‘BedZED’ ชุมชนสีเขียวต้นแบบ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนแท้จริง

ตามปรกติแล้ว การจะออกแบบหรือสร้างอาคารที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาสักหลัง นับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก ในการจะทำให้อาคารหลังนั้นๆ เกิดขึ้น และสามารถใช้งานได้จริงอย่างที่ผู้ออกแบบตั้งใจไว้ แต่นั่นก็ยังถือว่าน้อยนิด หากเทียบกับโครงการ BedZED ซึ่งโจทย์ในการออกแบบครั้งนี้ มิใช่แค่การสร้างอาคารเพียง 1 หลัง หรือ 2 หลัง หากแต่เป็นการออกแบบชุมชนทั้งชุมชน ให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยวด

ชุมชน BedZED (Beddington Zero Energy Development) เป็นโครงการพัฒนาที่พักอาศัยรูปแบบใหม่ ที่มิได้มุ่งสนองความต้องการของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย บนพื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยหน่วยพักอาศัย จำนวน 82 หน่วย โดยที่สถาปนิก Bill Dunster ได้ออกแบบให้อาคารทั้งหมด เป็นรูปแบบของอาคารแถว เพื่อการใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด

ชุมชนแห่งนี้ได้รับการวางแผนมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไม่เกิน 15 นาที ด้วยวิธีเดินเท้า เพื่อส่งเสริมให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ภายในชุมชนจะมีการจำกัดจำนวนรถยนต์ โดยเน้นให้คนหันมาเดินและใช้จักรยานแทน อาคารทุกหลังมีการคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด มีการใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อส่งพลังงานและเก็บไว้ใช้เอง ด้านบนของหลังคาเป็นที่ตั้งของปล่องระบายอากาศ ช่วยให้อากาศภายในสามารถหมุนเวียนได้ดี บริเวณผนังอาคารด้านทิศใต้ มีการใช้วัสดุที่เป็นฉนวนกันความร้อนอย่างดี เพื่อป้องกันความร้อนจากแดดที่ต้องรับตลอดทั้งวัน ด้านระบบประปา มีระบบกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ และระบบหมุนเวียนน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารทั้งหมด ล้วนมาจากแหล่งวัสดุภายในรัศมี 35 ไมล์ จากที่ตั้งโครงการ เพื่อลดมลพิษจากการขนส่ง

ชุมชน BedZED นี้นับเป็นตัวอย่างที่ดี และถือเป็นรูปธรรมของความพยายามในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างจริงจังและจริงใจ โดยใช้ความ ‘คิดสร้างสรรค์’ และ ‘การออกแบบ’ เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ หากแต่สิ่งที่ต้องเร่งทำควบคู่กันไปด้วยคือ การสร้างจิตสำนึกของผู้คน เพราะต่อให้ออกแบบสถาปัตยกรรมให้ดีเลิศและรักษ์โลกแค่ไหน แต่ถ้าผู้คนที่ใช้งานยังคงขาดจิตสำนึกด้วยแล้ว คงเป็นการยากที่ชุมชนแห่งนี้จะเป็น ‘ชุมชนสีเขียว’ ได้จริง ดังเช่นที่ผู้ออกแบบตั้งใจ

อ้างอิง : inhabitatrob aid