‘Opendream’ เปิดฝันงานไอที ธุรกิจนี้ขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร

จะมีใครคิดว่า สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือชื่อที่เราคุ้นหูกับคำว่าไอที จะสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไป การช่วยเหลืองานสังคมคงจะหมายถึง การเขย่าสังคมให้ตื่นผ่านการประท้วง งานมูลนิธิ องค์กรการกุศล ฯลฯ บ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิที่หายไป บ้างเพื่อเด็กกำพร้า บ้างเพื่อคนสูงวัย บ้างเพื่อเด็กพิเศษ หรืออาจจะช่วยต้นน้ำ ลำธาร และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสาขาอาชีพสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพลิกศักยภาพของเราเข้าไปช่วยอะไร เหมือนดั่งเช่นคู่หู (และคู่ชีวิต) วิศวกรคอมพิวเตอร์ ปฏิพัทธ์ สุสำเภา (เก่ง) และ พัชราภรณ์ ปันสุวรรณ (หนึ่ง) ที่หันหลังให้กับการทำงานในองค์กรที่เน้นผลกำไร รายได้สูงสุด เป็นหลัก มาสู่การก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้ชื่อ Opendream

Q : Opendream มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และเหตุใดคุณเก่งจึงเริ่มหันมาสนใจทำกิจการเพื่อสังคม

A : หลังจากจบการศึกษาด้านวิศวคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ผมก็เดินตามขั้นตอนการทำงานเหมือนคนทั่วไป นั่นคือการเข้าไปสมัครงาน สัมภาษณ์ และเริ่มต้นทำงานในองค์กร แม้ว่าจะดูเหมือนว่ามีความมั่นคง เลี้ยงดูตัวเองได้ พร้อมอนาคตในหน้าที่การงานที่พอคาดเดาได้ว่า เราจะมีโอกาสก้าวไปถึงตำแหน่งไหน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด ผมเคยเปลี่ยนงานบ่อย กระโดดไปตามโอกาสที่เปิดกว้าง แต่ในที่สุดก็ต้องมานั่งถามตัวเองว่า นี่คือรูปแบบชีวิตการทำงานที่เราต้องการหรือไม่ ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานช่วงเวลาเดียวกับคู่คิด คุณหนึ่ง (พัชราภรณ์) ที่มีความคิดเห็นในมุมมองเดียวกัน

ในช่วง 6 เดือนแรกหลังลาออกจากงาน เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ยังโชคดีที่มีโอกาสได้ทุนไปญี่ปุ่น 1 เดือน พอกลับมาก็ทำงานอิสระ รับงานจากต่างประเทศที่มีรายได้งาม ส่วนคู่คิดคุณหนึ่งก็เริ่มไปอบรม พร้อมวางแผนที่จะไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ แต่พอเข้าสู่ช่วง 6 เดือนหลังของปี เรามีโอกาสได้พบเพื่อนที่ทำงานทางด้านไอที ในช่วงนั้น เราเริ่มเห็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงในแวดวงอุตสาหกรรมไอที เช่น แนวคิดของ Web 2.0 ที่ทำให้เกิด สารานุกรม วิกิพีเดีย และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวงการข่าว ในช่วงนั้นเราอาจจะได้ยินคำว่า ‘สื่อพลเมือง’ (Citizen Journalist) อันเป็นการปฏิวัติรูปแบบแนวคิดของการทำอาชีพนักสื่อสารมวลชนกลายๆ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่ในมุมต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ผ่านช่องทางด้านไอที ซึ่งทำให้ผมเห็นโอกาสในการใช้องค์ความรู้ที่ตนเองถนัดมอบกลับคืนสู่ภาคสังคมได้

ในช่วงปลายปี 2550 เพื่อนสนิทคนเดิมจาก Change Fusion สุนิตย์ เชรษฐา ได้เข้ามาจุดประเด็นอีกครั้งกับแนวคิดของกิจการเพื่อสังคมที่ผสมผสานกันระหว่าง มุมมองภาคธุรกิจกับการช่วยเหลือภาคสังคมเข้าด้วยกัน สุนิตย์ได้ยกตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท Mahati จากอินเดีย ที่เริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคมโดยให้ความช่วยเหลือกลุ่ม NGO ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในฟิลิปปินส์และอังกฤษเป็นกรณีศึกษาด้วย และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมตัดสินใจเปิดความฝันกับ Opendream บริษัทที่ให้บริการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ รวมไปถึงการเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารทางด้านเทคโนโลยี เช่น Mobile Application เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรอิสระที่มีเป้าหมายเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก

Q : แนวคิดในการดำเนินกิจการเพื่อสังคมของ Opendream เป็นเช่นไร

A : ผมมองว่าภาคสังคมมีความจำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่องานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะพลิกเงินจำนวนน้อยแต่มีค่าก้อนนั้นให้กลายเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่สามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้อย่างสูงสุด ณ ตอนนั้นเรามองว่า การบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ (Cost Effectiveness) รวมกับ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Technology Efficiently) น่าจะเป็นแนวคิดหลักในการทำงานอาสาสมัครทางด้านไอที

เรามีเครื่องมือตั้งแต่เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสุดๆ อย่าง SMS ไปจนถึงเทคโนโลยีแบบหรูๆ อย่าง Mobile Application แต่เนื่องจากเราไม่รู้ถึง ‘ปัญหา’ เพราะเราทำหน้าที่ในการให้ ‘บริการด้านไอที’ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับ partnership เพื่อนำเครื่องมือที่เรามีไปแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2551 เราพบว่า ข้อมูลทางด้านสุขภาพของเรามีปัญหา อาทิ ถ้าเราค้นหาคำว่า ‘สุขภาพ’ สิ่งที่กูเกิ้ลค้นพบกลับเป็น ‘ยาลดความอ้วน’ ซึ่งนั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องตรงประเด็น และเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ ที่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน มูลนิธิที่มีหนังสือหมอชาวบ้านที่ให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องสุขภาพที่ดีย้อนหลังกลับไปถึง 30 ปี และมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ไปสู่อินเทอร์เน็ท เราจึงทำหน้าที่แปลงข้อมูลจากหนังสือทั้งหมด ที่รวบรวมบทความดีๆ กว่า 2 หมื่นบทความ มาแปลงเป็นสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต หลังจากเปิดเว็บไซต์หมอชาวบ้าน (www.doctor.or.th) ในเดือนแรก ข้อมูลดีๆ จากหนังสือที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงกลับสามารถสร้างการรับรู้ได้ถึง 150,000 ครั้งในเดือนแรก และวันนี้มีคนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซท์หมอชาวบ้านถึง 450,000 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า งานไอทีสามารถขับเคลื่อนภาคสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

Q : อุปสรรคสำคัญในการทำงาน ที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เราเรียนรู้จนสามารถปั้นฝัน Opendream ในวันนี้คืออะไร

A : ผมมองว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ‘ผู้ร่วมงาน’ ภายในองค์กร นอกเหนือไปจากเป้าหมายขององค์กรทุกแห่งที่ต้องการงานดี มีคุณภาพ มีความเหมาะสม สามารถสร้างพลังของการรับรู้ (Impact) สู่สังคมในวงกว้างให้มากที่สุด และสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว ‘ผู้ร่วมงาน’ ทุกท่านควรมีความเข้าใจแนวคิดของวัฒนธรรมในองค์กรด้วย ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า พนักงานที่ออกไปเป็นคนไม่ดีนะครับ เพียงแต่มุมมองในการทำงานของแต่ละท่านมีความแตกต่างกัน เหมือนเช่นสมัยก่อนที่ผมเปลี่ยนงานบ่อยก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ดังนั้นการรับผู้ร่วมงานเข้ามา นอกจากความสามารถทางด้านไอทีแล้ว เขาจะต้องเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรด้วย เพราะหน้าที่ของเขาไม่ใช่พัฒนางานทางด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เขาจะต้องสามารถเลือกเครื่องมืออย่างเหมาะสมกับองค์กรที่เราร่วมเข้าไปทำงาน และที่สำคัญจะต้องสามารถสร้างการรับรู้ (Impact) สู่ภาคสังคมได้ด้วย

ปัจจุบันเรามีพนักงานอยู่ที่ 26 ท่าน ทุกครั้งที่รับงาน เราจะย้ำเสมอว่า เราจะต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เราทำ เพื่อผลิตงานที่สามารถตอบโจทย์ของพันธมิตรที่ร่วมทำงานกับเรา ภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสม งบประมาณที่จำกัด และในกรอบระยะเวลาที่วางแผนไว้ ที่สำคัญเราจะต้องสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วย เมื่อพนักงานเข้าใจถึงส่วนผสมนี้แล้ว เขาก็จะเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด เวลาคิดงานแต่ละโครงการก็จะมีความสมเหตุสมผล อันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการทำงานที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้


Q : Opendream มีสัดส่วนในการรับงาน และส่งคืนกลับสู่สังคมอย่างไรบ้าง

A : ปัจจุบัน Opendream เน้นรับงานภาคสังคมอยู่ที่ 95% และอีก 5% เป็นงานภาคธุรกิจทั่วไป (อย่างเช่นในปีนี้ เรารับงานภาคธุรกิจเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น) นั่นหมายถึงเรานำองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านไอทีเข้าไปสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อภาคสังคม ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนรายได้ของเราอยู่ที่ภาคสังคมประมาณ 80% และที่เหลือเป็นของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ผลกำไรที่เราได้รับจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคร่าวๆ โดย 30% แรกเราเก็บเป็นเงินทุนไหลเวียนของบริษัท, 30% ถัดมาเรานำมาพัฒนาศักยภาพของผู้ร่วมงานภายในองค์กร เช่น การอบรม การดูงาน เป็นต้น, อีก 30% เรานำมาใช้ในงานวิจัยเพื่ออนาคต และ 10% ที่เหลือเราจะเก็บสำรองไว้เป็นเงินทุนช่วยเหลือองค์กรภาคสังคมที่อาจมีงบประมาณน้อยในด้านการพัฒนางานไอที

Q : มองอนาคตของ Opendream ไว้ที่จุดใด

A : เราเริ่มต้นจากการให้บริการงานด้านไอที ทำงานกับองค์กรภาคสังคมเพื่อร่วมพัฒนางานพร้อมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่พอถึงจุดหนึ่งเราคิดว่ามันอยู่ไม่ได้ถ้าเราต้องการสัดส่วนของกำไรที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้สู่ภาคสังคมให้มากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรับคนมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้มากขึ้น ดังนั้นความเป็น Economies of Scale (การประหยัดเนื่องมาจากขนาด) จึงม่สอดคล้องกับลักษณะรูปแบบการทำงานที่เราตั้งเป้าไว้ในอนาคต ดังนั้นในปีหน้าและปีต่อไป เราจะวางเป้าหมายในการพัฒนางานบริการให้ตรงเป้าประสงค์มากขึ้น โดยจะโฟกัสแนวทางการทำงานไว้ 3 กลุ่ม

1. งานด้านสุขภาพ โดยการผลักดันโครงการที่เราร่วมพัฒนา เช่น Doctor Me ทั้งในส่วนของการพัฒนาเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นกว่าที่เราเคยประสบความสำเร็จมา ทั้งนี้ประโยชน์ที่ภาคสังคมจะได้รับคือ ข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายด้วย ถ้าเรารู้จักการดูแลรักษาสุขภาพในเบื้องต้นมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเราได้ลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องเข้าการรักษาที่โรงพยาบาล อันเป็นการช่วยเหลือสังคมหลายภาคส่วน

2. ด้านการศึกษา จะมุ่งเน้นในส่วนของการให้ความรู้ด้านการใช้ชีวิตที่นอกเหนือไปจากวิชาการหนักๆ แต่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้เพื่อให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตมากขึ้น (Life Education) เช่น วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) สร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) หรือ การงานพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) โดยจะนำประสบการณ์ด้านไอทีมาย่อยข้อมูลเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น การแปลงเรื่องเพศศึกษาให้เป็นเกมในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ภายใต้ชื่อ Love not Yet (ภาคภาษาไทย) หรือ Love ‘n’ LOL (ภาคภาษาอังกฤษ) โครงการนี้เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับภาพยนตร์เรื่องรักจัดหนัก ที่นำเสนอแง่มุมของวัยรุ่นในเรื่องเพศ ผนวกกับประเด็นที่เรามักมีความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาที่ผิดๆ อยู่หลายข้อ เช่น วิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 ที่ถูกต้อง, การใส่ถุงยาง 2 ชั้นจะปลอดภัยมากกว่าการใส่ชั้นเดียว, ถ้าฝ่ายรับเอาขาชี้ฟ้าแล้วจะไม่ท้อง ฯลฯ ซึ่งความเข้าใจต่างๆ เหล่านี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ประเทศไทยมีตัวเลขของผู้หญิงที่ท้องก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นการเรียนรู้ผ่านเกมจะมีส่วนช่วยทำให้วัยรุ่นและคนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อมูลได้อย่างง่ายๆ และถูกต้อง

3. งานด้านการวิจัย เป็นการต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออนาคต

สาเหตุที่เราตั้งเป้าหมายขึ้นมา เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมา Opendream มีโครงการที่หลากหลายมากมาย จนทำให้เราขาดโฟกัส ดังนั้นเราจึงวางแนวทางในการทำงานเพื่อให้เราสามารถวัดค่าได้ว่า Opendream สร้างการรับรู้หรือสร้าง Impact ต่อสังคมได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้เราจะเริ่มวิ่งเข้าหาองค์กรต่างๆ มากขึ้น โดยทำงานในลักษณะเชิงรุก (Proactive) มากกว่านั่งรองานวิ่งเข้ามาเหมือนที่เคย

Q : อยากให้คุณเก่งช่วยฝากแนวคิดให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นสร้างธุรกิจหน่อยครับ

A : ผมแนะนำ ‘ให้ทำไปเลย’ ครับ โดยเราจะต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะทุกธุรกิจมีโอกาสเจ๊งจากเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝันได้เท่าๆ กันหมด แนวคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะกับกิจการเพื่อสังคมอย่างเดียว ยิ่งเจ๊งเร็วเราจะได้เรียนรู้เร็วและปรับให้ทันว่า ‘เราจะไปทำอะไรต่อ’ และเราไม่ควรจมกับปัญหา เช่น ผมเคยประสบปัญหากับผู้ร่วมงาน เกิดคำถามว่า ทำไมน้องไม่คิดแบบนี้ ทำไมน้องไม่เข้าใจกับงานภาคสังคมบ้าง แต่ถ้าเรามัวจมกับปัญหาเราก็จะไม่เดินไปไหน ดังนั้นเราจึงควรยอมรับความแตกต่าง แล้วเดินหน้าไปให้ได้บนความแตกต่าง เปรียบได้กับการใช้สติในการระลึกเสมอว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และจงอย่าลืมว่า ‘เป้าหมาย’ ที่ตัวเองต้องการคืออะไร และท้ายที่สุดอย่าลืมว่า เรากำลังทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำให้ดีที่สุด

จากจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2550 ณ วันนี้ Opendream เริ่มเปิดฝันสู่เป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น การเรียนรู้ตลอด 6 ปีของการทำงานภาคสังคม นอกจากจะสร้างบุคลากรคู่องค์กรที่คิดดีใจดีแล้ว ยังช่วยสร้างโครงการเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากมาย เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า กิจการเพื่อสังคมสามารถเลี้ยงดูตัวเองพร้อมเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งได้ด้วยเช่นกัน