‘Trash Hero’ อาสาสมัครเก็บขยะจากทะเล เริ่มที่คิด คุย แล้วลุยเลย!

1วันจันทร์ของใครบางคนอาจเป็นวันที่พวกเขาได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ เข้าโรงเรียนใหม่ เริ่มงานใหม่ อยู่ในสถานที่แห่งใหม่ ได้เริ่มต้นเส้นทางใหม่ของชีวิต ขณะที่ใครอีกหลายคนไม่อยากให้วันนี้มาถึง เพราะมันคือการสิ้นสุดช่วงเวลาพักผ่อนและต้องกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริงกับการหาเลี้ยงชีพ แต่สำหรับ Trash Hero แล้ว วันจันทร์คือ ‘วันพิเศษ’ ของพวกเขา เพราะ Roman Peter, Darius, จิระวัฒน์ สมบูรณ์, นิรุธ ชูช่วง, พิทยากร รัตนสุวรรณ, Christian Widmer, Jessica Christensen, Jessica Mehl และ Thaisquid Oversea จะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงเต็มร่วมกับอาสาสมัคร ออกเรือเพื่อไปเก็บขยะในทะเล

ขยะกว่า 100 ตัน กับการทำงานกว่า 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาของพวกเขาบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง ทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจ ความสม่ำเสมอ และความเสียสละกับสิ่งที่หลายคนมองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา’ นี่แหละที่ทำให้พวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนและชุมชนแบบที่พวกเขาคาดไม่ถึงเลยทีเดียว และวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘พี่หมึก’ ตัวแทนจากกลุ่ม Trash Hero ถึงความเป็นมาของแคมเปญนี้ วิธีคิด และสิ่งที่พวกเขาทำกับการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะบนโลกใบนี้ รวมถึงผลกระทบของขยะที่มีต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทะเล ตลอดจนการชุบชีวิตใหม่ให้ขยะกลับมาสร้างประโยชน์ได้อีกครั้ง…

IMG_5868_low res

13324456_10153799957049037_594517099_o

Q: ขอย้อนกลับไปถึงครั้งแรกที่กลุ่ม Trash Hero รวมตัวกัน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

A: เราเริ่มต้นในเดือนธันวาคมปี 2013 จุดเริ่มหลังจาก Roman ไปเห็นขยะตามเกาะและชายหาดต่างๆ รอบเกาะหลีเป๊ะ ก็เลยมาชวนกันทำโปรเจ็กต์ Trash Hero พอสรุปกันได้ก็รวมตัวกันแค่ไม่กี่วัน แล้วก็เริ่มเลย ตอนเริ่มต้นเราแค่ชวนนักท่องเที่ยวตามร้านอาหาร ตามบาร์ ซึ่งไม่ได้หวังอะไร ความคิดตอนนั้นคือแค่ลุยไอ้ขยะกองนั้นเท่านั้นเอง เราเริ่มกันวันจันทร์เป็นครั้งแรก มีกลุ่มลีดเดอร์และอาสาสมัคร 10 กว่าคน พอครั้งแรกมันผ่านไปแบบเรียบง่าย มันก็เกิดการพูดคุยขึ้นว่า แล้วมันจะมีขยะที่จุดอื่นอีกไหม เลยเริ่มออกสำรวจ จนกระทั่งพบว่ามันมีมากกว่าที่เราคิด ซึ่งเราเข้าใจผิดมาตลอดว่าขยะพวกนั้นมาจากนักท่องเที่ยว แต่พอได้มาแยกขยะ มาดูขวดทีละใบก็รู้ว่ามันมาจากประเทศอื่นทั้งมาเลยเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ มัลดีฟและอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งมันเป็นขยะที่ลอยน้ำมา เลยกลับมาคิดว่าถ้าอย่างนั้นคงจะต้องจริงจังกับตรงนี้กันแล้วล่ะ

เราเริ่มจากการทำป้ายเชิญชวน โดยจุดแรกที่เราออกเก็บขยะคือที่เกาะอาดัง ช่วงแรกเราใช่ชื่อว่า Trash Hero Adang ใช้ชื่อนั้นอยู่ประมาณไม่กี่เดือนก็เปลี่ยนเป็น Trash Hero Thailand เพราะเราเริ่มขยายพื้นที่ไปตามเกาะตามหาดรอบๆ ไม่ใช่เฉพาะที่อาดังแล้ว เวลาผ่านไปกลุ่มอาสาจากนักท่องเที่ยวเริ่มเยอะขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเห็นป้ายโฆษณาตามร้านอาหารและบาร์ว่าทุกๆ วันจันทร์เราจะมารวมตัวกัน แล้วออกเรือไปเก็บขยะทะเลกันนะ เอาจริงๆ เลย แต่ละวันจันทร์ กลุ่มลีดเดอร์ของ Trash Hero จะไม่รู้เลยว่าเราจะเจออาสากี่คนที่รอเราอยู่ที่จุดนัดหมาย คือมากี่คนเราก็ออกเรือ ซึ่งก็ไม่คิดว่าผลตอบรับจะเร็วเหมือนกัน ช่วงอาทิตย์แรกๆ จะมี 20 คน 30 คน และเยอะสุดๆ คือเกือบ 100 คนในครั้งเดียว จนปัจจุบันสำหรับทีม Trash Hero Thailand ที่หลีเป๊ะได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะเจ้าของธุรกิจรีสอร์ท ร้านอาหาร เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อุทยาน ในทุกๆ อาทิตย์

13318828_10153799956709037_121734330_n

13320999_10153799957319037_1498363088_o

Q: แนวทางการทำงานของ Trash Hero เป็นอย่างไร? 

A: สมาชิกในทีมเห็นตรงกันเลยว่าเราจะทำทุกอย่างให้เรียบง่ายและสนุกที่สุด เราใช้การพูดคุยกันเป็นหลัก สมมุติว่าเราจะทำโปรเจ็กต์ขึ้นมา ก็มาคุยกัน ถ้าทุกคนโอเค ก็ลุยกันเลย ไม่ต้องคิดมาก ถ้าเราคิดมากเราจะไม่ได้ทำ ทำงานแบบนี้ไม่มีทะเลาะกัน ไม่เหนื่อย คิด คุย แล้วก็ลุยตามแผน

Q: นอกจากการเก็บขยะแล้ว มีกิจกรรมหรือโปรเจ็กต์เพิ่มเติมที่แยกย่อยออกจากนั้นอีกบ้างไหม?

A: นอกจากการเก็บขยะที่ทำทุกวันจันทร์แล้ว ในปีแรกเราคิดที่จะลดจำนวนขวดพลาสติกบนเกาะหลีเป๊ะ ปีแรกเราก็เริ่มผลิตเสื้อ Trash Hero Thailand โดยใช้สีเหลือง ที่ใช้สีเหลืองเพราะเราทำงานวันจันทร์ เสื้อเราขายให้อาสาในราคาเท่าทุนไม่มีบวกกำไร เราผลิตหมวก Trash Hero ขายในราคาต้นทุน สินค้าทุกอย่างจะโพสบิลต้นทุนไว้ที่เพจทั้งหมด ถามว่าทำไมเราไม่บวกกำไรกับสินค้า เพราะเคยมีกรณีจากที่คนรอบข้างเห็นพวกเรามีสินค้าออกมาก็เริ่มมีการพูดคุยกันหนาหูว่าที่พวกเราทำก็เพื่อผลิตสินค้ามาขายเอากำไร แต่เราก็แจงใบเสร็จต้นทุนการผลิตตลอดนะ

หลังจากนั้นเราก็ผลิตขวดน้ำสเตนเลสขึ้นมา ซึ่งก็ไม่คิดว่าผลตอบรับมันจะดีมาก เราทำขวดนี้มาขายในราคาเท่าทุน 100 บาท ให้ร้านค้า แล้วเราให้ร้านค้าไปบวกกำไรขายในราคา 200 บาท แต่มีข้อแม้ว่าร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญต้องมีจุดเติมน้ำสะอาดฟรีให้เรา เพราะฉะนั้นคนที่ขึ้นเกาะหลีเป๊ะถ้ามีขวดน้ำ Trash Hero และเจอจุดเติมน้ำฟรี คุณสามารถเติมน้ำฟรีได้ตลอด คุณจะอยู่เป็นเดือน คุณก็เติมได้ตลอด เพราะฉะนั้นขวดนี้ช่วยลดขวดพลาสติกทางตรง ซึ่งเราเริ่มทำสถิติวัดปริมาตรจากคูลเลอร์ที่เติมน้ำฟรีทุกจุดในแต่ละวัน แล้วเรามาหารจากปริมาตรน้ำจากขวดน้ำพลาสติก หมดซีซั่นแรกเราคำนวณได้เกือบ 500,000 ขวด สำหรับขวดน้ำที่เราคำนวณจากแคมเปญนี้ ส่วนปีที่แล้ว เราทำโปรเจ็คต์ Trash Hero Camp ซึ่งขออนุญาตทางอุทยานที่เกาะราวีเข้าไปตั้งแคมป์ 5 เดือน เพื่อเก็บขยะทุกวัน ครั้งนั้นเราได้ขยะเกิน 5 ตัน ที่ขนย้ายขึ้นฝั่งไปสู่ขบวนการซีไซเคิลและทำลายต่อไป ส่วนในปีนี้เราออกให้ความรู้ตามสถานศึกษา สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจและใช้ชีวิตเท่าที่จำเป็นกับถุงพลาสติก กล่องอาหารจากโฟม ขวดน้ำพลาสติก และอื่นๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่ย่อยสลายยาก

IMG_5811_low res

IMG_5821_low res

Q: แล้วผลตอบกลับจากสาธารณชนล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง? 

A: ผลตอบรับก็เริ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ มีสถานที่ต่างๆ ส่งข้อความเข้ามาในเพจของเรา อีเมลเข้ามาขอเข้าร่วม กลุ่มแรกๆ ที่เปิดตัวตามมาตอนนั้นมี Trash Hero เกาะลันตา อ่าวนาง และ Gili Meno ที่อินโดนีเซีย แค่ 3 กลุ่มที่เพิ่มมาในตอนนั้นก็ทำให้พวกเราดีใจแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ ในช่วงเวลา 2 ปีกว่า มี Trash Hero เกือบ 20 กลุ่มแล้วในเมืองไทย ทั้งเกาะลันตา อ่าวนาง บางสะพาน บ้านกรูด หัวหิน เขาสก ตรัง ปัตตานี เกาะเต่า ไร่เลย์ หาดต้นไทร กระบี่ เกาะพะงัน สงขลา และเชียงใหม่ สำหรับต่างประเทศที่อินโดนีเซียมีอยู่ 7 กลุ่ม คือ Trash Hero Gili Meno, Amed, Ubud, Komodo, Sanur, Canggu และ Candidasa ประเทศอื่นมีฟิลิปปินส์, กรุงปราก, ลังกาวี มาเลเซีย และนิวยอร์ก ในเดือนมิถุนายน เราจะเปิดตัว Trash Hero Bangkok อีกที่ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะมีกลุ่มในประเทศพม่าที่ย่างกุ้ง ที่กล่าวมา คือผลตอบรับในสิ่งที่เราทำ การที่มีกลุ่มคนที่มี DNA เดียวกันที่อยากทำรูปแบบที่เราทำ ซึ่งทางเรายินดีและดีใจมากในผลตอบรับจากเพื่อนๆ เหล่านี้ นั่นหมายถึงการสร้างจิตสำนึกเรื่องขยะจะขยายบริเวณกว้างขึ้น

13313816_10153799956864037_1252721593_o

13120525_10153799956789037_1528116636_o

Q: สำหรับกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Trash Hero เรามีกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติให้กับเขาบ้างไหม? 

A: มันเป็นในเชิงข้อขอร้องและแนะนำกันมากกว่า นอกจากความสม่ำเสมอที่ทุกทีมจะต้องแสดงให้ชุมชนเห็นแล้ว เราแนะนำว่าคุณต้องตั้งทีมลีดเดอร์ของคุณก่อน คนเดียวคุณเหนื่อยแน่นอน เพราะ Trash Hero ไม่ได้ทำเล่นๆ เราคือ weekly cleanup คือทำหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ ถ้าคุณเป็นผู้นำคนเดียว มันจะต้องหยุดในสัปดาห์ที่คุณไม่ว่าง เพราะฉะนั้นการมีคนช่วยคือทางออกที่ดีในขั้นตอนแรก ต่อไปคือการโน้มน้าวพูดคุยอธิบายในสื่งที่เราทำกับคนในพื้นที่ ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกร่วม และไปสนุกกับขยะด้วยกัน

Q: แล้วที่แตกไปเป็นเกือบ 20 กลุ่ม มีการตรวจสอบไหมว่าแต่ละกลุ่มเขาทำงานกันอย่างไร ทั้งประสิทธิภาพ ผลตอบรับ รวมไปถึงความช่วยเหลือที่ Trash Hero Thailand ให้แก่ทีมย่อย? 

A: หลังจากให้คำแนะนำวิธีทำงานของเราไปแล้วในแต่ละกลุ่ม เราก็ให้อิสระในการทำงานของลีดเดอร์ ทุกทีมสามารถมีไอเดียในแต่ละพื้นที่ของตนเอง เราจะเป็นแค่ที่ปรึกษาเท่านั้น และในหนึ่งปี เราจะแบ่งกันไปพบปะพูดคุยในแต่ละกลุ่มเพื่อฟังความคิดเห็นต่างๆ แต่ทุกกลุ่มต้องอยู่ในกฎของจุดประสงค์ของ Trash Hero คือเราเป็นกลุ่มอาสาที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร ทำงานด้วยใจ หาแนวร่วมจากคนในพื้นที่ช่วยเหลือด้วยความสมัครใจ

13321154_10153799957634037_1866784285_o

Q: เท่าที่ฟังมาดูเหมือนว่า Trash Hero ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเก็บขยะอย่างเดียว แต่คือการแสดงให้คนในพื้นที่เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ด้วย?

A: เราต้องการสร้างจิตสำนึกให้คนพื้นที่รักที่ของเขา ซึ่งเราก็อยากให้กลุ่มผู้นำเหล่านี้แหละช่วยดึงคนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้ เพราะมันจะเป็นส่วนสำคัญเลยที่ทำให้แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งที่เราเจอบางจุดเป็นนักธุรกิจ บางจุดเป็นต่างชาติที่มาทำธุรกิจ แทบจะไม่มีคนพื้นที่เลย

Q: แล้วตอนนี้มีที่ไหนบ้างไหมที่กลุ่มลีดเดอร์ของ Trash Hero เป็นคนพื้นที่? 

A: เริ่มมีแล้วครับ อย่างหลีเป๊ะตอนนี้ ชาวเลก็มี Trash Hero ชาวเล ทุกวันอาทิตย์เก็บขยะทำความสะอาดในหมู่บ้านของเขา จริงๆ ก็แทบจะทุกกลุ่มที่มีลีดเดอร์เป็นคนไทยร่วมกับคนต่างชาติ แต่ที่ปัตตานี ตรัง และสงขลา จะแตกต่างจากทีมอื่นตรงที่มีคนไทยมาเป็นอาสามากกว่าคนต่างชาติ

Q: Trash Hero เอาเงินทุนมาจากไหน? 

A: สำหรับทีม Trash Hero Thailand ที่หลีเป๊ะ เราเริ่มจากเราซัพพอร์ตกันเองก่อน วัดใจกันไปก่อน จนได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายจากสมาคมผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ  รีสอร์ท ร้านอาหาร บาร์ ทีมที่หลีเป๊ะจะแตกต่างจากทีมอื่น เพราะเราต้องเช่าเรือหางยาวออกเก็บขยะนอกพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราจะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซึ่งจะไม่แน่นอนในแต่ละสัปดาห์ บางสัปดาห์อาสาสมัครน้อย เราก็ใช้เรือน้อย บางสัปดาห์ เรามีอาสาสมัคร 70-80 คน ตรงนี้คือต้องมีเรือ 10 ลำ เป็นอย่างน้อย ในแต่ละอาทิตย์ทางผู้ประกอบการก็จะเตรียมอาหารไว้ให้พวกเรารับประทานหลังจากขนย้ายขยะกลับมาที่เกาะ ล่าสุดเราก็ผลิตถังขยะจำนวนหลายร้อยใบบนเกาะหลีเป๊ะ โดยการหาสปอนเซอร์ โดยคนที่บริจาคเงินในราคาต้นทุนที่ใบละ 750 บาท ทางทีมเราจะเขียนชื่อของสปอนเซอร์ทุกใบบนถังขยะให้ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี

อีกส่วนหนึ่งคือเงินบริจาคจากต่างประเทศ โดยผู้บริจาคไม่ขอเปิดเผยชื่อ เงินส่วนนี้จะใช้ในงานของ Trash Hero เท่านั้น เช่นเป็นต้นทุนในการสั่งขวดน้ำและเสื้อ โดยมีบริษัทการเงินที่สวิตเซอร์แลนด์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับกลุ่มอื่นๆ ก็ต้องเข้าหาสปอนเซอร์เพื่อแจงจุดประสงค์ที่เราทำ ทุกกลุ่มต้องยึดหลักของพวกเรา คือไม่แสวงหากำไรกับการขายสินค้า ส่วนสปอนเซอร์อะไรบ้างที่เราอยากได้ จะมีถุงขยะ ถุงมือ 2 อย่างนี้จำเป็นในแต่ละสัปดาห์ ส่วนอาหาร เครื่องดื่ม และค่าเดินทาง ผู้นำบางกลุ่มก็เตรียมกันไปให้อาสาจากเงินส่วนตัว และตรงนี้สำคัญที่สุดคือจุดทิ้งขยะที่พวกเราเก็บมา ต้องมีการเข้าหาหน่วยงาน แจ้งจุดที่พวกเราจะนำขยะไปวางไว้ให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่รับรู้เพื่อจะมาทำการขนย้ายอย่างสะดวกต่อไป เพราะฉะนั้นผมบอกได้ว่าไม่ง่ายสักเท่าไหร่ที่จะทำ Trash Hero เพราะคุณต้องพร้อมจริงๆ กลุ่มคุณต้องพร้อมที่จะเสียสละ ทั้งแรงกายและกำลังทรัพย์ สรุปคือใจต้องใหญ่มากพอสมควร

13334671_10153799957029037_2100761329_o

Q: Trash Hero ทำอะไรกับขยะหลังจากการทำงานในแต่ละครั้งเสร็จสิ้นลง? 

A: ทุกครั้งที่เก็บขยะเสร็จเรียบร้อย เราจะคัดแยกขยะ ขยะพลาสติกอยู่ถุงนี้ แก้วอยู่ถุงนี้ เชือกอยู่ถุงนี้ โฟม ยางอยู่ถุงนี้ พอคัดแยกเสร็จขยะก็จะถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้าบนเกาะหลีเป๊ะ เขาจะมีพื้นที่เก็บไว้ให้เพื่อรอการขนย้ายขึ้นฝั่งไปรีไซเคิลและกำจัดตามขบวนการ

13334671_10153799957029037_2100761329_o13334268_10153799957484037_563831709_o13334560_10153799957919037_1981995721_o13340571_10153799957159037_1333045313_o13351046_10153799958034037_751004479_o

Q: ขยะส่วนที่เหลือมีการนำไปพัฒนาต่อเป็นอย่างอื่นอีกบ้างไหม?

A: ไอเดียการต่อยอดจากขยะจะมีเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงแรกเราได้ขยะโฟมเยอะมาก ก็ลองเอาโฟมมาเย็บเป็นหมอน เป็นฟูกไว้นั่งเล่น ปีที่แล้วจาก Trash Hero Camp เราได้รองเท้าจากขยะทะเลเกือบ 100,000 ข้าง และเราก็ได้รับการติดต่อจาก ดร.ณัฐพงษ์ นิธิอุทัย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องยางพาราที่ปัตตานีติดต่อเราเข้ามาบอกว่าอยากได้รองเท้าแตะพวกนี้ไปรีไซเคิลเป็นพื้นยาง เราก็ส่งไปให้ทั้งหมดกว่า 400 กระสอบ พอเราส่งไป ทีมนี้เขาก็ได้ไอเดียนำไปพัฒนาเป็นรองเท้าแตะขึ้นมาใหม่ ซึ่งเขาก็โทรหาเราก่อนว่าพวกเขาจะนำไปผลิตเป็นรองเท้าแตะขึ้นมาใหม่นะ เราก็เฮ้ยเจ๋งมาก! รองเท้าที่เราเห็นมันเป็นขยะ แต่พวกคุณสร้างมันให้มีชีวิตกลับมาใหม่ แล้วพวกเขาก็ตั้งชื่อกลุ่มตัวเองว่า ‘ทะเลจร’ (www.facebook.com/Tlejourn) ซึ่งกลุ่มนี้เป็น Trash Hero Pattani ในปัจจุบัน ตอนนี้ก็มีหลายกลุ่มที่เราเริ่มคุยถึงการพัฒนาเรื่องรีไซเคิลกันเองในอนาคตอันใกล้

13334268_10153799957484037_563831709_o23-600x600

Q: ขอแทรกด้วยเรื่องเบาๆ กันสักหน่อย เคยเจอขยะอะไรที่จี๊ดที่สุด?

A: ก็มีตู้เย็น ทีวี เตียง ตุ๊กตาต่างๆ เราก็โอเค เฮ้ย! เราไปเก็บตู้เย็นกัน (หัวเราะ)

13334769_10153799958204037_1147538055_o

Q: ระหว่างการทำงาน 2 ปีกว่าที่ผ่านมา Trash Hero เจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ปัญหามันอย่างไร?

A: อย่างที่บอกว่ากลุ่มเราเป็นกลุ่มตัดสินใจเร็ว ทำเร็ว และตัดปัญหาให้เร็วที่สุด พยายามที่จะไม่ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นมันจะง่ายในการแก้ปัญหา อะไรที่คิดว่าทำแล้วไม่เวิร์ค ก็เบรคก่อนแล้วถอยกลับมาตั้งหลัก ทำเท่าเดิมก่อน เราจะเริ่มจากสิ่งที่เล็กๆ เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูในอัลบั้มรูปตอนที่เราทำงานช่วงแรก ผู้ชายแทบจะถอดเสื้อทำงานกันทุกคน จนเริ่มมีตัวมีตนมากขึ้น ถึงเริ่มมีเสื้อ หมวก เริ่มทำโปรดักท์ เอาจริงๆ อุปสรรคของ Trash Hero สำหรับตัวผม ผมมองว่ายังไม่มีนะ

Q: หลังจากการทำงานโปรเจ็กต์นี้ระบบความคิดและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม? 

A: โดยสิ้นเชิง การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดี 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ผมไม่เคยทิ้งขยะลงพื้นนะ ขับรถก็ไม่เคยโยนขยะออกจากรถ เพราะฉะนั้นในรถก็จะสกปรกมาก (หัวเราะ) ผมใช้ขวดพลาสติกน้อยลง และไม่เคยเอาถุงพลาสติกออกจากร้านสะดวกซื้อเลย และพวกเราเป็นแบบนี้ทุกคนสำหรับอาสาสมัครที่เคยเข้าร่วมกับเรา ผมก็มั่นใจว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงในการใช้วัสดุเหล่านี้เท่าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

IMG_5819_low res

Q: อะไรคือความสุขของการได้ทำโครงการนี้?

A: คือการที่เราได้เห็นรอยยิ้มของคนทำงานทั้งทีม Trash Hero และอาสาทุกคน เราจะยิ้มให้ขยะที่อยู่ในถุงที่เราเก็บมาแล้วก็กระโดดพร้อมกัน ไม่ว่าจะตากแดด ตากฝน ขยะจะสกปรกขนาดไหน ทุกคนก็ยิ้ม ก็หัวเราะ ผมเคยถามนะว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรที่มาทำงานนี้ ทุกคนบอกว่าอยากทำแบบนี้มานานแล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าจะไปทำที่ไหน ผมก็เคยสงสัยว่าอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติบินมาพักผ่อน ทำไมไม่ไปอาบแดด แต่เลือกมาเก็บขยะกับพวกเรา ก็คุยกับเขา เขาบอกว่าเขาก็อยากทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม พอเห็น Trash Hero ในเฟซบุ๊คก็ตัดสินมาร่วมด้วย บางคนติดต่อเราก่อนที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินเสียอีก ส่วนของคนไทยก็มีมาเรื่อยๆ ที่ประทับใจก็คือพ่อแม่ลูก 4 คน เดินทางจากภาคอีสานมาเที่ยวหลีเป๊ะ ซึ่งระยะทางมันไกลนะ พวกเขาควรจะใช้เวลาไปดำน้ำ แต่กลับยกเลิกทริปดำน้ำเพื่อจะมาเก็บขยะกับเรา

13334831_10153799957009037_683592730_o

Q: ถ้า Trash Hero มีโอกาสและอำนาจในการดูแลเรื่องขยะบ้านเรา จะจัดการอย่างไรกับปัญหาตรงนี้อย่างไร?

A: ตอนเด็กๆ เราเกิดในยุคตาวิเศษนะ ตอนนั้นตาวิเศษดังมากในกรุงเทพฯ แล้วก็หายไปตามกาลเวลา ถ้าการปลูกจิตสำนึกในวงกว้างทำได้ยาก ก็คงต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็งพอ เช่น ปรับให้จริง จับให้จริง หรือการใช้ระบบธุรกิจเข้ามาช่วย ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาขยะเกิดจากการไม่ร่วมมือกัน ตรงนี้หน้าที่คุณมาเก็บ ผมมีหน้าที่ทิ้งในที่ที่คุณเตรียมไว้แค่นั้น ถ้าเราเปลี่ยนให้มาเป็นธุรกิจเสียเลย เริ่มจากชุมชน มีงบประมาณรับซื้อขยะจากครัวเรือน จากหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านต้องคัดแยกนะ ทางรัฐมีรถวิ่งรับซื้อ แทนที่จะเป็นรถขยะเหม็นๆ ก็จะเป็นรถขยะที่คัดแยกพร้อมนำไปขาย เป็นการตัดตอนไม่ให้เป็นภูเขาขยะที่ยากก็การกำจัด จุดสุดท้ายคือรัฐเอาขยะไปรีไซเคิลและขาย ผมว่าต้องนี้เป็นเงินมหาศาลที่รัฐจะได้

13340349_10153799956909037_1986135629_o

Q: แผนระยะสั้นและระยะยาวของ Trash Hero จะเป็นอย่างไรต่อไป?

A: ปกติเราคิดกันปีต่อปี พอจะปิดซีซั่นเราก็จะวางแผนสำหรับปีหน้า หลักๆ ก็คงเก็บขยะกันต่อไปทุกสัปดาห์ และหลายๆ เรื่องที่กำลังคิดกันก็โปรเจ็คต์ต่างๆ แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานที่เป็นไปได้ด้วย สำหรับแคมเปญที่เริ่มทำแล้วคือ Trash Hero Campus ในแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะพอเข้าปีที่ 3 พวกเราถูกเชิญไปบรรยายตามงานและตามมหาวิทยาลัยบ่อยขึ้น เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราทำ ผลกระทบของขยะว่ามีอะไรบ้าง บางคนไม่รู้เลยว่าขวดพลาสติกใช้เวลากี่ร้อยปีในการย่อยสลาย เราไม่อยากเห็นนักอนุรักษ์คีย์บอร์ด เราอยากชวนพวกคุณให้กระโดดเข้ามาลุยกับเราเลย แต่ไม่ใช่ต้องไปเดินเก็บขยะนะ แต่คือการเสนอทางเลือกในการลดจำนวนขยะ การคัดแยกขยะในสถานศึกษาและใช้วัสดุบางอย่างที่จำเป็น การงดใช้ถุงพลาสติก ขวดน้ำแก้วน้ำพลาสติก กล่องอาหารจากโฟม หันมาใช้กระติกน้ำส่วนตัว ถุงผ้า แก้วกระดาษ กล่องอาหารจากกระดาษ ตอนนี้ที่วิทยาลัยนานาชาติมหิดลได้เริ่มแคมเปญ Trash Hero แล้ว เป็นสถานศึกษาแรกในชื่อ TRASH HERO MUIC

สุดท้ายพวกเราทุกกลุ่มก็จะยังทำงานนี้ต่อไปด้วยความสนุกสนานของทุกสัปดาห์ ก็อยากเชิญชวนคนในพื้นที่โดยเฉพาะคนไทย เข้าใจในจุดประสงค์ในสื่งที่เราทำ ถ้าเห็นพวกเราทำงาน ก็อยากให้เข้ามาร่วมกันแบบไม่เคอะเขิน โดยเฉพาะเด็กๆ ผมอยากเห็นผู้ปกครองพาเด็กๆ มาเป็น Trash Hero กับพวกเราในการสร้างจิตสำนึก พวกเรามีความสุขทุกครั้งจริงๆ เวลาเห็นเด็กๆ ทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมเก็บขยะกับพวกเรา เพราะเราได้มองเห็นอนาคตกับสิ่งที่พวกเราได้ทำ

IMG_5885_low res

IMG_5882_low res IMG_5878_low res

[youtube url=”http://youtu.be/3nY0TsqrmXY” width=”600″ height=”350″]

[youtube url=”http://youtu.be/-tRjEodK4Ec” width=”600″ height=”350″]
[youtube url=”http://youtu.be/ZhxSak0Rgt4″ width=”600″ height=”350″]

 

ภาพ: Ketsiree Wongwan, Trash HeroFB/TrashHeroThailand