คอนเซ็ปต์ใหม่ของสถานที่ราชการญี่ปุ่น แหล่งกิจกรรม แฮงเอาท์ เก๋ ฮิป!

Untitled-1

ราวกับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องออกแบบให้อาคารของรัฐบาลดูขึงขัง หลายครั้งดูไม่เป็นมิตรอบอุ่นเอาเสียเลย ทั้งในต่างประเทศจนมาถึงบ้านเราก็เช่นกัน อาคารราชการที่นิยมออกแบบให้สมมาตร ขึงขัง แลไม่เป็นมิตรที่บ้านเราได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมกับแนวคิดสถานที่ราชการต้องศักดิ์สิทธิ์ ความห่างไกลของสถาปัตยกรรมที่เป็นทางการกับชาวบ้านทั่วไปบางครั้งมันกว้างจนทำให้ชาวบ้านบางคนถอดรองเท้าก่อนเข้าสถานที่ราชการมาแล้ว!

แต่หากลองคิดมุมกลับ ถ้าเราสามารถให้อาคารราชการแลเป็นมิตร สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ประชาชนกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาคารเหมือนกับว่าเป็นพื้นที่ของเขาที่สามารถใช้ร่วมกันมากกว่าจะถูกผลักออกไป เลยขอยกตัวอย่างศาลากลางเมืองนากาโอกะที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น เคงโกะ คุมะ ที่นิยมตีความรูปแบบของอาคารทางวัฒนธรรมให้ร่วมสมัยไม่คร่ำครึ

สิ่งที่ทำให้ศาลากลางเมืองนากาโอกะมีรูปแบบที่น่าสนใจคือการสร้างโปรแกรมด้วยการผสมเข้ากันของสถานที่ราชการ ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร และลานเมืองเข้าด้วยกัน ผู้คนที่เข้ามาใช้สามารถมองเห็นกิจกรรมการทำงานของข้าราชการแต่ไม่มากด้วยการออกแบบให้มีผนังไม้บังบางส่วน การผสานโปรแกรมเข้าด้วยกันช่วยให้ลดความเคอะเขินในการใช้พื้นที่อาคารราชการ

และการออกแบบสามารถช่วยได้เช่นกัน สถาปนิกใช้แนวคิดจากการประยุกต์การใช้พื้นที่แบบโบราณของบ้านญี่ปุ่น ‘โดะมะ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ของส่วนภายในหลังบ้านที่ต่อเนื่องไปยังสวนด้านหลัง ทำให้พื้นที่ลานมีความลื่นไหลจากภายนอกสู่ภายใน และยังลดความอึดอัดด้วยการใช้หลังคาใสดึงแสงธรรมชาติเข้ามาอีก แม้ว่าจะดึงแสงเข้ามายังภายใน แต่การใช้เปลือกที่ทำจากไม้แผ่นกระจายตัวซ้อนไปบนผนังกระจกยังช่วยให้แสงภายในเบาลง และยังช่วยให้ตัวอาคารมีรายละเอียดแลดูเป็นมิตร ลดความเป็นทางการมากกว่าเป็นกล่องกระจกเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าสถานที่ราชการบ้านเราบางแห่งยังมีป้ายว่า ‘สถานที่ราชการ ห้ามเข้า’ แต่ญี่ปุ่นเขาพัฒนากันแล้วนะ

kk_naga01 kk_naga02 kk_naga03 kk_naga04 kk_naga06 kk_naga10kk_naga08 kk_naga09

อ้างอิง: Spoon & Tamago, designboom