มองอย่างผิวเผินอาคาร BIQ ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี อาจจะมีรูปลักษณ์ที่ไม่แตกต่างจากอาคารทั่วๆ ไปเท่าใดนัก แต่เมื่อพิจารณากันให้ลึก จะพบว่า ภายใต้ความธรรมดาภายนอกนั้น มีความพิเศษและแตกต่างซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งความพิเศษที่ไม่เหมือนใครของอาคารหลังนี้คือ เป็นอาคารที่มีการนำสาหร่ายเซลล์เดียว (Microalgae) มาเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานและกันความร้อนให้กับตัวอาคาร
อาคารสีเขียวหลังนี้ออกแบบโดย บริษัทสถาปนิกสัญชาติออสเตรีย Splitterwerk Architects ร่วมกับที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมอย่างบริษัท Arup โดยถือโครงการต้นแบบที่เป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ International Building Exhibition ซึ่งจัดขึ้นในเมืองฮัมบูร์ก โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เป็นอาคารพลังงานสาหร่ายหลังแรกของโลก
ความโดดเด่นที่ทำให้อาคารหลังนี้เป็นที่จับตามองคือการใช้เทคโนโลยีนี้มีชื่อว่า Bio-adaptive Facade ตัวผนังจะประกอบด้วยกระจก 2 ชั้น ประกบเข้าด้วยกัน โดยเว้นช่องว่างระหว่างกลางเล็กน้อย ภายในช่องว่างนี้ จะถูกเติมน้ำที่เต็มไปด้วยสาหร่ายลงไป ผนังที่เปรียบเสมือนฟาร์มสาหร่ายนี้ ได้รับการวางไว้ในด้านที่หันหน้าเข้ากับแสงอาทิตย์โดยตรง ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโดได้ดี และเมื่อสาหร่ายเหล่านี้โตขึ้นจนได้เวลาที่เหมาะสม ก็จะถูกเก็บเกี่ยวและส่งไปเพื่อทำใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป นอกจากนี้ เมื่อสาหร่ายเจริญเติบโตจนหนาแน่น จะสามารถช่วยกรองแสงแดดและกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารได้ ช่วยให้ตัวอาคารเย็นขึ้น ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับอาคารด้วย
และแม้เทคโนโลยีที่แปลกแหวกแนวชนิดนี้ กำลังอยู่ในขั้นต้นของแนวคิด ที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก จนกว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริง แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะจุดประกายให้คนในวงกว้าง รวมทั้งผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคโลกร้อนอย่างทุกวันนี้ หันมาสนใจกับพลังงานทางเลือกกันมากขึ้น บางที สิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างสาหร่าย อาจเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนที่มนุษย์กำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้
อ้างอิง : dezeen