‘Ecology of Colour’ บ้านกลางป่า เชื่อมผู้คน-ศิลปะ-ธรรมชาติ

การให้ศิลปะเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของชุมชนเมืองที่เร่งรีบ และยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาแบบบ้านเราด้วยแล้ว ประเด็นเหล่านี้ดูจะต้องห้ามที่จะพูดถึงเสียด้วยซ้ำ เพราะมักจะถูกตั้งคำถามมาว่า ศิลปะทำให้ท้องอิ่มได้อย่างไร? แต่หากเรามองด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว การนำประเด็นศิลปะพ่วงไปกับการสร้างสรรค์ล้วนทำให้สินค้าที่มีอยู่เดิมต่อยอดให้กับชุมชนต่างๆ ได้ เพียงแค่เปิดใจรับศิลปะเข้ามาชีวิตให้ซึมซับจนเป็นเรื่องปกติประจำวันไปเท่านั้นเอง

ในพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเล็กๆ ทางตอนเหนือของเมืองเคนท์ อังกฤษ ปรากฏงานสถาปัตยกรรมที่คล้ายบ้านนกทำด้วยไม้ในป่าขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่บ้านธรรมดา เพราะเป็นบ้านที่บรรจุเรื่องราวของศิลปะ กิจกรรม ความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนนี้เข้าไว้ด้วยกัน เป็นสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่ช่วยให้ศิลปะมีลมหายใจ และช่วยปลูกฝังรสนิยมให้กับชุมชนนี้ได้ ด้วยการออกแบบของสถาปนิกจากลอนดอน Studio Weave ที่ได้รับโจทย์ว่าจะต้องออกแบบพื้นที่ศิลปะให้กับชุมชนในเมืองเคนท์ การแก้ปัญหาในพื้นที่ที่แลดูรกร้างมากด้วยต้นไม้จึงเป็นแรงกระตุ้นให้สถาปนิกสร้างสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบการใช้งานที่ไม่ตายตัว พื้นที่ชั้นล่างที่เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกภายในถูกกำหนดให้ใช้งานเอนกประสงค์ทั้งทำงานศิลปะ ทาสีงานศิลปะ ในพื้นที่ชั้นบนที่มีกลไกการใช้พื้นที่จากผนังที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สามารถปิดเพื่อกำหนดกิจกรรมที่ต้องการสมาธิ แต่ในส่วนกิจกรรมที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติอย่างการดูแมลง ดูนก ผนังไม้สนซีด้าร์ก็จะถูกเปิดเพื่อเชื่อมธรรมชาติเข้ามาภายในงานนี้เช่นกัน ด้วยกลไกง่ายๆ เหล่านี้ทำให้ชาวเมืองนี้ที่พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับศิลปะไปพร้อมๆ กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

การนำศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตทำให้คนมีคุณภาพขึ้น อยู่ที่ผู้นำจะเข้าใจและชี้นำนโยบาย เท่านี้บ้านเราก็จะน่าอยู่ขึ้นอีกเป็นกอง

อ้างอิง: Studio Weave, archdaily