กลุ่มสถาปนิก CASE แปลงโฉมบ้านเก่าให้เป็นห้องสมุดชุมชน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสถาปนิกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า งานออกแบบที่ยั่งยืนคืออะไร… และสถาปนิกกลุ่มนั้นก็ตอบคำถามต่อสังคมด้วยงานออกแบบด้วยแนวคิดที่เน้นการกระตุ้นกลุ่มคนในชุมชนให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย มองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของพื้นที่ สามารถตั้งคำถาม และสามารถหาวิธีแก้ปัญหา จนเกิดการพัฒนาพื้นที่ชุมชน โดยมีความคาดหวังคือเมื่อกลุ่มคนนอก (สถาปนิก) ออกจากพื้นที่ไป คนในพื้นที่สามารถสร้างสรรค์หรือทำงานต่อไปด้วยตัวเองได้  สถาปนิกที่ว่านี้คือกลุ่ม CASE (Community Architects for Shelter and Environment) ผู้ดูแลกระบวนการทั้งหมดของโครงการห้องสมุดชุมชนมีนบุรี

แนวความคิดหลักของการปรับปรุงบ้านเก่าให้เป็นห้องสมุด คือมีการวางแผนเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วเพื่อเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงบ้านหลังอื่นๆ โดยใช้งบประมาณที่น้อยที่สุด ด้วยการใช้ของเก่าจากการเดินเก็บเศษวัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อยและขอบริจาคจากคนในชุมชน รวมไปถึงบ้านเก่าหลังนี้ก็ยังเกิดจากการยกให้ฟรีจากคนในชุมชนด้วยกันเอง

การทำงานเป็นการร่วมงานระหว่างชาวบ้านชุมชนตลาดเก่ามีนบุรีและสถาปนิก โดยในส่วนงานก่อสร้างได้กลุ่ม TYIN ซึ่งเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากประเทศนอร์เวย์มาร่วมออกแบบโครงสร้างตามปริมาณวัสดุที่มีอยู่ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในการก่อสร้างด้วย และหลังจากนั้นสถาปนิกและชาวบ้านก็ร่วมกันก่อสร้างห้องสมุดของชุมชนจนเสร็จสมบูรณ์

การพัฒนาในชุมชนอาจจะไม่ได้เกิดอย่างฉับพลันทันที แต่ด้วยโครงการลักษณะเดียวกันนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เริ่มจากสร้างความเข้าใจ ปลูกฝังให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกรัก สร้างความรู้สึก ‘เป็นเจ้าของ’ ซึ่งจะโยงไปถึงการดูแลรักษาให้ยั่งยืนร่วมกันต่อไป