ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาของทุกสังคมเมืองซึ่งเหล่าประชากรที่อพยพเข้ามาเมืองใหญ่ทำการเร่ร่อนไปตามแหล่งงานที่ไม่แน่นอน หรือไม่ก็ถูกสภาพเศรษฐกิจบังคับเป็นคนไร้บ้านโดยปริยาย เหมือนกรณีศึกษาที่เราพบได้ง่ายกับการที่ในอดีตคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครจะพาตัวเองมายังเตียงนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกับโรงแรมเสื่อสองผืนในสถานที่ที่เรียกว่า สนามหลวง แต่ในเมื่อพื้นที่เหล่านี้ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ เหล่าผู้ไร้บ้านก็ต้องย้ายไปยังที่ใหม่เรื่อยๆ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือที่พักแค่ชั่วคราว ไม่ถาวร เพียงเพื่อจะไปหางานรายวันทำในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น
แต่ปัญหาของเหล่าคนเร่ร่อนไร้บ้านได้ถูกทดลองหาทางแก้ไขจากการตีโจทย์เป็นงาน ‘A-KAMP47′ ซึ่งเสนอการแก้ปัญหาจากการออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิก Malka Architecture จากปารีส ที่ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงทดลองเพื่อลดปัญหานี้ โดยได้แรงบันดาลใจจากงานออกแบบเคหะสุดคลาสสิก ‘unité d’habitation’ โดย เลอ กอร์บูซิเยร์ ด้วยการฝากโครงสร้างเต้นท์เกาะไปกับนั่งร้านที่วางตัวขนานไปบนผนังเลียบทางรถไฟที่ประจัญหน้ากับศูนย์วัฒนธรรมในเมืองมาร์กเซย ฝรั่งเศส การออกแบบเหล่าเต็นท์ทั้ง 23 หน่วยนี้มีแนวคิดที่จะให้ที่พักพิงนี้สามารถปรับตัวได้ดี เคลื่อนย้ายง่าย ตอบสนองสาระการอยู่อาศัยชั่วคราวที่ต้องการที่พักต้านความหนาวเย็น ความเป็นส่วนตัว โดยที่ว่างภายในมีเพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยเพียง 1-2 คนต่อหน่วยเท่านั้น
แม้ว่าการทดลองของสถาปนิกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่มีคำถามมากมายถึงความแข็งแรง การป้องกันการขโมย ความปลอดภัย แต่ถ้าเจตนานี้เป็นเพื่อการใส่ใจเสียงส่วนน้อยในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็คงไม่มีสาเหตุที่จะไม่พัฒนาเพื่อหาคำตอบที่กอร์บูซิเยร์ และ Malka ยังค้างคาอยู่เป็นแน่
อ้างอิง: Pop Up City, Stephane Malka, designboom