‘ยศพล บุญสม’ สร้างเมืองพัฒนาชุมชน ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

34

หลายคนอาจมองว่า คนที่จบสายสังคมศาสตร์น่าจะเป็นกลุ่มคนที่สามารถช่วยเหลือชุมชนได้มากที่สุด สายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็น่าจะเข้ามาช่วยควบคุมดูแลมลพิษและพฤติกรรมของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อมนุษย์ หรืออาชีพหมอก็มีบทบาทอย่างสูงในการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นความเข้าใจที่ผิด แต่มันไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร คุณก็สามารถนำองค์ความรู้พลิกสร้างคุณค่าให้กับ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเดียวกับ ยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา จำกัด ที่แสดงให้เห็นว่า องค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้ที่การทำสวนสวย รีสอร์ทงาม แต่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองให้มีคุณภาพได้เช่นกัน และนี่คือบทสัมภาษณ์เบื้องหลังแนวคิดจากจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่แวดวงออกแบบสู่หน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดีคนหนึ่งของสังคม

Q : ก่อนเข้าเรียนและหลังจบการศึกษาจากภาควิชาภูมิสถาปัตย์ จุฬาฯ คุณยศพลคิดว่ามุมมองของงานภูมิสถาปัตย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

A : ก่อนเข้าเรียนผมมีความเข้าใจว่า งานออกแบบภูมิสถาปัตย์น่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดสวนตามบ้าน ตามรีสอร์ท การวางผังสนามกอล์ฟให้มีความสวยงาม ยิ่งช่วงที่เข้าไปนั้นเป็นช่วงที่รีสอร์ท กำลังบูมในบ้านเรา จึงมีความคิดว่าจบแล้วคงต้องไปทำงานตามสายอาชีพนี้แน่นอน แต่เมื่อเราเข้าไปศึกษาแล้ว คำว่า ‘ภูมิสถาปัตย์’ มีบริบททางการออกแบบมากกว่านั้นเยอะมาก เช่น เรื่อง Public Space, สวนสาธารณะ, การวางผังเมือง, สังคม, สิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น แล้วเราไปเจอมุมที่เราสนใจมากๆ คือ เรื่องของเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่ามันเป็นมุมที่ทำให้รู้สึกว่าภูมิสถาปัตย์เป็นวิชาชีพที่มีประโยชน์ นอกจากเรื่องความงามที่เป็นพื้นฐานของงานออกแบบ แต่จะงามไปเพื่ออะไรนี่สิคือ ‘คุณค่า’ ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อเห็นชิ้นงานตัวเองได้สร้างประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้เห็นว่าวิชาชีพนี้มีคุณค่ามาก

หลังจากจบการศึกษา ผมเองได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปีเต็มก่อนที่จะไปศึกษาต่อด้าน Urban Design ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี 1 ปี ในช่วงที่ทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เราพบว่าทางภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด Garden City ผมมีโอกาสร่วมพัฒนางานออกแบบคอนโด พื้นที่พาณิชย์ และ Public Space หลากหลายโครงการ นอกจากผมแล้วก็มีนักออกแบบคนไทยที่มีโอกาสได้ทำงานที่นี่เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่านักออกแบบไทยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่สวยงามเหมือนเช่นวันนี้

Q : แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเองหันกลับมาทำงานที่เมืองไทย

A : แม้ว่าตัวเองจะมีโอกาสดีๆ ในการทำงานที่สิงคโปร์ แต่เราก็ยังอยู่ในวงจรธุรกิจที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดในบางครั้ง โครงการที่ทำมาเริ่มไม่มีความท้าทาย มันเป็นแพทเทิร์นการทำงานที่ซ้ำๆ กัน เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำรวมถึงนักออกแบบคนไทยอีกหลายท่านทำก็เพื่อให้สิงคโปร์เป็น Garden City มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราควรนำความรู้ความสามารถนั้น กลับมาที่เมืองไทย แล้วเริ่มต้นทำสิ่งดีๆเพื่อขับเคลื่อนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าบ้านเราจะยังไม่มีนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน แต่การเริ่มต้นผลักดันพร้อมเสนอความคิดเห็นผ่านโครงการต่างๆ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าจะประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ อย่างน้อยเราก็ทำอะไรเพื่อบ้านเรา มันอยู่กับบ้านเรา

แต่ในความเป็นจริง เวลาเริ่มต้นทำงาน เราไม่สามารถผลักดันเรื่องชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด เพราะเราต้องยอมรับมุมมองด้านเศรษฐกิจด้วย แต่เราก็พยายามหาจุดสมดุลเพื่อให้เจ้าของโครงการเห็นความสำคัญในส่วนนี้และพยายามผลักดันเข้าสู่โครงการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได

IMG_3256_low res

Q : เริ่มต้นคลุกคลีกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อไหร่

A : ผมเริ่มติดตามงานของสถาปนิกชุมชนมาสักระยะ แล้วเริ่มสงสัยตลอดเวลาว่า เขาทำได้อย่างไรนะ เผอิญมีโอกาสได้ทำเวิร์คช็อปกับทางสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์กับโครงการสร้างศูนย์ชุมชนคลองตาก๊ก จังหวัดสมุทรปราการ การเข้าร่วมในวันนั้นทำให้เราได้เห็นกระบวนการทำงานที่มาด้วยใจของน้องๆ นักศึกษาหลายสถาบัน ที่เข้าไปพูดคุยถามความต้องการที่แท้จริงจากทางชุมชน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาโครงการ ซึ่งมันย้อนให้เรานึกถึงตอนทำค่ายสมัยเป็นนิสิต มันสะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของงานสถาปนิกหรือภูมิสถาปัตย์ ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชนได้

[youtube url=”http://youtu.be/gx9fGnnBXrk” width=”600″ height=”350″]

 

อยากให้มองว่าการทำงานเพื่อชุมชนนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องเศร้า ดราม่า เลยนะครับ มันเป็นโจทย์จริงๆ ที่มีเงื่อนไข งบประมาณ ความต้องการ แล้วเราก็ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการภายใต้ข้อกำหนดเหล่านั้นให้ได้ จะต่างจากโครงการทั่วไปก็ตรงที่งบประมาณส่วนใหญ่จะไม่มากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำได้ สิ่งที่แตกต่างที่ผมเห็นได้ชัดเจนระหว่างการทำงานคือ การที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับชุมชนเหล่านั้นจริงๆ ซึ่งทำให้เราได้รับข้อมูลแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องจินตนาการเหมือนการทำโครงการคอนโดมิเนียมที่จะต้องคาดเดาว่าผู้อยู่อาศัยจะเป็นใครนะ ชอบแบบนั้นแบบนี้หรือไม่ และเมื่อเราถอยหลังออกมาแล้วมองภาพใหญ่ของเมือง เราจะพบว่า บางครั้งเราใช้พลังงานสูงมากไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่เล็กๆ ในคอนโดมิเนียม ทั้งๆ ที่มันยังมีพื้นที่มหาศาลในกรุงเทพฯ หรืออีกหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านงานภูมิสถาปัตย์กรรมไปแสดงพลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง อยู่ที่ว่าเราได้เดินก้าวออกไปหาโอกาสนั้นหรือเปล่า !

ดังนั้นการทำงานเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงไม่ใช่การนั่งรอ แต่ทุกคนสามารถทำได้เลย นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้ผมเปิดอีกหนึ่งบริษัทฯ ชื่อ ฉมาโซเอ็น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อการพัฒนาสภาพภูมิทัศน์ผ่านงานออกแบบที่เกิดจากการตีความใหม่ของสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความซับซ้อนที่หลากหลายของระบบนิเวศน์ทั้งของธรรมชาติและมนุษย์ โดยนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งมาพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เปรียบเสมือนกับธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งเน้นทางด้าน Social and Environment พอเราเริ่มต้นทำ เราก็มีโอกาสได้ทำงานภายใต้โจทย์ที่เป็นเรื่องสาธารณะมากขึ้นทั้งกับทาง UDDC กับ โครงการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำย่านยานนาวา โครงการฟื้นฟูเมืองย่านกะดีจีนคลองสาน, โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก และกับ เครือข่ายมักกะสัน หรือกับการร่วมมือกับทางสถาบันอาศรมศิลป์ในการทำโครงการต่างๆ ทุกโครงการที่กล่าวถึงมันมีกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมที่เข้าถึงชุมชนโดยแท้จริง ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนอีกหนึ่งสมการของงานออกแบบที่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ตรงจุด

Q : มีโครงการไหนที่เห็นผลขัดเจนจากการทำงานในลักษณะนี้บ้างครับ

A : โครงการลานกีฬาพัฒน์ เคหะชุมชนคลองจั่น บนพื้นที่ประมาณ 10 กว่าไร่ริมคลองพังพวย เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะว่าเห็นตั้งแต่กระบวนการที่เราเริ่มต้นพูดคุย การรับโจทย์กับชาวชุมชนจนกระทั่งสร้างเสร็จ ยิ่งเราพบว่าชาวชุมชนเข้าไปใช้พื้นที่ที่สร้างเสร็จแล้วเป็นจำนวนมากเพราะลานกีฬาพัฒน์นี้ไปตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งชาวชุมชนรู้สึกถึง ‘การมีส่วนร่วม’ ในการสร้างโครงการนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาตั้งแต่ต้น ซึ่งตรงนี้แหละที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อชุนชนจริงๆ แม้ว่าในระหว่างทางการทำงานเราพบว่า งบประมาณในการจัดทำลานกีฬาพัฒน์มีงบประมาณที่น้อย แต่เราก็พยายามหากลไกและรูปแบบวิธีการระดมทุนอื่นๆ และหาวิธีการออกแบบที่เหมาะสมและก่อสร้างได้ง่าย เพื่อให้พื้นที่ลานกีฬามีคุณภาพไม่แตกต่างจากงานออกแบบโรงแรม 5 ดาวในเรื่องของคุณภาพของ Space ความสำเร็จของลานกีฬาพัฒน์แห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เจ้าของโครงการ(สำนักราชเลขาธิการ) อยากใช้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมนี้ในการพัฒนาโครงการต่อๆ ไป ส่วนตัวชาวชุมชนเองก็มีความภูมิใจและอยากจะรักษาลานกีฬาให้อยู่คู่ชุมชนตลอดไป และในฝั่งนักออกแบบก็ได้เรียนรู้พร้อมมีกำลังใจในการออกแบบเพื่อชุมชนมากขึ้น

lan kila pat 1_playground lan kila pat 1 lankilapat1- Bench

Q : ในมุมมองของคุณยศพลคิดว่า การทำงานเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จะต้องมีส่วนผสมในการทำงานอย่างไรเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ

A : ไม่ว่าเราจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกับโครงการภาครัฐหรือภาคเอกชนในมุมมองใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว โครงการจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะต้องทำงานร่วมกัน แต่โดยทั่วไปแล้วภาคประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมีข้อมูล มีความคิดเห็น มีวิสัยทัศน์ ที่สามารถนำมาใช้ในทางพัฒนาพื้นที่ได้ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เขาได้ปล่อยของ สะท้อนเสียงของชุมชน จึงเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลลัพธ์หรือทางเลือกของการพัฒนาพื้นที่ที่น่าสนใจ แต่สิ่งสำคัญมันไม่เป็นแค่การสร้างกายภาพ แต่เป็นการให้พลังกับชุมชนที่เขาสามารถมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงเพื่อบ้านเมืองเราได้

FOR1

IMG_3222_low res

Q : ทำไมคุณยศพลถึงสนใจเรื่องแม่น้ำ จนทำให้เกิดกลุ่ม Friends Of the River (FOR) ขึ้นมา

A : กลุ่ม FOR เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2558 จากมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างในการพัฒนาการสร้างทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 1 หมื่น 4 พันล้านบาท รวมระยะทางทั้งสิ้น 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 2 ฝั่ง (ความกว้างแต่ละฝั่งประมาณ 12-15 เมตร) ทางเรามองว่าการสร้างทางเลียบในลักษณะนี้ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตริมแม่น้ำและสิ่งแวดล้อมโดยรวม คำถามที่ตามมาคือ ภาครัฐเคยเข้าไปพูดคุยกับชุมชนและประชาชนทั่วไปที่เป็นเจ้าของแม่น้ำเช่นกันก่อนการออกแบบโครงการนี้หรือไม่ และทำไมมันถึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหมือนถูกบีบบังคับให้จำเป็นต้องมี

ดังนั้น FOR จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นกับทุกๆเสียง 2) เผยแพร่ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำอย่างยั่งยืน และ 3) เป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารกับทางภาครัฐ ทั้งนี้เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นสถาปนิกถึงรู้เรื่องหมดดีไซน์สวย เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่เราต้องการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ เพื่อให้เกิดสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เมื่อเราเข้าไปพูดคุยกับชุมชน เขาไม่ได้แคร์หรอกว่าความกว้างของทางเลียบริมน้ำจะกว้างเท่าไหร่ แต่เขาห่วงเรื่องวิถีชุมชนริมน้ำจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อัตลักษณ์ของชุมชนจะกลืนหายไป แม่น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต น้ำจะท่วมมากขึ้นไหม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าเพียงแค่ทางวิ่งจักรยานหรือทางเดินเท้า ดังนั้นคำตอบจึงอาจไม่ใช่ทางเดินหรือทางจักรยานทั้งหมด แต่อยู่ที่เราจะทำอย่างไรที่ให้ชาวชุมชนพื้นที่ริมน้ำและที่ไม่ได้อยู่ริมน้ำ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาเพื่อตัวเขา เพื่อบ้านเมืองเขา และเพื่อแม่น้ำของเขาบ้าง ทั้งนี้เราต้องยอมรับเลยว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่กล้าทุ่มเงินมากมายขนาดนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือมันเป็นคำตอบแบบเดียว โดยที่ชาวชุมชนหรือภาคประชาชนไม่มีโอกาสในการร่วมกันคิดสร้างโจทย์และร่วมหาคำตอบในการพัฒนาเลย ทั้งๆ ที่มันคือ โอกาสที่ดีมากๆ ในการสร้างพลังให้ประชาชนทุกคนและชุมชนริมแม่น้ำรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งดีๆเพื่อบ้านเมืองผ่านการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ แทนที่เราจะใช้โอกาสนี้ในการใช้พื้นที่ทำสิ่งที่ไร้ค่าให้มีค่า เรากลับใช้เงินมหาศาลในการทำลายสิ่งที่มีค่าอยู่แล้ว นั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่เหล่านี้
IMG_3237_low resIMG_3239_low res

Q : คุณยศพลใช้เครื่องมือสื่อสารอะไรในการกระจายข้อมูลข่าวสารกลุ่ม FOR

A : เครื่องมือสื่อสารชิ้นแรกเลยก็คือ Facebook FOR แล้วเราก็ใช้การจัดกิจกรรม อย่างนิทรรศการสัญจร ตามสถานที่ต่างๆ เช่น JAM Factory หอศิลป์กรุงเทพมหานคร งานบ้านและสวน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งมีการจัดงานเสวนาหลายครั้ง ล่าสุดกับการร่วมมือจาก 10 สถาบันการศึกษา ในการลงเสนอทางเลือกของการพัฒนาโดยนักศึกษาเริ่มต้นคิดโครงการจากการเก็บข้อมูลบนพื้นที่จริง แล้วนำเสนอแนวคิดมากมายเพื่อให้สังคมได้ไปคิด เมื่อโครงการเสร็จเราได้มีการจัดเสวนาที่หอศิลป์ฯ ในวันนั้นสิ่งที่ผมได้จากการเสวนาคือ การเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปคลุกคลีกับชุมชนเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำที่ยั่งยืนและเหมาะสมที่สุด มันเป็นมุมมองที่บริสุทธ์ ไม่มีผลประโยชน์ใดมาเคลือบแฝง มันเป็นพลังจริงๆ ที่เราสามารถสัมผัสได้ ในวันนั้น เราได้พบกับป้านิด ในวัย 80 ปีจากชุมชนบางลำพู ที่ตั้งใจเดินทางมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากน้องๆ นักศึกษา ป้านิดได้ต่อสู้เรื่องประเด็นสาธารณะและชุมชนมาตั้งแต่ยังสาวและในวันนี้เธอรู้สึกภูมิใจที่เห็นเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมทำสิ่งดีๆเพื่อบ้านมืองในเรื่องพื้นที่ริมน้ำ สำหรับเธอแล้วมันคือการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มันเป็นการส่งต่อบ้านเมืองสู่เยาวชนรุ่นใหม่และนี่แหละคือพลังสำคัญในการสร้างจิตสำนึกดีๆ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันไป

Q : ในมุมมองของคุณยศพล คิดว่า กรุงเทพมหานคร ขาดอะไร

A : จริงๆ แล้ว กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานที่ควรจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เริ่มตั้งแต่ วิสัยทัศน์ที่ไม่คู่ควรกับมหานครโลก มันต้องวางเป้าหมายให้ไกลกว่านี้ เป็น 10 ปี 50 ปี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เราต้องตั้งเป้าหมายให้มีพื้นที่สีเขียวที่ไม่ใช้แค่ในเชิงปริมาณ แต่มันต้องมีนัยสำคัญเชิงคุณภาพ หรือการสร้างสวนสาธารณะที่ยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และการเป็นกลไกที่จะช่วยเมืองในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคต (Green Infrastructure) ด้วย เช่น การรับมือกับน้ำท่วม วิถีชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไม่เห็นความสำคัญของสวนสาธารณะมากนัก อย่างที่สองก็เป็นการบริหารจัดการที่ขาดการทำงานเชื่อมโยงกัน อย่างเช่นกรณีทางเลียบแม่น้ำ หน่วยงานหนึ่งพยายามเข้าไปพูดคุยกับชุมชน อีกหน่วยงานหนึ่งก็จะทำทางเลียบแม่น้ำละ ส่วนอีกหน่วยงานหนึ่งก็พยายามเสนอแม่น้ำเข้าเป็นมรดกของชาติมรดกโลกขึ้นมา มันก็ไม่เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันเลย แต่ยังโชคดีที่เรายังเห็นข้าราชการบางท่านที่ตั้งใจทำงานดีเยี่ยมแต่มันยังเป็นส่วนน้อย เรื่องที่สามเป็นเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจเสมอในการดำเนินงานทุกเรื่อง เช่น สำนักงานกรุงเทพมหานคร 2 ที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานมาก แถมงบประมาณการก่อสร้างยังสูงลิ่วกว่าที่ควรจะเป็น และท้ายที่สุด กรุงเทพมหานครยังอ่อนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ใช้แค่การติดตั้งป้ายทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่สื่อสารอะไรเลย เพราะมันต้องทำให้ทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากกว่าการอยู่ไปวันๆ และประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองได้อย่างไร ผู้ว่าฯ ควรจะเป็นศูนย์กลางและช่วยกระตุ้นให้พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน

Q : ถ้าคุณยศพลมีพลังที่สามารถทำได้ คุณยศพลอยากจะเปลี่ยนอะไรให้กับกรุงเทพมหานคร

A : จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มีหลายอย่างที่ต้องทำ แต่ผมอยากให้คนกรุงเทพฯ เริ่มเปลี่ยน ‘ทัศนคติ’ จากการต่างคนต่างอยู่ มาเป็นการอยู่ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่บางอย่าง ที่ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกที่อยากจะขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน ผมคิดว่า ถ้ากรุงเทพมหานครมีโครงการหนึ่งชิ้นที่ประชาชนทุกคนสามารถร่วมกันทำสำเร็จ มันจะเป็นจุดพลิกเปลี่ยนที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เช่น คลองชองเกซอน กับโครงการรื้อทางด่วนพลิกน้ำเน่าให้เป็นพื้นที่พักผ่อนกลางกรุงโซล กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญพร้อมสร้างความภาคภูมิของคนเมืองทุกคน ผมคิดว่ากรุงเทพมหานครต้องการโครงการสักชิ้นไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เพื่อพลิกแนวคิด เปลี่ยนทัศนคติ ให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพัฒนาเมืองไปด้วยกัน

และนี่คือ ยศพล บุญสม อีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนเมืองที่แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมตามทักษะความสามารถที่ตนเองมีอยู่ จุดสำคัญอยู่ที่การเริ่มต้นที่จะทำ … มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมก้าวเดินไปด้วยกัน

12189619_770192703109032_732024361451769705_n 12246904_771339496327686_1645176619403144779_n 12246994_771388202989482_4124300264647151958_n 12247069_771387699656199_8539720471561213675_n

อ้างอิง: FOR on Facebook
Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร