ชาวแอฟริกันเฮ! รัฐ-เอกชน ร่วมแปลงโฉมเรือรบเป็นคลินิกลอยน้ำ

หากเทียบกับคนแล้ว เรือ Chauncy Maples คงเรียกได้ว่าเป็นทหารผ่านศึกที่่ผ่านสมรภูมิมาแล้วอย่างโชกโชน ย้อนกลับไปยังจุดกำเนิด เรือขนาด 150 ตันนี้ถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1898 ณ เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์เพื่อเป็นตัวช่วยในการปฏิบัติภารกิจของคณะมิชชันนารี Universities’ Mission to Central Africa หรือ UMCA แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว เรือ Chuncy Maples ก็ถูกแยกชิ้นส่วนและส่งไปประกอบเป็นลำเรืออีกครั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นทั้งโรงเรียนมิชชันนารี เรือหลบภัยฉุกเฉินและโรงพยาบาล ณ จุดประจำการนั่นคือ ทะเลสามาลาวีในปัจจุบัน Chuancy Maples เรียกได้ว่าเป็นเรือกลไฟลำแรกที่ประกอบขึ้นในอัฟริกา และทำหน้าที่อย่างแข็งขันมาได้พักใหญ่จนปลดประจำการ

แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่เจ้าเรือประวัติศาสตร์ลำนี้จะได้หวนกลับมาทำภารกิจอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลมาลาวีซึ่งได้ซื้อ Chauncy Maples มาไว้ในครอบครองในเวลาต่อมาได้ตัดสินใจออกเงินส่วนแรกในการบูรณะเรือลำนี้ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้เรือลำนี้เป็น ‘คลินิกเคลื่อนที่’ แห่งแรกที่จะแล่นไปให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ริมทะเลสาบมาลาวี เพราะหากพิจารณาจากการกระจัดกระจายของหมู่บ้าน รายได้ ความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล และสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรที่แตกต่างกันถึงขนาด 1:52,000  (แพทย์ 1 คนต่อประชากร 52,000 คน) แล้ว การให้คลินิกเคลื่อนที่ไปหาผู้ป่วยคงจะดีกว่าให้ผู้ป่วยเดินทางไปคลินิกเป็นแน่แท้ ด้วยความที่ออกแบบมาเป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่อยู่แล้ว Chauncy Maples จึงมีห้องหับทางการแพทย์ครบครัน ในขณะที่แพทย์และพยาบาลที่ขึ้นประจำการบนเรือลำนี้ก็ได้รับการเทรนด์มาแล้วว่าดูแลรักษาได้สารพัดโรคตั้งแต่ทำฟันไปจนถึงดูแลผู้ป่วยมาลาเรีย

และก็เป็นที่น่ายินดีที่องค์กรหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกัน Thomas Miller หรือองค์กร Perple Reaching Out ต่างร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนให้โครงการดีๆ เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้ แต่กระนั้น โครงการคลินิกเคลื่อนที่แห่งนี้ยังต้องการแรงสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์อีกประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมาสมทบกับเงินทุนที่มีอยู่เพื่อใช้บูรณะเรือให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด

เห็นโครงการดีๆ แบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะลุ้นให้ไปต่อ

[youtube url=”http://youtu.be/oB1u2Zj32j4″ width=”600″ height=”335″]

อ้างอิง : Chauncy Maples