หมู่บ้านคลิตี้ล่างเป็นชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติรายล้อม โดยพึ่งพิงลำห้วยคลิตี้ในการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อแหล่งน้ำที่เป็นสายโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตได้รับการปนเปื้อนจากโรงงานแต่งแร่ตะกั่ว ชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทว่าด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและความจำเป็นในด้านสาธารณูปโภค ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านจำต้องอุปโภคบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำแหล่งนี้แม้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตมากเพียงใดก็ตาม
นี่คือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่โครงการสร้างโรงเรียนอนุบาลคลิตี้ล่างหลังนี้ขึ้น เพื่อที่ว่าอย่างน้อยการดำเนินชีวิตท่ามกลางการเผชิญหน้ากับปัญหาด้านมลพิษจากสารตะกั่วและการขาดโอกาสทางสังคมของพวกเขา จะมีสิ่งหนึ่งเป็นที่พึ่งพิงและเป็นแหล่งการศึกษาให้แก่เยาวชนในพื้นที่ให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
การออกแบบและการก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลหลังนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท Plan Associates และ Plan Studio ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มดินสอสีและคนในหมู่บ้าน พวกเขาเชิญชวนให้คนในแวดวงสร้างสรรค์ร่วมส่งผลงานการออกแบบโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งแม้จะไม่มีผลงานที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานจริง แต่กลับนำไปสู่การผสานความไม่สมบูรณ์ของแต่ะละงานจนได้แบบก่อสร้างที่มีความสมดุลระหว่างการใช้สอย การคงไว้ซึ่งคุณภาพของสภาพแวดล้อมรายรอบ และการใช้วัสดุเท่าที่คนในพื้นที่จะหามาได้
อาคารโรงเรียนได้รับการออกแบบให้มีความเรียบง่ายโดยเคารพต่อสภาพแวดล้อมที่มันตั้งอยู่และไม่แปลกแยกจากชุมชน วัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุพื้นฐานเท่าที่มีเพื่อตอบสนองในเชิงการใช้สอยเป็นหลัก โดยจะเป็นวัสดุที่มีความคงทนทั้งแดดและฝน รวมทั้งสามารถดูแลรักษาได้ง่าย นั่นคือ ไม้ที่ตัดโดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และเป็นไม้ที่มีระบบการจัดการที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีระบบทางนิเวศน์ ร่วมกับการนำไม้ไผ่ซึ่งนอกจากจะเป็นไม้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่และไม่ทำลายป่าในเชิงนิเวศวิทยา รวมไปถึงสามารถนำมาประกอบเป็นโครงสร้างด้วยเทคนิคที่ไม่ซับซ้อนแล้ว ไม้ไผ่ยังเป็นองค์ประกอบร่วมของอาคารที่ช่วยในเรื่องการระบายอากาศด้วยเช่นกัน สำหรับพื้นที่ใช้สอยจะประกอบไปด้วยห้องโถงที่เป็นพื้นที่โล่งเพียงหนึ่งห้อง ซึ่งทีมออกแบบตั้งใจให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถเป็นได้ทั้งห้องเรียน ห้องนอน โรงอาหาร ครัว และพื้นที่พักผ่อน ขณะที่ชานด้านหน้าถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับการสันทนาการ ห้องเรียนแบบเปิด และสนามเด็กเล่น โดยมีอัฒจันทร์กึ่งกลางแจ้งเป็นพื้นที่อบรม นั่งเล่น พูดคุย และชื่นชมธรรมชาติในชุมชน
การออกแบบที่มีโครงสร้างง่ายๆ กับการจัดสรรสัดส่วนที่ไม่ซับซ้อนและอาศัยวัสดุในท้องถิ่น ตลอดจนเทคนิคเชิงช่างตามวิถีของชุมชนภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหลังนี้อาจดูไม่น่าสนใจในเชิงวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม แต่ความมีชีวิตของสถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงแค่รูปลักษณ์เท่านั้น และโรงเรียนอนุบาลคลิตี้ล่างแห่งนี้แสดงเราเห็นชัดเจนถึงเรื่องราวที่สอดแทรกอยู่ในทุกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ นี่อาจจะเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงเรียบๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันกลับมีชีวิตอย่างน่าเหลือเชื่อ
พรีเซ้นท์แบบกับชาวบ้าน
ทีมออกแบบรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน
การจัดนิทรรศการเพื่อระดมทุน