ห้องสมุดสุดไฉไล จากหม้อไหฝีมือชาวบ้านในแอฟริกา

โรงเรียนประถมแห่งเมือง Gando ประเทศบูร์กินา ฟาโซ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1999 ด้วยความที่อาคารแห่งนี้ มีแนวคิดการออกแบบที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนสามารถหาได้ง่าย โดยมีอิฐที่ทำจากดินอัดเป็นวัสดุหลัก ซึ่งสามารถผลิตได้เองโดยช่างภายในท้องถิ่น ความงามที่มีเอกลักษณ์ได้ส่งผลให้ Francis Kéré ผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้ กลายเป็นสถาปนิกระดับโลก ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมระดับโลกมากมาย หลายปีต่อมา โรงเรียนแห่งนี้จึงได้รับการจับตามองอีกครั้ง กับอาคารห้องสมุดหลังใหม่

อาคารห้องสมุดของโรงเรียนประถม Gando ได้รับการออกแบบโดยใช้วัสดุหลักเป็นอิฐจากดินอัด เช่นเดียวกับอาคารเรียนหลังอื่นๆ ผังอาคารเป็นวงรี ทำให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากอาคารหลังอื่นๆ ที่มีผังรูปสี่เหลี่ยม ความพิเศษของอาคารหลังนี้อยู่ที่เทคนิคในการก่อสร้างหลังคาแบบพิเศษ ที่เป็นเสมือนการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างงานฝีมือของชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยการนำหม้อและไหดินเผาขนาดต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้วซึ่งปั้นโดยชาวบ้านมาวางเรียงไว้บนหลังคา หลังจากทำการเทคอนกรีตแล้ว หม้อและไหเหล่านี้จะเข้าไปแทรกอยู่ในผืนหลังคา เกิดเป็นช่องเปิดนำแสงสว่างเข้ามาภายในอาคาร นอกจากนี้ ช่องว่างจากหม้อและไหยังช่วยให้ประหยัดคอนกรีตได้มาก โดยที่หลังคายังมีความแข็งแรงใกล้เคียงกับเดิม

ในการก่อสร้างอาคาร แรงงานที่ก่อสร้างทั้งหมดล้วนเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่รู้หนังสือ โดยชาวบ้านเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนทักษะทางด้านการก่อสร้างและเรียนรู้การทำงานร่วมกับสถาปนิก ซึ่ง Francis Kéré นั้นเชื่อมั่นในแนวทางการทำงานที่เรียกว่า ‘help to self-help’ หรือ การช่วยเหลือเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ด้วยการเข้าไปสร้างให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมยั่งยืนบนฐานทรัพยากรภายในท้องถิ่น อันมาซึ่งจิตสำนึกที่ดีในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในผลงานทุกชิ้นของเขา รวมทั้งอาคารห้องสมุดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง : designboom