ชื่อของครูสามารถ สุทะ อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่สำหรับเด็กนักเรียนในห้องเรียนสาขาเรือนแพ หนึ่งในห้องเรียนกลางน้ำของโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี่ ในจังหวัดลำพูน ครูสามารถ คือ ทุกอย่างของพวกเขา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 ห้องเรียนเรือนแพแห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดลำพูน เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนมีโอกาสได้เรียนหนังสือ 11 ปี ต่อมา ครูสามารถเข้ามารับหน้าที่เป็นครูประจำชั้นเพื่อสานต่อการศึกษาให้กับเด็กๆ ห้องเรียนเรือแพแห่งนี้มีเพียงแพเล็กๆ 2 หลัง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำปะปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนแทบทุกอย่าง โดยในแต่ละวันห้องเรียนขนาด 7 x 5 เมตรบนเรือนแพเป็นสถานที่ที่ครูสามารถให้ความรู้ทั้งในและนอกตำรา เป็นโรงอาหารและพื้นที่กิจกรรมที่เด็กๆ เรียกมันว่าบ้านหลังที่สอง หลังจากเรื่องราวของห้องเรียนกลางน้ำแห่งนี้ถูกเล่าต่อๆ กันทั้งปากต่อปากและผ่านทางรายการโทรทัศน์ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่การปล่อยผ่านไปเฉยๆ แต่ความช่วยเหลือถูกส่งผ่านมายังครูสามารถและเด็กๆ ด้วย
ที่น่าดีใจ คือ การรวมกลุ่มของอาสาสมัครทั้งจากกลุ่ม Together Group, OFC Club และกลุ่มยิ้มไปกับยายยิ้ม ที่หยิบยื่นทั้งแรงกาย แรงใจ การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการระดมทุนเงินบริจาค โดยพวกเขาจัดสรรรายได้เพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการซ่อมแซมเรือนแพหลังเดิมให้เป็นลานเคารพธงชาติและลานกิจกรรม การสร้างเรือนแพหลังใหม่สำหรับการเป็นห้องสมุดที่ไม่เพียงให้นักเรียนเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ขณะเดียวกัน ทีมอาสาสมัครยังเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาสื่อการสอน การจัดหาอุปกรณ์สำหรับการเรียน ทั้งชุดนักเรียน ดินสอ สมุด หนังสือ ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับคนในชุมชนแห่งนี้ด้วย
แม้ว่าโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี่จะถูกจำกัดด้วยขนาด สถานที่ตั้ง จำนวนบุคลากร และอุปสรรคในการเดินทางที่ครูสามารถต้องเดินทางกว่า 100 กิโลเมตรจากบ้านเพื่อมาสอนเด็กๆ ในแต่ละวัน แต่ความพยายามของครู รวมไปถึงความตั้งใจจริงของเหล่าอาสาสมัครที่อยากเห็นเด็กๆ มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีและเต็มที่ มันเตือนให้เรารู้ว่า คนไทยไม่ได้รักกันน้อยลงเลย
[youtube url=”http://youtu.be/2qUy5qSZZMo” width=”600″ height=”338″]
อ้างอิง : Facebook Group ห้องสมุดลอยน้ำ