ในหลากวัฒนธรรมมีความนิยมในการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างกันไป เนื่องจากวัฒนธรรมในแต่ละถิ่นที่จะมีสำนึกในการใช้พื้นที่ของชุมชนไม่เหมือนกัน บางวัฒนธรรมนิยมการใช้สวนสาธารณะ บางวัฒนธรรมใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่รวมของชุมชน บางวัฒนธรรมอาจจะเป็นวัด สวนสาธารณะ สาเหตุเพราะวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของศูนย์รวมชุมชนไม่เหมือนกัน เช่นในวัฒนธรรมไทยสมัยก่อนจะมีวัด เพราะชาวบ้านใช้พื้นที่วัดร่วมกันในหลายงานบุญ แต่ในวัฒนธรรมบางถิ่นที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความแข็งแรงในชุมชนนั่นเอง
ในย่านห่างไกลในชานเมืองของญี่ปุ่น ออกไปไกลราว 60 กิโลเมตรของเมืองฮิโรชิมะ มีแนวคิดการผสานพื้นที่ชุมชนเข้ากับโรงเรียนด้วยการออกแบบโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กซีโอ จากฝีมือการออกแบบจากกลุ่มสถาปนิก HIBINOSEKKEI + Youji no Shiro โจทย์แรกเริ่มที่สถาปนิกพบคือในพื้นที่ชานเมืองแบบนี้ขาดสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่พอเพียงกับการเรียนรู้ของเด็กในวัยกำลังเติบโต คำตอบที่สถาปนิกพบว่าการแก้ปัญหาคือการสร้างพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนข่าวสารสำหรับครอบครัวเด็กในชุมชน คำถามต่อมาคือมันจะกลายมาเป็นสถาปัตยกรรมได้อย่างไร
สถาปนิกเลือกตอบคำถามด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่สนามเด็กเล่นกลางโรงเรียน พร้อมกับสร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับผู้ปกครองด้วยการเติมร้านกาแฟ ‘CHUOU CAFE’ ไปที่ด้านหน้าหลังจุดจอดรถบัสรับส่งนักเรียน จากจุดนี้เมื่อผู้ปกครองเข้ามายังโรงเรียนจะต้องหยุดอยู่ที่ส่วนนี้และได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน ณ จุดๆนี้จะสามารถมองเห็นกิจกรรมภายในโรงเรียนได้ด้วยการออกแบบให้มีหน้าต่างสูงจรดฝ้า สามารถมองเห็นกิจกรรมจากสนามเด็กเล่นที่คอร์ตกลางไปจนห้องไชด์แคร์ที่เด็กใช้เป็นเวลาทำกิจกรรมมากสุด และนอกจากจะเป็นร้านกาแฟในเวลาเช้า ในตอนเที่ยงพื้นที่ส่วนนี้จะกลายเป็นโรงอาหารของเด็กไปในคราวเดียวกัน
คำตอบของคำถามสถาปัตยกรรมสามารถช่วยชุมชนอย่างไร งานนี้คงเป็นอีกคำตอบให้พวกเราได้ขบคิดกันต่อไป
อ้างอิง: archdaily, Hibinosekkei, E-Ensha