‘ยุทธนา อโนทัยสินทวี’ นักออกแบบผลิตภัณฑ์…เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน

จากประวัติศาสตร์วิทยาการและการคิดค้นของมนุษยชาติที่ผ่านมา มีนักประดิษฐ์จำนวนไม่น้อยที่ผลิตผลงานของตนโดยเริ่มจากการเป็นงานอดิเรกที่ทำในเวลาว่าง ไม่ใช่งานประจำหรืออาชีพหลัก ซึ่ง ยุทธนา อโนทัยสินทวี คือนักประดิษฐ์ผู้ซึ่งเข้าข่ายตามลักษณะข้างต้น จากการทำงานประดิษฐ์เป็นแค่งานอดิเรก พัฒนามาสู่อาชีพ จนได้สร้างให้เกิดเป็น ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อ Garmento Board และสินค้าแบรนด์ The ReMaker

Q : สิ่งที่ทำอยู่คือผลิตภัณฑ์อะไร

A : ผลิตภัณฑ์ Garmento Board เป็นวัสดุที่ได้จากการนำเศษผ้าที่เหลือทิ้ง มาอัดขึ้นรูปให้เป็นแผ่นกระดาน เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ คุณสมบัติของตัววัสดุชนิดนี้คือ มีความแข็งเหมือนไม้พาติเคิลบอร์ด แต่สามารถทนความชื้นได้ดีกว่า แล้วก็มีคุณสมบัติการหน่วงไฟดีกว่า ที่สำคัญ…เป็นการ Reuse เศษวัสดุได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะไม่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการนี้

Q : ได้รับแรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากไหน?  

A : ผมทำงานออกแบบพวก งาน fashion accessory  พวกกระเป๋า พวกของใช้ต่างๆ ซึ่งทำจากวัสดุมือสองอยู่ก่อนแล้ว โดยทำเป็นงานอดิเรกตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ไม่ได้คิดว่ามันจะมาเป็นธุรกิจอะไรได้ แต่วันหนึ่งมีเพื่อนดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นสนใจ เห็นว่างานเราน่าจะทำตลาดได้ ก็เลยลองเอาไปขายดู ก็เลยเริ่มเป็นธุรกิจมาตั้งแต่ตอนนั้น และเปิดเป็นบริษัทในปี 2004 แล้วก็เอาวัสดุเหลือใช้พวกเสื้อผ้ามือสอง กางเกงยีนส์ ชุดทำงาน มาออกแบบเป็นกระเป๋าบ้าง เป็นของใช้บ้าง และทำเรื่อยมา

เสื้อผ้าเหล่านี้พอเอามาตัดเป็นกระเป๋าเป็นของใช้แล้ว ด้วยรูปแบบการดีไซน์ก็ต้องมีส่วนที่เป็นเศษเหลือทิ้ง เศษที่เราตัดกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ผมก็เลยมาคิดว่า เราน่าจะทำอะไรกับเศษเหลือทิ้งพวกนี้ให้มีค่ามากขึ้นได้ เลยลองเอามาเย็บต่อกันเป็นผืน แล้วนำมาเย็บเป็นกระเป๋าอีกเป็นรอบที่สอง เสร็จจากนั้นแล้วก็พบว่ายังเจอปัญหาเดิม คือยังเหลือเศษอีก คราวนี้เป็นรอบที่สาม ซึ่งเป็นเศษที่ชิ้นเริ่มเล็กลง แล้วก็มีรอยต่อเยอะ ทำให้เอามาทำงานยากขึ้น ก็เลยไม่ได้ทำอะไรกับมันต่อ

(photo: core77)

(photo: core77)

Q : แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้คิดอยากทำ Garmento Board คืออะไร?  

A : หลังจากที่ยังหาไอเดียในการจัดการกับเศษเหลือทิ้งไม่ได้ ผมก็เก็บพวกนั้นเอาไว้ เก็บไว้เรื่อยๆ ประมาณ 2-3 ปี จนเริ่มเยอะ แล้วเผอิญว่าช่วงนั้นผมเริ่มเลี้ยงสุนัขซึ่งเป็นลูกสุนัขที่ฟันกำลังขึ้น ก็เลยเที่ยวไล่แทะของใช้ในบ้าน มีอยู่วันหนึ่ง มันไปแทะขาเก้าอี้จนเหวอะออกมา ก็เลยเห็นว่าเป็นไม้ซึ่งทำจากขี้เลื่อยอัดขึ้นมา จึงเกิดปิ๊งไอเดียว่า ขนาดขี้เลื่อยยังขึ้นรูปขึ้นเป็นไม้ได้ แล้วเศษผ้าที่เรามีก็เป็นไฟเบอร์เหมือนกัน ทำไมจะทำไม่ได้ ก็เลยลองพยายามพัฒนาขึ้นมา

Q : เริ่มกระบวนการพัฒนาอย่างไร?

A : ผมเริ่มคนเดียวก่อนเพราะเราไม่มีทุน ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน ตอนแรกก็ยังคิดว่า เราคงไม่ใช่คนที่คิดหรอก มันต้องมีคนคิดอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทดูทั่วโลกว่ามีใครทำแล้วบ้างหรือเปล่า ใช้เวลาว่างหลังจากทำงานประจำหาข้อมูลอย่างเดียวอยู่ประมาณ 3-4 เดือน ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย พอไม่มีใครทำผมก็เลยเริ่มคิดที่จะลงมือทำอย่างจริงจังมากขึ้น ในขั้นแรกผมยังนึกภาพไม่ออกว่าวัสดุนี้จะมีรูปร่างหน้าตายังไงหรอก ผมเริ่มเทียบเคียงกับวัสดุที่มีอยู่แล้วอย่างไม้อัด จากนั้นก็เริ่มติดต่อตามโรงงานไม้อัดที่มีอยู่ในประเทศ ปรากฏว่าถ้าจะทำต้องใช้เงินทุนสูงมากเพราะต้องวางไลน์การผลิตใหม่หมด มันไม่คุ้มที่เราจะทำ ผมจึงต้องหยุดความคิดนี้ไปเพราะว่าต้องใช้เงินเยอะมาก ซึ่งเราไม่ใช่บริษัทใหญ่โตที่จะมีเงินมากขนาดนั้น

Q : อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาตัดสินใจสู้ต่ออีกครั้ง?

A : มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ไปเดินที่งานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีบูทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอยู่ในนั้นด้วย ผมจึงเข้าไปคุยด้วย ก็ปรากฏว่าทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีโครงการให้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราก็เลยเอาไอเดียนี้เข้าไปคุยกับเขา ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งทางนั้นก็แจ้งผลมาว่า อนุมัติโครงการนี้ หลังจากที่โครงการได้รับการอนุมัติ ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งก็ได้ช่วยหานักวิจัยให้ซึ่งก็คือทางกรมป่าไม้ ผมจึงได้ทุนไปวิจัยที่กรมป่าไม้ ให้เขาช่วยเหลือเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือในการทดลอง เพราะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง

Q : ในระหว่างการทดลองต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง? แล้วผ่านอุปสรรคนั้นมาได้อย่างไร?

A : อุปสรรคเยอะครับจะมีเป็นช่วงๆ อย่างช่วงการทดลอง ครั้งแรกผลของมันไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ คือเนื้อผ้าจับตัวเข้ากัน แต่ยังไม่มีความแข็ง จากนั้นก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้  เริ่มมีกำลังใจว่าความคิดของเราเริ่มต้นมาถูกทางแล้ว อาศัยการทดลองไปเรื่อยๆ หาสูตรที่ลงตัว เปลี่ยนกาว ผสมกาวเพิ่ม เพิ่มอุณหภูมิ ปรับลดอุณหภูมิ ปรับความดัน ลองผิดลองถูกอยานานพอสมควร จนกระทั่งได้แบบที่ตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการ จากนั้นผมก็เอาวัสดุต้นแบบที่ได้เข้าไปคุยกับทาง TCDC เขาก็เอาวัสดุตัวนี้ส่งต่อไปที่นิวยอร์ค ซึ่งเป็น Material Connextion สาขาแม่ เพื่อตรวจเช็คดูในระบบเขาทั้งหมด ปรากฏว่ายังไม่มีใครทำวัสดุนี้มาก่อน เขาจึงอนุมัติให้เข้าบรรจุในห้องสมุดเขาแล้วนำไปวางประจำทุกสาขาทั่วโลก หลังจากนั้นก็ลองส่งประกวดที่นิวยอร์ค แล้วก็ชนะเลิศได้รางวัล Best Material Award ของระดับโลก เราจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังจากนั้นมา

ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่พบคือ ปัญหาด้านทัศนคติของผู้บริโภค ผมเคยลองนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก Garmento Board ไปออกงานที่ศูนย์สิริกิติ์ ปรากฏว่ามีคนเข้ามาสนใจจะซื้อ พออธิบายถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ เขาไม่ซื้อเลย เพราะทัศนคติเขาตอนนั้นยังเป็นลบ คิดว่านี่คือของเหลือใช้ เป็นของมือสอง เราอุตส่าห์อธิบายในสิ่งที่เราภาคภูมิใจ แต่ผลตอบรับกลับเป็นตรงกันข้าม

จากประสบการณ์เราพบว่า คนไทยยังยอมรับสินค้าตัวนี้ได้น้อย ฉะนั้นเราต้องมองระดับโลก มองกฎเกณฑ์ของต่างประเทศ แต่จะมีอุปสรรคทางด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นเหมือนกำแพงที่เราต้องข้ามไปให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็เป็นศูนย์ ตัวอย่างเช่น เรื่องมาตรฐานต่างๆ อย่างสารฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งถ้าจะส่งไปยุโรปได้ต้องผ่านตรงนี้ เราก็แก้ปัญหาด้วยการพยายามเลือกสารประกอบที่ไม่มีตัวนี้ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้เลยคือ ด้านเงินทุน จริงๆ ผมก็ยังไม่กล้าลงทุนเต็มตัว เพราะว่าข้อเสียของวัสดุชนิดนี้คือ มันเป็นแฟชั่น ซึ่งหมายความว่า คนจะเบื่อง่าย เป็นวัสดุที่วูบวาบ ถ้าเราสร้างโรงงาน นั่นหมายความว่า มันจะดีแค่ช่วงสั้นๆ แล้วหลังจากนั้นคนจะเริ่มชิน เริ่มเบื่อ พอคนเบื่อมันก็เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ผมจึงหยั่งขาได้ไม่เต็มตัว เพราะว่าติดปัญหาในเรื่องความวูบวาบของแฟชั่น ตอนนี้ผมพยายามจะแก้ปัญหานี้ด้วยการมองหาผู้ร่วมทุนที่พร้อมจะลุยตรงนี้กับเรา เมื่อดูจากคุณสมบัติ ผมคิดว่าตอนนี้ Garmento Board ถือว่าอยู่ในขั้นที่พร้อมจะ commercial ได้แล้ว

(photo: archello)

(photo: archello)

(photo: archello)

(photo: archello)

Q : นอกจากผลงาน Garmento Board แล้ว ยังมีแบรนด์ The ReMaker ด้วย

A : The ReMaker เป็นสินค้าหลักของเราที่ทำอยู่ก่อนแล้วอย่าง กระเป๋า เครื่องใช้จากเสื้อผ้ามือสองภายใต้แบรนด์ ซึ่งเราเริ่มทำเป็นเจ้าแรก และมีการพัฒนาไอเดียอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้สินค้าตัวล่าสุดคือ กระเป๋าจากยางในรถจักรยานยนต์ ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน ผมสนใจเพราะผมเห็นว่าบ้านเราใช้จักรยานยนต์กันเยอะ แต่ไม่มีการนำยางในเก่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ผมเลยนำมาดัดแปลงให้เป็นกระเป๋า หรือเป็น accessory ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ผลตอบรับดีมาก

Q : มีปัญหาและอุปสรรคเยอะ ทำไมจึงคิดว่ายังอยากที่จะทำตรงนี้ต่อไป?

A : เพราะเสน่ห์ของมันครับ ในความที่มันมีเอกลักษณ์ ความไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนกันเองแม้กระทั่งแต่ละชิ้น มันมีความโดดเด่นมีเสน่ห์ หลายคนอาจนึกว่าทำเพราะต้นทุนถูกกว่า แต่จริงๆ แล้วสินค้าประเภทนี้มีต้นทุนสูงกว่า โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องค่าแรง เมื่อเทียบกับงานที่ใช้วัสดุใหม่ แต่ที่ทำนี่เพราะใจอยากทำล้วนๆ

Q : มีความคิดเห็นอย่างไรกับสินค้าที่นิยามตัวเองว่าเป็นสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม?

A : ตอนที่ผมเริ่มทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึงการเอาวัสดุเหลือใช้มาใช้ การรีไซเคิล หรือว่าการรณรงค์เกี่ยวกับการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัสดุที่ Eco นี่ ไม่มีใครพูดถึงเลยนะ มีแต่คนทัศนคติไม่ดี แต่ในปัจจุบันคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น แสดงว่าผู้คนเริ่มให้การยอมรับมากขึ้น แต่ในมุมมองของลูกค้าเรื่องความ Eco ผมว่ามาทีหลัง คือทุกคนรู้ว่ามัน Eco ทุกคนชัดเจนและตระหนักกับมันดีว่ามันคือ Eco 100% พอใช้งานเขาต้องมีความรู้สึกที่เขาชอบมันจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ซื้อเพราะว่ามัน Eco หรือรักษ์โลก Eco นี่เป็นเหตุผลรอง

จากประสบการณ์ของผมเท่าที่ทำมานะครับ Eco เป็นเหตุผลรองทั้งหมดเลยในการตัดสินใจของลูกค้า ตอนแรกเราคิดว่า แค่ Eco คนก็ซื้อแล้ว แต่ในความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ลูกค้าจะสนใจสินค้าเพราะความ Eco เป็นข้อสุดท้าย เพราะเหตุผลแรกที่ลูกค้าจะสนใจและตัดสินใจซื้อก็คือ สินค้านั้นมีความสวยงาม และมีโอกาสในการใช้งานมากน้อยเพียงใด ถ้าหากของไม่สวย เขาไม่พึงพอใจหรือไม่ชอบ เขาก็จะไม่ซื้อเลย ต่อให้ Eco สุดๆ ก็ไม่ซื้อ สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นจะต้องคำนึงถึงการออกแบบที่มีความสวยงามและเหมาะสมกับผู้ใช้งานควบคู่กันไปด้วย

Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร (Ketsiree Wongwan)