ร.ร.อนุบาลในอินเดียประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้สวย-ถูก-ดี

สถาปัตยกรรมเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด โรงเรียน มหาวิทยาลัย นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของทุกผู้คนในทุกมุมโลก แต่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ เศรษฐกิจ ที่ผลักดันให้แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้ต่างกัน เหมือนกับเช่นในเมืองบังกาลอร์ทางภาคกลางของอินเดียที่มีลักษณะเป็นเมืองร้อน เส้นรุ้งก็ใกล้เคียงกับภาคกลางของประเทศไทย ที่นั่นได้มีโรงเรียนอนุบาล Delhi Public School ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกท้องถิ่น Khosla Associates ที่ใช้แนวคิดการประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของอินเดียให้มีลมหายใจใหม่ในมาดเก๋ แต่ราคาไม่แพงจนใจหาย

สถาปนิกได้ตีโจทย์ที่ออกแบบโรงเรียนอนุบาล Delhi โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์ของเหล่าเด็กในโรงเรียน ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่คอร์ตซึ่งเปิดโล่งถึงท้องฟ้าและให้ขนาบไปด้วยทางเดินเข้าห้องเรียนโดยรอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือทุกห้องเรียนจะรายล้อมคอร์ตไปตลอดแนวทางเดิน และนอกจากนี้ยังออกแบบให้ผนังที่กรุห้องเรียนเป็นผนังสังกะสีลอนสีสันสดใส ที่เราพอจะจินตนาการไปได้ถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบอินเดียที่มีสีสันสดใสแบบพันธุ์ไม้เมืองร้อน สีสันเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียน และนอกจากจะคำนึงการเรียนรู้ของเด็กแล้ว การคิดถึงภาวะน่าสบายของสภาพภายในอาคารก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกคำนึงถึงด้วยการใช้ผนังดินเผา ‘jaalis’ แบบโปร่งหุ้มโดยรอบโรงเรียนในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อระบายอากาศและกรองแสงภายในให้นุ่มนวลน่าเรียน นอกจากนี้การกรองแสงที่ออกมาเป็นริ้วนี้ยังช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติในแต่ละวันได้อีกเช่นกัน สุดท้ายแล้วสิ่งที่สถาปนิกนำเสนอได้น่าสนใจคือราคาค่าก่อสร้างที่ตก 6,500 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งกับการสร้างงานประเภทโรงเรียนนับว่าถูกมากสมกับที่ใช้การออกแบบเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

การลงทุนในด้านการศึกษานับว่ายั่งยืนที่สุด เพราะทรัพยากรมนุษย์นั้นไม่สามารถประเมินได้และมีค่าอย่างยิ่งยวด แต่สถาปัตยกรรมเพื่อการศึกษาควรถูกตั้งคำถามเสียทีว่าได้ถูกลงทุนอย่างคุ้มค่าเพื่ออนาคตของชาติหรือไม่

อ้างอิง: Khosla Associates, archdaily