราควรต้องทำอะไรบางอย่างแล้วล่ะ ซึ่งช่วงนั้นจูนเรียนที่ มศว. และมีโอกาสได้เจอกับพี่นุ้ย (พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์) จาก Ashoka Thailand ก็เลยปรึกษาพี่นุ้ยถึงสิ่งที่อยากทำ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาอย่างไร เพราะแบคกราวน์เราคือนิติศาสตร์ ไม่เคยจับเรื่องสังคม ส่วนเรื่องธุรกิจก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรเขื่อมโยงเลย สิ่งที่มีอย่างเดียวคือการมีเพื่อนตาบอด จูนสามารถช่วยคนตาบอดได้ในแบบที่จูนทำได้เท่านั้น พี่นุ้ยก็แนะนำให้จูนไปหาข้อมูลเพิ่ม เพราะคนตาบอด segment มันกว้างมาก 7 แสนคน จูนช่วยทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยเริ่มจากการแบ่งว่ามีกลุ่มไหนบ้าง และแต่ละกลุ่มต้องการความช่วยเหลืออะไร และสิ่งที่เรารู้มันแมทชิ่งกับอะไร

Q: ตอนที่ทำรีเสิร์ช ปัญหาหลักๆ ของน้องตาบอดคืออะไร และความต้องการของแต่ละกลุ่มคืออะไรบ้าง?

A: สิ่งที่เจอตอนนั้นก็มีหลายอย่าง หลักๆ คือเรื่องโอกาสในการเรียน คือการเรียนของเด็กตาบอดจะเริ่มเรียนจากโรงเรียนสอนคนพิการ พอขึ้นประถมก็จะแยกมาเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอด ซึ่งโรงเรียนสอนคนตาบอดจะคัดเด็กเพื่อสอบเข้าโรงเรียนมัธยม โดยน้องๆ จะเข้าไปเรียนที่โรงเรียนเรียนร่วม นั่นคือเรียนร่วมกับเด็กปรกติเลย ซึ่งระหว่างประถมไปมัธยม จำนวนเด็กที่ได้เรียนต่อก็จะถูกตัดไปเยอะเหมือนกัน โรงเรียนจะต้องคัดเด็กที่คาดว่าน่าจะเรียนจบไป เพราะว่าถ้าเด็กเกเรไปเรียนแล้วไปทำพฤติกรรมไม่ดี โรงเรียนเรียนร่วมก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้โควต้าในปีต่อไป เพราะฉะนั้นก็จะต้องคัดเด็กที่โรงเรียนมั่นใจว่าคนนี้จะไปแล้วดี ไปแล้วอยู่รอดได้ ซึ่งวิธีนี้ทำให้เด็กๆ หลุดจากตรงนี้ไปเยอะเหมือนกัน แล้วเด็กมัธยม การเรียนก็จะมีเรื่องสายวิทย์สายศิลป์อีก ซึ่งสายวิทย์ก็จะมีปัญหา เช่น เรียนแล็บจะเรียนอย่างไร เขียนสูตรเขียนอย่างไร พอหลุดช่วงนี้มาก็จะมีน้องตาบอดกลุ่มที่เลือกจะไม่เรียนต่อปริญญาตรี จูนก็สงสัยว่าทำไม? สิ่งที่น้องบอกก็คือ เขารู้สึกว่าเรียนไปเขาก็ไม่มีงานทำอยู่ดี เขาเห็นหลายคนที่เรียนจบมาแล้วก็ยังต้องมาทำอาชีพร้องเพลง ขายล็อตเตอรี่ คอลเซ็นเตอร์ นวด บางคนก็เลือกอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปไหนก็มี เพราะฉะนั้นน้องๆ จะคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นไม่เรียนดีกว่า เพราะเสียเวลาตั้ง 4 ปี เสียเงินด้วย ทำให้จำนวนเด็กที่เรียนต่อมีน้อยลงไปอีก

11782432_940199262689853_6592858024715872773_o

Q: ถ้าอย่างนั้น กลุ่มเป้าหมายของ The Guidelight คือน้องๆ กลุ่มไหน?

A: The Guidelight เริ่มต้นจากกลุ่มมหาวิทยาลัยก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่อัตราส่วนเด็กตาบอดเข้ามหาวิทยาลัยได้น้อย และในจำนวนที่น้อยก็ยังเรียนไม่จบ ซึ่งถ้าเราช่วยคนกลุ่มนี้ได้ ทำให้เด็กมหาวิทยาลัยเป็นแบบพี่นิวได้ เขาจะไม่ต้องพึ่งพารัฐ คนยอมรับ ที่สำคัญคือเขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ซึ่งถ้าโมเดลนี้สำเร็จ เราสามารถนำโมเดลนี้ไปช่วยมัธยมต่อได้ เด็กมัธยมก็จะเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น

11836531_1014815395219622_1009802661_o

Q: The Guidelight ช่วยเหลืออะไรน้องตาบอดในแง่ไหนบ้าง?

A: สิ่งที่ The Guidelight สนใจคือการเปลี่ยน mindset ของทั้งสังคมและตัวคนตาบอดเอง จากเดิมที่เราจะติดภาพคนตาบอดขอทาน นวด หรือเล่นดนตรี ไปสู่การเรียน การทำงานแบบที่เขาอยากจะทำ อยากจะเป็นจริงๆ อย่างกรณีของพี่นิว จากเดิมที่ทำงานที่มีพี่นิวคนเดียวเป็นคนตาบอด ตอนนี้ก็มีคนอื่นๆ ที่เป็นคนตาบอดเข้ามาทำงาน เพราะคนเห็นแล้วว่าคนตาบอดทำงานได้ไม่ต่างจากคนปกติ มันอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการมองเห็น แต่ในตัวเนื้องาน เช่น ความสามารถในการอ่านกฎหมายหรือการวิเคราะห์กฎหมายไม่ได้ต่างกันเลย

Q: จากเป้าหมายที่วางไว้ถูกขยายไปสู่ผลลัพธ์อะไรบ้าง?

A: สิ่งที่ The Guidelight ทำมีทั้งหมด 4 เรื่อง

เรื่องแรก จากการที่เราไปดูสาเหตุของนักศึกษาตาบอดที่เรียนไม่จบปริญญาตรี ก็พบว่าเพราะเขาไม่มีสื่อการเรียนที่ดีพอ ซึ่งวิธีการที่เด็กตาบอดจะเข้าถึงหนังสือเรียนได้ก็จากการวานเพื่อนให้ช่วยอ่าน ยกตัวอย่าง เช่น หนังสือนิติฯ ที่มีเป็นพันๆ หน้า กว่าจะได้หนังสือมาก็ประมาณ 1 เดือนขั้นต่ำ หรือไม่ก็ 7 วัน ก่อนสอบ ซึ่งมันอ่านไม่ทัน น้องๆ จะหมดเวลาไปกับการหาหนังสือเรียนที่มันอยู่ในฟอร์แมทที่สามารถอ่านได้ The Guidelight จึงเข้าไปทำงานร่วมกับศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราประกาศรับอาสาสมัครที่จะมาช่วยพิมพ์เนื้อหาจากกระดาษเล็กเชอร์ของเพื่อนและตัวอย่างข้อสอบที่เด็กนิติฯ ต้องทำก่อนสอบเพื่อนำเข้าสู่เว็บไซต์ของ The Guidelight ให้หมด เมื่อมันเป็นไฟล์ document ในคอมพิวเตอร์เรียบร้อย เด็กตาบอดจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย ‘โปรแกรมพีพีเอตาทิพย์ (PPA Tatip)’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘โปรแกรมตาทิพย์’ ที่ใช้ช่วยอ่าน ซึ่งคนปรกติ 1 คน จะพิมพ์ text ได้ประมาณ 10 หน้า บางคนใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ทำเสร็จแล้ว เลยกลายเป็นว่าอาทิตย์เดียวเด็กตาบอดได้หนังสือและชีทอ่านแล้ว มันก็เร็วขึ้นเยอะ แล้วพี่ที่ศูนย์ฯ ก็น่ารักมากคือถ้าอาสาสมัครพิมพ์ให้เสร็จเรียบร้อย พี่ๆ จะรวมและส่งอีเมลเข้าหาเด็กตาบอดเลย

เรื่องที่สอง คือการสร้างความเข้าใจให้กับอาจารย์ผู้สอนในกรณีที่มีนักศึกษาตาบอดอยู่ในห้องเรียนว่า อาจารย์สามารถช่วยอะไรได้บ้าง ลองนึกภาพง่ายๆ เลย อย่างเด็กปี 1 ที่เรียนวิชารวม มีเด็กเป็นพันเลยนะคะ แล้วเด็กตาบอดก็เหมือนเด็กปรกติที่เขามีทั้งกล้าไปบอกอาจารย์เลยว่าผมตาบอด กับไม่กล้าก็คืออยู่ในห้องแบบนั้น The Guidelight เลยทำ toolkit เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่เราจะให้เด็กตาบอดเอาไว้สำหรับนำไปให้อาจารย์ทุกคาบก่อนเรียนเพื่อบอกว่าอาจารย์มีเด็กตาบอดอยู่ในคลาสนะ และถ้ามีพวกเขา อาจารย์สามารถทำอะไรได้บ้างที่เอื้อให้เด็กเข้าใจในวิชานั้นได้ดีขึ้น เช่น เวลาอาจารย์เปิดวิดีโอ เด็กตาบอดจะไม่รู้เรื่องเลยนะ แต่ถ้าอาจารย์บรรยายเพิ่มเติมคร่าวๆ สัก 5 นาที ให้ทั้งคนตาบอดและตาดีรู้เรื่องก่อนว่ามันจะเป็นเรื่องอะไร แล้วค่อยเปิด มันก็ช่วยได้แล้ว หรือการสอบควิซที่ต้องเขียน ตาบอดเขียนไม่ได้ อาจารย์ให้ส่งอีเมลตามหลังได้ไหม คือเราจะพยายามคิดทางออกให้อาจารย์ด้วย ไม่ใช่แค่เขารู้ว่ามีปัญหา แต่ต้องหาวิธีแก้เอง และเมื่ออาจารย์ทราบ มันอาจจะนำมาซึ่งการจัดห้องเรียนให้เหมาะกับคนตาบอดมากขึ้นในอนาคตได้ด้วย

tgl toolkits

เรื่องที่สาม เราทำ story telling ถ่ายทอดเรื่องราวของคนตาบอด อย่างที่บอกว่าคนทั่วไปเห็นมุมมองของเด็กตาบอดแค่เป็นวนิพก แต่เอาเข้าจริงเด็กตาบอดที่เก่งมีเยอะ เราก็เลยเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กตาบอดลงในเฟซบุ๊ค The Guidelight ของเรา ซึ่งการเล่าเรื่องมันช่วยขยายโอกาสให้เด็กตาบอดบางคนที่เขาต้องการการสนับสนุนมีกระบอกเสียงอีกทาง ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า ได้รับการยอมรับ มี self motivation โดยที่เราไม่ต้องสอนเขา

ส่วนสุดท้าย คือการจับคู่บัดดี้กับเด็กปกติที่สามารถพาเขาไปถึงห้องเรียน โรงอาหาร ไปลงทะเบียนได้ ซึ่งจะเป็นแค่ช่วงแรกๆ เพื่อให้น้องๆ รู้สถานที่เพราะจากการที่คุยกับน้องตาบอด เขาจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการทำแผนที่สถานที่ต่างๆ ในหัว ทีนี้เราก็เลยพยายามจะแมทชิ่งบัดดี้ให้มาช่วยเด็กตาบอด แต่ปัญหาที่เจอตอนนี้คือเด็กปรกติจะกังวลว่าเขาจะทำได้ไหม เราก็เลยจัดทริปให้เด็กตาบอดและตาดีไปเที่ยวด้วยกันก่อนเพื่อละลายพฤติกรรม ซึ่งเขาก็พบว่ามันไม่มีอะไรน่ากังวลเพราะสิ่งที่จะช่วยก็แค่เป็นเพื่อน ซึ่งมันไม่ได้ยากเกินความสามารถเขาเลย ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าปีต่อไปจะต้องทำกิจกรรมที่ให้คนปรกติมีโอกาสได้สัมผัส ได้สนุกกับคนตาบอดก่อน แล้วค่อยเอาคนกรุ๊ปนี้แหละมาเป็นบัดดี้ให้กับเด็กตาบอด

IMG_4896_low res

Q: นอกจากทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว มีการทำกิจกรรมหรือสื่อกลางอื่นๆ ในการช่วยน้องๆ อีกบ้างไหม?

A: นอกจากการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนด้วยภารกิจทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว เราอยากให้ทั้งเด็กตาดีและเด็กตาบอดสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้ เช่น การจัดเวิร์คช็อปที่จะช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ แต่พอจะจัดเวิร์คช็อปที่ช่วยเด็กตาบอด ปัญหาก็คือถ้าเราให้เขาไปหาความรู้ต่อด้วยการอ่านหนังสือเล่มนี้นะ มันจะเริ่มเป็นอุปสรรคแล้ว เพราะเด็กตาบอดจะใช้การฟัง ทีนี้จะทำอย่างไรให้น้องได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ต่อยอดจากสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งถ้าเป็นคนปรกติ เราได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เราสามารถกวาดตามองได้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ซึ่งเราสามารถอ่านหัวข้อแล้วเจาะตรงนั้นได้ แต่ตาบอดทำสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยเขาได้ก็คือการมีสื่อกลางที่สามารถสรุปใจความสำคัญเพื่อให้เขาจับประเด็นได้ง่ายขึ้น สามารถสร้าง mind map ในหัวได้ง่ายขึ้น นี่เลยเป็นที่มาของ ‘Brief Book’ ที่เราจะสรุปเอาใจความสำคัญของหนังสือมารีวิว ด้วยวิธีนี้เด็กตาบอดจะสามารถเข้าถึงหนังสือได้แล้ว โดย Brief Book จะเป็นหนังสือแนวพัฒนาตัวเองที่จะสรุปเอาแก่นที่สามารถให้คนเข้าใจได้ภายใน 15 นาที ซึ่งคนตาดีเองก็สามารถใช้ Brief Book เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจเวลาจะซื้อหนังสือสักเล่มได้ด้วย เหมือนได้อ่านรีวิวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร คือไหนๆ จะทำแล้ว ก็ให้มันได้ประโยชน์ทั้งสองกลุ่มเลย

Q: กำลังสงสัยว่าแล้วน้องตาบอดเขาไม่ได้อ่านด้วยอักษรเบรลล์กันเหรอ?
A: ปัญหาก็คือการอ่านอักษรเบรลล์มันช้ามาก เพราะฉะนั้นการฟังจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า แล้วน้องตาบอดบางคนเขาตาเลือนลางมาก่อนแล้วค่อยบอด น้องกลุ่มนี้จะอ่านเบรลล์ไม่เก่ง เพราะเขาเรียนอยู่โรงเรียนปรกติที่จะใช้เครื่องขยายให้ตัวอักษรใหญ่ก็อ่านได้แล้ว ไม่ต้องเรียนเบรลล์ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ เวลาอ่านเบรลล์เขาจะต้องแปลงภาษาเบรลล์ให้เป็นภาษาไทยก่อน ซึ่งมันก็จะช้า การฟังเลยจะมีประสิทธิภาพที่สุด สำหรับเบรลล์จะสำคัญในช่วงประถมเพราะมันจะทำให้เขาเรียนรู้เรื่องตัวอักษรได้ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ตัวหนังสือจะเยอะมาก อ่านเบรลล์กันไม่ไหวแล้ว

Q: ‘โปรแกรมตาทิพย์’ ที่จูนบอก มันมีวิธีการทำงานอย่างไร?
A: ตาทิพย์เป็นโปรแกรมอ่านหน้าจอ ซึ่งการทำงานคือมันจะอ่านทุกอย่างที่อยู่บนหน้าจอ จากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง คนตาบอดจะควบคุมโดยการกดขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา ถ้าปรกติมันก็จะอ่านไปเรื่อยๆ แต่ก็จะมีคีย์ลัดเหมือนกัน เช่น ถ้าจะให้อ่านเฉพาะ heading ก็กดตัว H หรืออยากให้อ่านตรง link ก็กดตัว L หรือถ้าอยากให้อ่านรูปภาพก็กดตัว G มันก็จะอ่านออกมาเป็นเสียง ซึ่งคนเขียนเว็บก็ต้องใส่คำบรรยายว่ารูปภาพเป็นอะไร เกี่ยวกับอะไร ตาบอดก็จะรู้ว่ารูปภาพนี้เป็นแบบนี้นะ

mad

Q: แล้วตัวเว็บ theguide-light.com ถูกออกแบบให้แตกต่างจากเว็บไซต์ปรกติ รวมถึงเชื่อมโยงกับโปรแกรมตาทิพย์อย่างไร?

A: เราจะเขียนเว็บให้เอื้อต่อการใช้งานสำหรับคนตาบอด เช่น ถ้าเป็นรูปภาพ เราจะใส่คำบรรยายรูปภาพที่ชัดเจนเพื่อที่โปรแกรมจะอ่านได้ว่ามันเป็นรูปภาพอะไร สำหรับเนื้อหา ก็จะมีส่วนที่เรียกว่า skip to main menu ซึ่งการทำงานก็คือมันจะไม่อ่านหัวข้อข้างบน แต่จะข้ามไปอ่านที่เนื้อหาหลักเลย ซึ่งถ้าไม่มีตัวนี้ เด็กตาบอดเข้าเว็บหน้าไหนก็ตามมันจะอ่าน head ข้างบนทั้งหมด ซึ่งเยอะมาก อาจจะเสียเวลาไปเลย 10 นาที หรือตัวที่เป็น link เมื่อกดตัว L มันจะอ่านว่าอ่านต่อ ถ้าเราไม่ได้ใส่โค้ดไว้ พอตาบอดกด L มันก็จะพูดว่า ‘อ่านต่อ’ ส่วนนี้เราก็เลยใส่คำบรรยายไปตรง link ว่าอ่านต่อที่ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง คนตาบอดก็จะเลือกได้ว่าอยากอ่านอะไร เราพยายามออกแบบเว็บให้คนตาบอดทำงานง่ายและเร็วขึ้น โดยจะเขียนโปรแกรมให้สอดคล้องกับการใช้งานโปรแกรมอ่านหน้าจอหรือโปรแกรมตาทิพย์มากที่สุด ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ก็จะเหมือนกับเว็บปรกติ

IMG_4944_low res

Q: หลังจากคลุกคลีกับการศึกษาไทยมาพอสมควร จูนมองว่าระบบของประเทศเราควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนเพื่อให้รองรับน้องตาบอดมากขึ้น ปัญหาที่มีคืออะไร และคิดว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอะไรบ้าง?

A: จูนคิดว่าสื่อการเรียนสำคัญที่สุด การที่จะรับเด็กตาบอดเข้ามา สถาบันการศึกษาจะต้องคิดว่าต้องทำอย่างไรให้เขามีสื่อการเรียนด้วย มันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยที่มีเด็กตาบอดจะต้องคิดเป็นอันดับแรกเลย ถ้ารับเขาเข้ามาแล้ว แต่ไม่มีสื่อการเรียน มันก็เหมือนการที่เด็กปกติไม่มีหนังสือให้อ่านสอบ เขาก็สอบไม่ผ่านเหมือนกัน รวมไปถึงห้องเรียนแบบไหนที่เอื้อกับเด็กตาบอด

12809802_1042643859112059_2011491957676408417_n

Q: ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เขาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนตาบอดมากน้อยขนาดไหน?

A: ยกตัวอย่างเช่นในอเมริกา เขาให้ความสำคัญเยอะมาก จูนมีโอกาสได้คุยกับพี่ตาบอดที่ไปเรียนที่อังกฤษกับอเมริกา พี่เล่าให้ฟังว่าพอเข้าเรียนปุ๊บ นอกจากทางมหาวิทยาลัยจะมีข้อมูลของเด็กตาบอดคนนั้นแบบละเอียดยิบแล้ว เขาจะจ้าง outsource มาเลย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีหน้าที่คุยกับเด็กตาบอดตัวต่อตัวเลยนะว่าคุณตาบอดขั้นไหน ต้องการการสนับสนุนด้านไหนบ้าง เพราะตาบอดแต่ละคนลงเรียนคนละวิชา การซัพพอร์ตย่อมต่างกัน เช่น พี่คนหนึ่งเรียนแล็บเคมี เพราะฉะนั้นเขากำหนดมาเลยว่าคุณต้องการผู้ช่วย 3 คน คนแรกจะเป็นคนจดเล็คเชอร์ คนที่สองเป็นคนบรรยายว่าข้างหน้าคืออะไร คนที่สามจะเป็นคนจับมือคุณทำแล็บ ส่วนที่ไทยยังไม่มีการซัพพอร์ตที่ครบวงจรแบบนั้น

Q: ขอย้อนมาที่ตัวจูนบ้าง การเลือกมาทำโครงการ The Guidelight ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่แตกต่างจากขนบของเด็กจบใหม่คนอื่นๆ มากพอสมควร คนรอบข้างมีความเข้าใจในสิ่งที่เราทำมากแค่ไหน และเราสร้างความเข้าใจให้เขาอย่างไรบ้าง?

A: ช่วงแรกแม่กับป๊าจูนก็ไม่ได้เข้าใจ แต่เขาพยายามทำความเข้าใจกันมาก..ว่ามันคงดี แม้จะไม่เข้าใจเลยก็ตาม (หัวเราะ) แต่ถามว่าห่วงไหม เขาห่วง ก็จะถามอยู่เรื่อยๆ ว่าจูนจะสมัครงานต่อไหม เพราะช่วงนั้นจูนแทบไม่มีรายได้อะไรเลย ก็ต้องขอเงินเขาทุกเดือน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่เริ่มกังวลว่าถ้าเขาแก่ตายไปเราจะทำอย่างไร ใครจะมาให้เงินเรา ถ้าเราทำอันนี้แล้วมันอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ป๊าโทรมาทุกเช้าเพื่อถามว่าสิ่งที่จูนทำมันจะมีอนาคตจริงๆ ไหม เขาค้าขายซึ่งมันจะได้เงินมาทันที แต่สิ่งที่เราทำไมได้เงิน ตัวเองก็ไม่ได้อะไร แล้วจะทำไปทำไม แต่พี่ๆ ของจูนทั้ง 3 คนเขาเข้าใจเราเลย แล้วพี่ๆ จูนก็บอกว่า ตอนนี้จูนอายุยังน้อย ล้มอีก 2 ปี ก็ไม่เป็นไร ถึงแม้จูนทำโครงการนี้แล้วมันล้ม ต้องกลับไปทำงานประจำ แล้วเล่าให้ HR ฟังว่าจูนออกมา 2 ปี เพื่อทำอะไร พี่ๆ จูนไม่เชื่อว่าเขาจะไม่ให้โอกาส แต่ถ้าสิ่งที่จูนทำสำเร็จ จูนก็จะได้ทำสิ่งที่รักและสามารถอยู่กับมันได้ตลอดชีวิต มันคุ้มที่จะเสี่ยงนะ พี่ๆ จะเป็นสายซัพพอร์ตและช่วยประนีประนอมป๊ากับแม่ให้ แล้วจูนก็โชคดีที่จูนมีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจด้วย ซึ่งเพื่อนๆ ก็มาช่วยเราโดยทำเป็นพาร์ทไทม์ให้กับ The Guidelight ซึ่งคนรอบข้างเหล่านี้แหละที่ทำให้จูนรู้สึกไม่ท้อจนเกินไป คือถ้าจูนยังเป็นพนักงานประจำ ซึ่งมันก็ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดีนะ แต่สิ่งที่จูนทำตอนนี้ ถ้าอีก 5 ปี มันเห็นผล จูนจะเป็นคนหนึ่ง แม่จะมีลูกคนหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น เพราะสิ่งที่จูนทำผลกระทบมันไม่ได้แค่ตัวเอง มันได้คนรอบข้างด้วย

ที่นี้จุดเปลี่ยนก็คือจูนได้งานเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ แล้วก็เริ่มเลี้ยงตัวเองได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือทางซัมซุงมาทำคลิปเป็นเรื่องราวของจูน เพื่อนแม่เห็นก็เปิดให้แม่ดู แม่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่จูนทำมันเริ่มจับต้องได้แล้ว จากเดิมที่ดูจับอะไรไม่ได้เลย พอมันเห็นผลมากขึ้น แม่ก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ดี ตอนนี้ถามว่าเงินจูนเยอะไหม คือเราก็ต้องยอมเลือกเนอะ ถ้าเราเลือกจะทำตรงนี้ อยากได้เงินเยอะๆ มันก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องเสียสละอะไรบางอย่าง ซึ่งจูนรู้สึกว่าถ้าใช้ชีวิตให้น้อยลง แต่ได้ทำสิ่งที่เรารักแล้วถ้ามันคุ้มค่า ก็จบแค่นั้นเอง

Q: แล้วตอนนี้ป๊าเป็นไงบ้าง?

A: ป๊าภูมิใจมาก จูนจะบอกป๊าตลอดว่าวันนี้เราต้องไปพูดที่นี่นะ ไปพูดให้น้องที่นี่ฟัง ป๊าก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันดีจริงๆ ถึงตอนนี้แม้ป๊าจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจูนทำอะไรในรายละเอียด แต่เขารู้สึกแล้วว่าสิ่งที่จูนทำน่าจะพอเลี้ยงตัวเองได้ไปรอดและมันดี

Q: อย่างที่จูนบอกว่ารายได้มันไม่ได้เยอะ แล้วจูนคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัว The Guide Light สามารถรันไปได้เรื่อยๆ?

A: ปีแรกมันเป็นช่วง explore ว่าเราจะทำอย่างไรที่ช่วยให้เด็กตาบอดให้เรียนจบได้จริง เราไม่ได้โฟกัสที่โมเดลทางธุรกิจเลย ซึ่งมันจะไม่ยั่งยืนอยู่แล้วเพราะเราต้องขอเงินสนับสนุนจากคนอื่น ตอนนี้จูนโชคดีที่ได้เงินจากกระทรวงพัฒนาสังคมและ Ashoka Thailand มาตั้งต้น ที่นี้จูนรู้สึกว่าถ้าเราต้องไปขอเรื่อยๆ เพื่อมาหล่อเลี้ยงโปรเจ็กต์มันไม่อยู่รอด ตอนนี้อย่างที่บอก The Guidelight เลยทำ Brief Book ซึ่งเราก็ส่งไปแข่งที่บ้านปูก็ได้เงินสนับสนุนมา 50,000 บาท เพื่อรันตัว Brief Book ขึ้นมา โดยจูนหยิบเอาโมเดลธุรกิจที่อเมริกามาใช้ ซึ่งเป็นเว็บสรุปหนังสือให้คนมา subscribe โมเดลก็คือการเปิดให้คนที่สนใจจ่ายเงินเป็นรายเดือน อาจจะเดือนละ 80 บาท เพื่อแลกกับการได้อ่านสรุปหนังสือแบบไม่จำกัดเลย และถ้าอยากจะสั่งหนังสือเล่มนั้นๆ ก็สามารถกดสั่งได้จากเว็บของเรา โดย The Guidelight จะได้ค่าคอมมิชชั่นจากสำนักพิมพ์ ทำให้เราจะมีรายได้ 2 ทาง ทั้งจากคนที่สมัครมา subscribe แบบรายเดือน ที่จะมีการปันเงินครึ่งหนึ่งจากตรงนี้ไป feed ให้ The Guidelight เพราะฉะนั้นคนอ่าน Brief Book ทุกคน นอกจากจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว เงินส่วนหนึ่งของเขาจะช่วยให้เด็กตาบอดเรียนจบได้ด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้โครงการอยู่ได้โดยไม่ต้องรอเงินบริจาคหรือรอการสนับสนุน

ใช้ใจ2 ใช้ใจ

Q: แล้วตอนนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?

A: Brief Book ตอนนี้อยู่ในขั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ค่ะ กำลังหาคนมาทดลอง เพราะอยากรู้ว่า Brief Book แบบไหนที่คนจะชอบ ที่คิดไว้เราจะทำทั้งแบบสรุปและแบบออดิโอ อยากให้ตาบอดฟังได้ด้วย ตอนนี้เลยเปิดรับสมัคร 100 คนแรก ทั้งคนทั่วไปและคนตาบอดที่จะมาช่วยมาพัฒนาโปรดักท์ของเรา ช่วยให้ฟีดแบ็คว่าแบบนี้ชอบไหม ชอบหรือไม่ชอบอะไร แผนระยะยาว เราอยากให้เด็กตาบอดเป็นคนอัดเสียงออดิโอนี้เอง เพราะคนทุกคนที่จ่ายเงินก็อยากฟังเสียงออดิโอที่เป็นเสียงคนจริงๆ ไม่ใช่เสียงสังเคราะห์ แล้วถ้าจะจ้างคน แทนที่เราจ้างคนนอก สู้เอาเงินตรงนี้ไปจ้างน้องตาบอดของเราดีกว่า เขาก็จะได้อ่านออดิโอนี้ด้วยเสียงของเขาเอง ซึ่งนั่นก็จะเป็นอีกส่วนที่จะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีค่า ที่แพลนไว้คือถ้าเทสต้นแบบเสร็จ อีก 2-3 เดือนก็อยากให้คนลองมาสมัครสมาชิกก่อน รับฟีดแบ็คแล้วก็แก้ไข อีก 3 เดือนค่อยเริ่มเก็บเงินคนที่ใช้จริงๆ ค่ะ

Q: ตอนนี้ The Guidelight มีคนทำงานทั้งหมดกี่คนและแบ่งหน้าที่กันอย่างไร?

A: ตอนนี้มี 3 คน ค่ะ จูนจะดูภาพรวมต่างๆ ทางด้านการพัฒนาอะไรต่างๆ ใน The Guidelight หาข้อมูลว่าเด็กตาบอดต้องการอะไร คุยกับลูกค้าเพื่อหาเงินสนับสนุน ส่วนสตางค์ (พลเดช อนันตชัย) จะดูเรื่องเว็บไซต์ แล้วก็ป่าน (ธัญชนก จิราภากรณ์) ทำเป็นพาร์ทไทม์ ดูแลเรื่องการตลาดและการสื่อสารต่างๆ

Screen Shot 2559-04-24 at 2.02.39 PM

Q: เท่าที่ฟังมา เงินไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้จูนอยากทำโครงการนี้เลย แล้วอะไรที่หล่อเลี้ยงให้เรามีแรงที่จะโครงการนี้ให้สำเร็จ?

A: จูนรู้สึกว่าตัวเองอาจจะถูกเลือกให้มาทำสิ่งนี้ ในวันที่พี่นิวโทรมาบอกว่าเขาสอบผ่านแล้วนะ เราทำให้ความฝันเขาเป็นจริง จูนเชื่อว่ามีเด็กตาบอดอีกหลายคนที่เขาเป็นแบบพี่นิวได้ ถ้าเขาได้เครื่องมือบางอย่าง ถ้าเขาเรียนจบและทำงานได้ มันแปลว่าเขาไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นอีกแล้ว เขาจะดูแลตัวเองและครอบครัวได้ จูนรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำมันมีค่าต่อคนกลุ่มนี้ที่ทางเลือกเขาไม่เท่ากับเรา และถ้าเราจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้เขาได้ เป็นทางเลือกที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาได้ มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้จูนอยากทำ เวลามีเด็กมาบอกว่าได้ชีทเร็วขึ้นหรือเขาดีใจที่มีคนมาชมและยอมรับเขา นั่นคือความสุขของจูน แต่จูนก็ไม่ได้โลกสวยว่าทำแบบนี้แล้วเลี้ยงตัวเองไม่ได้ขนาดนั้น คือมันก็ต้องบาลานซ์กันไป แค่ลดความอยากบางอย่าง เราก็มีพอที่จะเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ พอเป้าหมายมันเปลี่ยน มันก็มีเวลามาโฟกัสตรงนี้มากขึ้น

Q: ตอนนี้มีคนเข้ามาใช้งานใน The Guidelight เยอะแค่ไหน?

A: มีเด็กตาบอดประมาณ 30 คน ซึ่งที่ใช้หลักๆ คือที่ธรรมศาสตร์ เพราะเราโปรโตไทป์ที่นั่น ส่วนคนที่อาสาช่วยพิมพ์หนังสือที่ลงทะเบียนในระบบแล้วประมาณ 350 คน

Q: หลังจากนี้ มีแผนประชาสัมพันธ์อย่างไรให้คนทั่วไปหรือน้องๆ นักเรียน นักศึกษาให้รู้จักกับ The Guidelight มากขึ้นบ้าง?

A: ที่มองตอนนี้คือเรามีแผนอยากขยายไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย เช่น รามคำแหง สวนดุสิต แต่ตอนนี้เราพยายามจะทำโมเดลจากที่ธรรมศาสตร์ให้ครบก่อนว่า ถ้าเด็กตาบอดคนหนึ่งเข้ามาเรียน เขาต้องการการซัพพอร์ตอะไรจากเราบ้าง ตั้งแต่ปี 1-ปี 4 เลย เช่น วันปฐมนิเทศ เราดีลกับศูนย์คนพิการเลยว่าเราขอ 1 ชั่วโมงที่จะมาคุยกับเด็กตาบอดเพื่อให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความต้องการอะไร จัดอุปกรณ์ toolkit แผนที่ต่างๆ ที่จะให้เด็กตาบอดสามารถใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ ต่อมาคือการแมทชิ่งกับบัดดี้ สอนการใช้เว็บ โดยเราจะลองใช้โมเดลที่ว่าดูตอนเปิดเทอมปีนี้

Q: มีการวางแผนระยะยาวให้ The Guidelight บ้างไหม?

A: จูนอยากจะขยายให้ cover ได้ทั้งเด็กมหาวิทยาลัยและเด็กมัธยม เป้าหมายของ The Guidelight คือเราอยากผลิตเด็กตาบอดที่เป็นแบบพี่นิวให้ได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่ใช่แค่จบมหาวิทยาลัย เขาจะต้องมีงานทำ ได้รับการยอมรับ และเลี้ยงตัวเองได้ด้วย นั่นถึงจะถือว่า The Guidelight ประสบความสำเร็จ

IMG_4924_low res IMG_4934_low res IMG_4955_low res

อ้างอิง: The Guidelight
ภาพ: Ketsiree Wongwan