Bridge School ฝังเข็มให้ชุมชนโบราณ ปลุกโลกให้ตื่นด้วยสถาปัตย์

ปัญหาพื้นที่ในเขตชนบทห่างไกลที่ถูกทิ้งร้างไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ด้วยทุนนิยมที่ทำให้โลกหมุนไปเร็วมาก ด้วยเม็ดเงินในประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาอย่างประเทศจีน ทำให้ผู้คนมุ่งสู่เมืองใหญ่เพื่อรองรับปัญหาปากท้อง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่ในบริบทสังคมเกษตรกรรมจึงถูกวางไว้ท่ามกลางความเงียบเหงา

หากว่ามองในฐานะนักออกแบบ เราจะสร้างอะไรไปเพื่อสังคมในพื้นที่อย่างที่เอ่ยกล่าวมาข้างต้น คำถามที่ติดฝังไปในหัวคงต้องคิดมากมายว่า ‘สร้างอะไรกันดี’ เพื่อให้สถาปัตยกรรมนั้นๆ ตอบสนองชีวิตของชุมชน ให้ส่งเสริมชุมชนมีลมหายใจต่อไปได้ หากแต่ในบรรทัดนี้เราขอเสนออีกคำตอบจากการมองว่าแก้ปัญหาเป็นประเด็นในการสร้างสถาปัตยกรรม เพื่อเยียวยาวิญญาณผู้คนด้วยโปรแกรมสถาปัตยกรรม

ณ หมู่บ้านห่างไกลจากเมืองหลวง เราอาจจะหลงไปในหมู่บ้านโบราณที่รายรอบไปด้วยบ้านดินถูลู่ ที่มีรูปทรงกระบอกห้อหุ้มลานไว้ภายในอายุหลายร้อยปี ในอดีตมันคือหมู่บ้านที่เป็นราวคอนโดมิเนียมแห่งอดีตกาล ทั้งปลอดภัย ทั้งงามในบริบทของเวลานั้น แต่ในปัจจุบันมันแลดูรกร้าง ขาดการใช้สอย ราวกับเป็นซากสถาปัตยกรรมที่ต้องทนขับเคลื่อนไป หน้าบ้านดินมีสนามเด็กเล่นของชุมชนโบราณนี้ แต่ว่ามันถูกคั่นด้วยลำห้วยทำให้กิจกรรมถูกแบ่งกัน ไม่มีความต่อเนื่อง

ทว่าปัญหามีไว้เพื่อแก้ไข ซึ่งเป็นประเด็นที่สถาปนิกอย่าง ลี่ เสี่ยวตง จากสำนักงานสถาปัตย์เชิงทดลองสัญชาติจีนชื่อ Li Xiaodong Atelier ได้นำเสนอวิธีที่จะปลุกชุมขนนี้ด้วยการ ‘ฝังเข็ม’ (acupuncture) จากสถาปัตยกรรมที่เขาเย็บสองพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน เขามองว่าการสร้างสรรค์ที่เขาทำคือการฝังเข็มเพื่อเยียวยาชุมชนด้วยโปรแกรม เขาออกแบบให้สถาปัตยกรรมเป็นเข็มที่เย็บเรื่องราวเข้าด้วยกัน การใช้สอยถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือ สะพานข้ามห้วยที่ขวางสองพื้นที่นี้ไว้ให้เชื่อมกิจกรรมสองฝั่ง ส่วนที่ถูกวางอยู่เหนือสะพานคือโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ในชุมขน ที่พร้อมปรับเปลี่ยนเป็นศาลาประชาคม โรงละคร หรืออะไรก็ตามที่ชุมชนอยากจะให้มันเป็นไปตามวิถี สะพานที่เชื่อมสองพื้นที่จึงไม่กลายเป็นแค่สะพานรูปธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสะพานนามธรรมที่เชื่อมชุมชนเข้าด้วยกันด้วยกิจกรรม งานนี้จึงเป็นการผสมกันของสองคำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อว่า Bridge School

แค่หากลองมองย้อนกลับไปยังที่ปัญหา แล้วสร้างอะไรด้วยความคิดใคร่ครวญมากกว่าบ้าผลตอบแทนที่เป็นเม็ดเงิน หรือผลทางตัวเลขใดๆ ผลทางใจก็สำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน หากใจดีๆ กันแล้ว คนใจดีๆ เหล่านี้ก็จะช่วยสรรค์สร้างสังคม อันเป็นผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาคือความสุขของสังคมที่เงินไม่อาจซื้อได้

ผมเชื่อว่ามันดีกว่านั่งนับเงินในห้องแอร์เย็นฉ่ำ แล้วบ่นกันต่อไปว่าโลกเราอยู่ยากขึ้นทุกวัน

[youtube url=”http://youtu.be/ykHtCM0DPE4″ width=”600″ height=”335″]

 

อ้างอิง : Lixiaodong Atelier, Bridge School