เปลี่ยนคลองคอนกรีตให้กลายเป็นแม่น้ำ คืนธรรมชาติสู่ชาวสิงคโปร์

ยังคงมีทยอยออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับโปรเจ็กต์กรีนๆ ของประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่แทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ อย่าง ประเทศสิงคโปร์ ล่าสุดกับโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ Kallang ในช่วงที่ไหลผ่านสวนสาธารณะ Bishan Park ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่แม่น้ำแห่งนี้เคยถูกแปรสภาพเป็นแม่น้ำคอนกรีต มาร่วม 50 ปี

บริษัทภูมิสถาปนิก Atelier Dreiseitl คือผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ ‘ยกเครื่อง’ แม่น้ำ Kallang ด้วยแนวคิดที่ต้องการคืนสภาพดั้งเดิมให้กับแม่น้ำสายนี้ และเปิดพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับให้ผู้คนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ แนวผนังคอนกรีตเดิมจึงถูกรื้อออก เพื่อคืนสภาพความเป็นธรรมชาติดั้งเดิม จากเส้นทางของแม่น้ำคอนกรีตแต่เดิมที่ค่อนข้างตรงและแข็ง ได้รับการปรับรูปทรงให้คดเคี้ยวคล้ายกับแม่น้ำตามธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา พืชพรรณทั้งหลายได้รับการนำมาปลูกด้วยเทคนิคพิเศษ เลียนแบบลักษณะของพืชพรรณธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณนี้

นอกจากตัวแม่น้ำจะได้รับการออกแบบใหม่แล้ว พื้นที่โดยรอบที่มีความเกี่ยวเนื่อง ยังได้รับการออกแบบไปด้วยกันอย่างเป็นองค์รวม มีการออกแบบสนามเด็กเล่น และมุมพักผ่อนต่างๆ ให้เสมือนหนึ่งแทรกตัวอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่เป็นธรรมชาติ เศษแผ่นคอนกรีตจากผนังที่ถูกรื้อ ได้ถูกนำมาสร้างเป็น Recycle Hill ซึ่งถือเป็นอีกไฮไลท์ของสวนสาธารณะแห่งนี้ เพราะนอกจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมจะได้เสพความงามจากงานประติมากรรมที่ตั้งประดับไว้แล้ว ยังช่วยให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้ได้อีกด้วย

การฟื้นฟูแม่น้ำ Kallang ความยาวร่วม 3 กิโลเมตร นอกจากจะช่วยในเรื่องของการระบายน้ำ เนื่องจากสามารถรองรับน้ำได้ดีกว่าแม่น้ำคอนกรีตแบบเดิมหลายเท่าตัวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพื้นที่บริเวณนี้ ภายหลังจากที่โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์พบว่าความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเพิ่มขึ้น มีพืชพรรณถึง 66 สายพันธุ์ นก 59 สายพันธุ์ แมลงอีกกว่า 22 สายพันธุ์ นับว่าการยกเครื่องครั้งนี้ ได้สร้างประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งต่อมนุษย์ ธรรมชาติ และเผื่อแผ่ไปยังสัตว์น้อยใหญ่ร่วมโลก เชื่อว่าแนวทางเช่นนี้น่าจะเป็นแนวทางที่จะนำความยั่งยืนมาสู่สังคมและโลกใบนี้ต่อไป

อ้างอิง : inhabitatdezeenaustralian design review