ศูนย์กิจกรรมนักศึกษา มกท. โฉมใหม่สวยเจ็บจี๊ด กระตุ้นการเรียนรู้

มหาวิทยาลัยคือสถานที่บ่มเพาะต้นกล้าของสังคมให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ออกดอกผล เป็นร่มเงาให้กับสังคมในวันหน้า คำถามที่หลายส่วนสงสัยคือความคาดหวังต่อแหล่งเพาะกล้าพันธุ์ว่าพร้อมที่จะปลูกฝังให้เหล่านักศึกษาวันนี้สามารถมีปัญญาเป็นอาวุธเพียงพอไปรับมือโลกภายนอกได้ดีแค่ไหน

นอกจากการสร้างสรรค์หลักสูตรและบรรยากาศการเรียนการสอนแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นคือเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ก็สำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน มหาวิทยาลัยนอกจากจะให้ความรู้ในห้องเรียนแล้ว การเรียนรู้นอกห้องเรียนหรือการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรก็มีส่วนทำให้เหล่านักศึกษามีทักษะในการเข้าสังคมดีขึ้น พื้นที่สำหรับกิจกรรมเสริมหลักสูตรจึงมีความสำคัญไม่แพ้การสร้างห้องเรียนเลย โจทย์นี้จึงมาตกลงที่สำนักงานสถาปนิกเด็กแนวของบ้านเรา ‘ซูเปอร์มาชีนสตูดิโอ’ ที่ได้รับมอบหมายจากทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพให้ออกแบบอาคาร SAC (Student Activity Center) ที่วิทยาเขตรังสิต ซึ่งตัวโปรแกรมนั้นสร้างไว้รองรับกิจกรรมของนักศึกษาที่ไว้ประชุมร่วมกัน หรือจะมาซ้อมดนตรี ซ้อมรำ ซ้อมเต้น ถ้าจะมาถ่ายภาพก็มีห้องถ่ายภาพไว้ให้ หรือที่เป็นจุดเด่นของงานนี้คือมีห้องซ้อมเชียร์ลีดเดอร์หรือเรียกแบบคุ้นเคยว่า ปอม ปอม ซึ่งจุดเริ่มต้นการออกแบบของสถาปนิกคือ สถาปัตยกรรมสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยเพราะงานนี้เป็นการนำอาคารหอพักเดิมของมหาวิทยาลัยที่ทรุดโทรมหนักหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 สถาปนิกได้สอดแทรกโปรแกรมใหม่เข้าไปอย่างแนบเนียนในโครงสร้างเก่า แล้วทำการห่อหุ้มเปลือกภายนอกทั้งผนังจนหลังคาด้วยวัสดุคือไม้ซีด้าร์ จากนั้นทำการระบายเป็นลายกราฟฟิกต่างๆ ที่สื่อถึงกิจกรรมภายใน พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้ชวนสนุกจากการวางแนวผนังที่ไม่เป็นเส้นตรง เสริมการใช้พื้นที่ด้วยการเติมตาข่ายให้ไปนอนเล่นในพื้นที่ระหว่างชั้นลอย และสิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือการใช้สีภายในที่สดใสมาก ทั้งชมพู ม่วง เขียวตอง เขียวขี้นกการเวก ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้พื้นที่การเรียนรู้ใน SAC นี้มีบรรยากาศการกระตุ้นให้ทำกิจกรรมขึ้นแบบร้อนวูบวาบๆ เมื่อเดินผ่านเข้ามาภายใน และยังแก้ปัญหาเรื่องแสงที่น้อยไปในงานเก่าด้วยการออกแบบให้มีช่องแสงเพิ่มขึ้นจนรับกับสีสันสดใสภายใน เรียกว่าใครมางานนี้แล้วไม่รู้สึกตื่นตัวก็คงจะเป็นคนแปลกทีเดียว

พอเดินออกมาจากอาคารนี้เลยทำให้คำของอาจารย์สุกรี เจริญสุข ลอยขึ้นมาว่า “มหาวิทยาลัยที่ดีมีหน้าที่สร้างรสนิยมที่ดีให้กับนักศึกษา”

อ้างอิง: archdaily, Supermachine Studio