บ้านพักฉุกเฉิน ไม่ยาวนานแบบคอนกรีต แต่ยั่งยืนในใจคน

ปัจจัย 4 อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย แต่ในขณะที่นิยามของคำว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ หลายคนล้วนนึกถึง ’บ้าน’ แต่ในสภาพที่บางครั้งของชีวิตไม่สามารถเลือกได้ ที่อยู่อาศัยจึงมีสาระเป็นเพียงสถานที่สร้างความปลอดภัยต่ออากาศ ลม ฝน ก็รุ่มรวยมากมายแล้ว เพราะแม้แต่ปัจจัย 4 ที่สำคัญกว่ายังหามาประทังได้ไม่ครบ เนื่องด้วยสภาพสงครามความขัดแย้งใยบางมุมของโลกเช่น ชายแดนไทย-พม่า แห่งนี้

ณ แม่สอด จ.ตาก ราชอาณาจักรไทย  the CDC School (Children Development Center) ภายใต้การดูแลของเเม่ตาวคลินิก (หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘คลินิกหมอซินเธีย’ ตามชื่อของคุณหมอซินเธีย) ต้องรองรับผลพวงจากสงครามเหล่านี้ไปด้วย สิ่งที่ CDC ต้องพบเจอคือ การรองรับเด็กนักเรียนชาวกะเหรี่ยงกว่า 500 คนจากการอพยพลี้ภัยการสู้รบริมชายแดน เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเกิดอย่างรวดเร็วไม่ทันตั้งตัว เหมือนกับการกำเนิดสถาปัตยกรรมที่เป็นโครงการขนาดเล็กมีพื้นที่เพียง 72 ตารางเมตร เพื่อรองรับเด็กจากการอพยพ สร้างจากวัสดุที่แสนเรียบง่าย ราคาถูก และแน่นอน รวดเร็วในเวลาอันสั้น โดยได้รับทุนจากสถานทูตลักเซมเบิร์กในประเทศไทย สิ่งที่เหล่าสถาปนิก Albert Company Olmo จากเสปนพร้อมด้วยทีมคือ Jan Glasmeier และ Line Ramstad ต้องทำให้ทุนเหล่านี้งอกเงยเพื่อมนุษยธรรม จึงเกิดแนวคิดสร้างที่พักพิงในเวลาอันสั้นให้มีความมั่นคงต่อชีวิต มีที่พึ่งพิงอย่างเรียบง่ายสู่สาระการอยู่อาศัยจริง กลายเป็นหอพักชั่วคราวที่ต้องสร้างเสร็จทั้ง 4 หลังในเวลา 4 สัปดาห์ โจทย์เหล่านี้ถูกขบคิดและพัฒนาออกมาเป็นโครงสร้างเรียบง่ายเป็นระบบเฟรมประกอบขึ้นจากไม้ ไม้ไผ่ ใบตองตึง อันหาได้ในถิ่นที่

ปัจจุบันงานเหล่านี้แล้วเสร็จไป 1 หลังจากการเริ่มก่อสร้างหลังแรกในเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา การทดลองสร้างที่พักพิงเหล่านี้จึงน่าสนใจ มันเป็นการตอบโจทย์ที่มาของปัญหาสถาปัตยกรรมที่เน้นเร็ว แต่ต้องมากด้วยพื้นที่ที่เพียงพอคนหมู่มากและยากเข็ญด้วยทุกข์ให้มาหลบร้อนพักในศูนย์แห่งนี้

วัสดุที่โดยรวมกอปรรูปจากธรรมชาติ ล้อไปกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กรุ่นกลิ่นไผ่ หอมใบตองตึงเมื่อมันยังสด แม้จะไม่ยาวนานแบบคอนกรีต แต่มันยั่งยืน…อย่างน้อยก็ในใจคนเพื่อคนด้วยกัน

อ้างอิง: archdaily