มหาวิหารกระดาษ สถาปัตยกรรมแห่งศรัทธาในเมืองไครสต์เชิร์ช


หลายคนคงจะจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ได้ แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ถึง 6.3 ริกเตอร์ในครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะใต้ หลายชีวิตมีอันต้องจากไป เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแห่งที่ต้องพังทลายลงเพราะทนแรงสั่นสะเทือนไม่ไหว และหนึ่งในนั้นก็คือมหาวิหารแห่งไครสต์เชิร์ช (Christchurch Cathedral) สถาปัตยกรรมจากศตวรรษที่ 19 ที่แม้จะรอดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง แต่ท้ายสุดแล้วก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป

เมื่อมหาวิหารที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคริสตศาสนิกชนทั้งเมือง (ดูจากชื่อเมือง Christchurch แล้วคงไม่ต้องบอกว่ามหาวิหารแห่งนี้มีความสำคัญขนาดไหน) ทางการจึงไม่รีรอที่จะสร้างมหาวิหารขึ้นมาใหม่ ทว่าการก่อสร้างมหาวิหารที่อลังการและยิ่งใหญ่เท่ากับของเดิมนั้นแน่นอนต้องใช้เวลาหลายปี แล้วจะทำยังไงดีระหว่างนั้น? คำตอบที่ได้คือ ต้องสร้างวิหารชั่วคราวขึ้นมาก่อนนั่นเอง

เมื่่อตกลงใจได้เช่นนั้น ทางการของไครสต์เชิร์ชจึงได้เชิญ ชิเกรุ บัน (Shigeru Ban) นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Architecture) มาออกแบบมหาวิหารแบบชั่วคราว (transitional cathedral) ขึ้น โดยเขาก็ยังเลือกใช้กระดาษซึ่งเป็นวัสดุที่เขาถนัดมาเป็นวัสดุหลักในครั้งนี้ด้วย ผลที่ได้ออกมาจึงอยู่ในรูปของมหาวิหารสุดอลังการที่มีเสา 98 ต้นทำจากกระดาษลังเคลือบสารกันน้ำ โดยที่นี่ออกแบบมาให้จุคนได้ถึง 700 คนและคงอยู่ได้นานถึง 50 ปี ซึ่งมหาวิหารแห่งนี้ก็เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ และแม้จะเจอปัญหาอยู่บ้าง (เช่น ฝนตกหนักแล้วกระดาษเปื่อย จนต้องตัดส่วนที่เปื่อยออกแล้วเปลี่ยนกระดาษใหม่) แต่โดยรวมแล้วชาวไครสต์เชิร์ชก็ปลื้มมหาวิหารชั่วคราวแห่งนี้มาก แล้วยิ่งดีไซน์เจ๋งขนาดนี้ เผลอๆ ไม่อยากได้มหาวิหารหลังใหม่แล้วมั้ง!

 

อ้างอิง: Shigeru Ban Architects
ภาพ: Bridgit Anderson