ถึงจนก็ไม่กลัวจม สถาปนิกบังคลาเทศออกแบบอาคารสู้น้ำท่วม

ด้วยความที่พื้นที่ตั้งของประเทศบังคลาเทศนั้นอยู่บนภูมิประเทศแบบที่ลุ่มต่ำ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ อุทกภัย จึงเป็นภัยธรรมชาติที่คุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบังคลาเทศมาโดยตลอด ซึ่งได้สร้างความสูญเสียให้กับทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก การรับมือกับอุทกภัยจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการจะสร้างสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างขึ้นสักหลังในประเทศแห่งนี้ และ ‘Friendship Centre’ คือผลงานชิ้นหนึ่ง ที่สามารถรับมือกับอุปสรรคข้อนี้ได้อย่างดียิ่ง

Friendship Centre ตั้งอยู่ในชุมชนไกบันธา (Gaibandha) ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นโครงการซึ่งดูแลโดยองค์กรเอกชน (NGO) แห่งหนึ่งในประเทศบังคลาเทศ ภายในโครงการเป็นพื้นที่ใช้งานเอนกประสงค์ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่สำหรับให้เช่าจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งสำหรับจัดประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีทั้งสำนักงาน ห้องสมุด ห้องประกอบพิธีกรรม และร้านค้าขนาดเล็ก ไว้สำหรับบริการคนในละแวกชุมชนแห่งนี้ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งจากอุปสรรคในข้อนี้ ทำให้ Kashef Mahboob Chowdhury สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการ ต้องคิดค้นหาวิธีที่จะแก้ปัญหา แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในการก่อสร้าง จึงไม่สามารถออกแบบตัวอาคารให้ยกสูงเพื่อหนีน้ำได้ ทางออกในการแก้ปัญหานี้จึงอยู่ที่ การทำคันดินและขุดคูเพื่อกันน้ำรอบๆ โครงการ

ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารหลายหลัง ที่สร้างขึ้นจากอิฐดินเผาเนื่องจากมีราคาถูกและแข็งแรง รูปทรงของอาคารเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบง่าย อาคารทุกหลังไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่จะใช้ระบบถ่ายเทอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ มีการปลูกพืชคลุมบริเวณหลังคาเพื่อกันความร้อน ระดับของหลังคาจะเสมอกับระดับคันดินสำหรับกันน้ำ ทำให้เมื่อมองเผินๆ คล้ายกับว่าอาคารเหล่านี้ถูกขุดคว้านลงไปใต้ดิน ถัดเข้ามาจากแนวคันดิน โดยรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นคูน้ำขนาดใหญ่ดักน้ำจากภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่ภายในโครงการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเอาชนะอุปสรรค ที่สามารถทำออกมาได้ลงตัวอย่างยิ่ง ทั้งกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิสังคมของพื้นที่ตั้ง    

อ้างอิง : archdaily