‘Earthen School’ ในปากีสถาน ประกอบธรรมชาติ สร้างโรงเรียนดิน

โดยพื้นฐานของการสร้างบ้านดินที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย คือ บ้านที่นำดินบริเวณนั้นๆ มาปลูกสร้างบ้าน โดยที่ดินจะต้องมีส่วนผสมของดินเหนียว 2 ใน 10 เป็นอย่างน้อย จึงนำมาสร้างบ้านได้ และจะเริ่มจากการสร้างอิฐดินที่ผสมจากดิน น้ำ และฟาง นำมาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ และนำมาประกอบต่อขึ้นเป็นผนังบ้านโดยใช้ระบบถ่ายเทน้ำหนักแบบ Load Barring Wall ซึ่งทำให้บ้านไม่จำเป็นต้องมีเสา และไม่เพียงแค่ในประเทศไทย วิธีการสร้างบ้านดินที่ปากีสถานก็แทบไม่ได้ต่างกันเลย

อาคารดินที่ถูกสร้างขึ้นใน Jar Maulwi ประเทศปากีสถานนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นบ้าน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นโรงเรียนที่ชื่อว่า Tipu Sultan Merkez โดยได้การออกแบบจาก Ziegert Roswag Seiler Architekten Ingenieure บริษัทสัญชาติเยอรมัน มาเป็นผู้ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ความแตกต่างอย่างหนึ่งของโรงเรียนดิน จากบ้านดินที่กล่าวข้างต้น คือฐานรากของโรงเรียนดินแห่งนี้ค่อนข้างเซ็ตให้มีความแข็งแรงถาวรกว่าการใช้อิฐเผามาวางเรียงให้มั่นคง และทับด้วยดินที่ผสมน้ำและฟาง มีความหนาถึง 60 เซนติเมตร ช่วยลดอุณหภูมิจากภายนอกถึง 8 อาศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพภูมิอากาศในฤดูร้อนของที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ตัวโรงเรียนเองถูกออกแบบให้มีสองชั้น ดังนั้นการสร้างชั้นสองจะต้องมีความแตกต่างจากชั้นแรก (เพราะน้ำหนักดินที่มากขึ้นอาจทำให้กำแพงดินถล่มได้) ไม้ไผ่เลยกลายเป็นวัสดุที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างหลักของชั้นสองของอาคาร และเมื่อโครงไม้ไผ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดินที่ผสมแล้วจะถูกนำมาฉาบทับบริเวณโครงสร้างเพื่อความแข็งแกร่ง

โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนที่ตอบโจทย์การอาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี และยังทำให้คนในชุมชนหันมาสนใจในเทคนิคและวิธีการก่อสร้างบ้านดินเพื่อที่จะนำมาพัฒนาชุมชนอีกด้วย

อ้างอิง : designboom