‘จัง-หวะ-จะ-เดิน’ รายการทีวีไทยชั้นดีที่ใช้ดนตรีนำทางชีวิต

“กว่า 100 วันของการเดินทาง เพื่อบันทึกกว่า 100 เสียงดนตรี ผ่านเรื่องราวของกว่า 100 ชีวิต สะท้อนผ่าน 13 บทเพลง” คุณเริ่มเห็นสิ่งดีๆ แล้วใช่ไหม

‘จัง-หวะ-จะ-เดิน’ หรือ A Walk To Melody (อะ วอล์ก ทู เมโลดี้) เป็นรายการแนวโร้ดทริปรายสัปดาห์น้องใหม่ทางช่องไทยพีบีเอส ออกอากาศตอนแรกไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม และจะมีเพียง 13 ตอน 13 สัปดาห์ ภายใต้ 13 เพลงที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระเอกในการดำเนินเรื่อง ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตของตัวละครในตอนนั้นๆ ด้วย

การเป็นพระเอกในที่นี้คือการกำหนดเรื่องราวที่จะเล่า ให้เพลงเป็นคอนเซ็ปต์ของแต่ละตอน จากนั้นก็ร้อยเพลงเข้ากับเรื่องราวของแขกรับเชิญที่เชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์มาตัดสลับกัน โดยรักษาประเด็นสำคัญในตอนท้าย คือนำเพลงประจำตอนมาทำใหม่ (คัฟเวอร์นั่นแล) ขับร้องและเล่นเครื่องดนตรีโดยแขกรับเชิญที่ร่วมรายการเพื่อตอกย้ำหัวข้อที่เล่าในตอนนั้นๆ นั่นบอกเป็นนัยได้ว่า ตัวละครส่วนใหญ่ที่ปรากฎเป็นนักดนตรี นักร้อง หรือเป็นผู้สร้างผลงานเชิงศิลป์ ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ แต่ก็ยังมีอาชีพอื่นๆ ทั้งที่มีและไม่มีความสามารถในการเล่นดนตรีร่วมด้วย โดยในภาพการร่วมร้องร่วมเล่นซึ่งบันทึกจากที่ต่างๆ กันทั่วประเทศและเป็นเหมือนมิวสิควิดีโอประจำตอน ยังมีการเผยให้เห็นแขกรับเชิญในตอนต่อไป แถมมีเซอร์ไพรส์เป็นศิลปินมือทองที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีมาร่วมร้องอีกต่างหาก

การร้องเพลงต่อๆ กันที่หวังให้เกิดเป็นเสียงสะท้อนถึงสังคม เชื่อมเข้ากับแง่คิดชีวิตของคนที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่เรามองข้ามแบบนี้ คุ้นตาชาว CreativeMove มาแล้วครั้งหนึ่งในบทความ Playing For Change ดนตรีเปลี่ยนโลก เพื่อเด็กด้อยโอกาส เมื่อกลางปีก่อน ‘จัง-หวะ-จะ-เดิน’ ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากโครงการนี้ บวกกับความคิดในทางอื่นๆ ของทีมงาน ซึ่งไม่แปลกใจเมื่อปรากฏชื่อชัชวาล วิศวบำรุงชัย จากรายการ ‘หัวใจยังเต้น’ เป็นผู้ผลิตรายการ (เป็นมือกลองวง 7th Scene ที่มีคุณสแตมป์ อภิวัชร์ เป็นนักร้องนำด้วย)  และมีคุณอภิชา สุขแสงเพ็ชร จากวง The Begins และเป็นหนึ่งในทีมงานหลักฝั่งดนตรีของ The Voice Thailand เป็นผู้กำกับดนตรีและดำเนินรายการรายการนี้ด้วยตัวเอง

30 นาทีเป็นเวลาที่สั้นสำหรับรายการที่มีรายละเอียดเยอะขนาดนี้ แต่ทีมงาน Geek House Production ก็มีความตั้งใจทำให้คนดูเข้าใจได้ง่าย โดยเล่าเรื่องไปเป็นส่วนๆ แต่ไม่มีการแบ่งตอนขัดจังหวะ พวกเขาเจอความท้าทาย แต่พวกเขามีความพยายามที่ใหญ่ไม่แพ้ชีวิตของแขกรับเชิญแต่ละคน พยายามตั้งแต่ 100 วัน 100 คน การสัมภาษณ์ การบันทึกเสียงเพลงในทุกๆ ที่ที่เดินทาง ก่อนจะมาถึงห้องตัดต่อ และการส่งออกอากาศในทุกวันอาทิตย์ 22.05 น. (รีรันในวันศุกร์ 15.30 น.) เราเข้าใจว่าความพยายามนี้มาจากความตั้งใจที่จะ ‘ให้’ ผ่านดนตรี ดังที่คุณรัตนะ มากรุ่ง นักดนตรีอิสระผู้พิการทางสายตาพูดเอาไว้ว่า…

“ถ้าเล่นดนตรีเป็นกันหมด ไม่มีใครมานั่งดูหรอก เพราะฉะนั้นต้องมีคนเล่นไม่เป็น เพื่อจะได้มาดูคนที่เล่นเป็น ทุกอย่างถูกสร้างมาให้เกื้อกูลกัน เมื่อทุกอย่างถูกสร้างมาให้เกื้อกูลกัน ทุกคนจะมีประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยกลไกของมันอยู่แล้ว ผู้พิการหรือคนปกติจึงไม่ต่างกัน แค่คุณจะให้ในบทบาทอะไร ลงมือให้ถ้าทำได้ ไม่เห็นต้องลังเล”

 

[youtube url=”http://youtu.be/P__DCdLQXtc” width=”600″ height=”338″]

ตัวอย่างรายการอย่างไม่เป็นทางการ

 

[youtube url=”http://youtu.be/aBXypEV-_5o” width=”600″ height=”338″]

ตอนที่ 1 ออกอากาศ 6 มกราคม 2556 ‘ส่งต่อความรัก’

 

[youtube url=”http://youtu.be/aBXypEV-_5o” width=”600″ height=”338″]

ตอนที่ 2 ออกอากาศ 13 มกราคม 2556 ‘หางเครื่อง’

 

คุณสุรวุฒิ โพธิภิรมย์ นักดนตรีอิสระ จ.ราชบุรี

ลุงไกร ชมน้อย จากศูนย์อบรมและจำหน่ายผักปลอดสารพิษ จ.นครราชสีมา (คนนี้เป็นขวัญใจผู้เขียนค่ะ)

ธันยกฤศ ฟองดาวิรัตน์ จากวง Harmonica Sunrise จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องจริงของดนตรีเอาไว้ในตอน ‘หางเครื่อง’ ว่า “ผมเชื่อว่าดนตรีคือภาษาภาษาหนึ่ง ที่ผมรักดนตรีเพราะว่าภาษานี้เล่าอะไรได้มากกว่าภาษาพูด”

คุณปัทพงศ์ คงสงค์ นายหนังตะลุง “หนังปอนด์ ประเสริฐศิลป์” จ.สุราษฎร์ธานี

คุณกานต์ เศรษฐกร วง Jazz Bacanus จ. เชียงใหม่ ที่ยอมรับว่า ดนตรีขัดเกลาให้เขาเป็นคนดีขึ้น

ภาพตัวอย่างจากตอนที่ 3 ‘ความทรงจำ’ ที่ออกอากาศ 20 มกราคมนี้

ภาพตัวอย่างจากตอนที่ 3 ‘ความทรงจำ’ ที่ออกอากาศ 20 มกราคมนี้

อ้างอิง: จัง-หวะ-จะ-เดิน