เป็นเรื่องง่ายเอามากๆ หากจะเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติที่ไหนสักแห่ง ให้กลายเป็นป่าคอนกรีตแบบเมือง แต่คงจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากจะเปลี่ยนป่าคอนกรีตสักที่ ให้กลับเป็นพื้นที่ธรรมชาติตามเดิม แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดเช่นนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว เพราะยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาจหาญมุ่งท้าทายแนวคิดนี้อย่างจริงจัง
จากแรงบันดาลใจที่เห็นวัชพืช พากันขึ้นตามรอยแตกของพื้นคอนกรีต ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามเขตเมือง ทำให้ CMG Landscape Architecture ได้คิดโครงการแผลงๆ ที่มีชื่อสุดเท่ห์ว่า Crack Garden ขึ้นมา ด้วยแนวคิดที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบ้านพักอาศัยในเขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยลานและพื้นคอนกรีต หาที่สำหรับปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ได้ยาก ผู้ออกแบบได้เล็งเห็นถึงปัญหาในข้อนี้ และได้ทำการแก้ปัญหานี้แบบ ‘บ้านๆ’ ด้วยกรรมวิธีแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ ด้วยการเจาะพื้นคอนกรีตให้แตกเป็นร่อง จากนั้นจึงปลูกพืชชนิดต่างๆ ไว้ในร่องนี้ ไม่ต่างจากร่องสวนทั่วไป โดยพืชพรรณที่เลือกมาปลูกนี้ก็มีความหลากหลาย ทั้งผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมทั้งวัชพืช คละเคล้ากันไป โดยทั้งหมดจะเน้นไปที่พืชที่มีความทนทาน เพิ่มส่วนประดับด้วยรั้วไม้ และร้านสำหรับให้ไม้เลื้อยเกาะ สวนในร่องคอนกรีตแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณลานคอนกรีต ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านทั้งหมด 4 หลัง ซึ่งพื้นที่นี้ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวา และนำความร่มรื่นเป็นธรรมชาติ ให้กลับมาสู่สังคมเมือง ซึ่งในทุกวันนี้หาความเป็นธรรมชาติได้น้อยเต็มที
จากแนวคิดที่ฟังดูคล้ายกับเป็นการเล่นสนุก ได้กลายเป็นตัวอย่างชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเมือง ด้วยการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ จนคาดไม่ถึง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นสวนลักษณะนี้ แทรกซึมอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในสังคมเมืองทุกๆ แห่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ป่าคอนกรีตผืนนี้คงน่าอยู่ขึ้นอีกโข
อ้างอิง : CMG Landscape Architecture