อัยยะ! ห้องน้ำจีนเปลี้ยนไป๋…ดีไซน์ใหม่ไฉไลกว่าเดิมเยอะ


วัฒนธรรมการใช้ห้องน้ำสาธารณะในเอเชียจัดว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องด้วยเพราะประชากรที่ไม่มากนักในโลกอดีตกาล เราก็ขับถ่ายกันไปตามสะดวก อาจจะเป็นแม่น้ำหรือตามทุ่งนา หรือที่คำโบราณเรียกว่า ‘ไปทุ่ง’ นั่นเอง ยิ่งในโลกตะวันตกยุคกลางแล้วนั้น เหล่าปฏิกูลทั้งหลายบางทีก็ถูกทิ้งเรี่ยราดเสียจนสยองขวัญ จวบจนความเจริญด้านสุขอนามัยเข้ามา สถาปัตยกรรมจึงต้องมีส่วนของห้องน้ำเข้ามาประกอบซึ่งช่วยเพิ่มสุขอนามัยได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าจะมีการจัดการด้านปฏิกูลที่ดีขึ้น แต่ความสยองขวัญของห้องน้ำจีนที่เคยประสบด้วยตัวเอง ต้องบอกได้ถึงความอดทนในการเข้าใช้งาน เพราะทั้งกลิ่น ทั้งภาพที่ไม่สามารถจรรโลงใจได้เลย แต่ปัญหามีไว้แก้ไข นั่นจึงจะเรียกได้ว่าเป็นนักออกแบบ สตูดิโอ BaO Architects เองก็เชื่อเช่นนั้น จึงเกิดงานออกแบบเล็กๆ แต่น่าสนใจด้วยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน งานนี้คือห้องน้ำของชุมชนหมู่บ้านชาเมน ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาเทียนสุย ณ จังหวัดกานซู

เมื่อการแก้ปัญหาเป็นการปะทะกันของสถานที่พบปะของคนในชุมชน ผสมกับคำตอบเรื่องการใช้ประโยชน์จากกระบวนการย่อยของมนุษย์ สถาปนิกสร้างโปรแกรมที่ซ้อนกัน ทั้งห้องน้ำ บวกกับศาลาประชาคมขนาดย่อย ส่วนของห้องน้ำออกแบบให้มีการแยกของเสียออกเป็นส่วนกาก(อุจจาระ) และน้ำ(ปัสสาวะ) ซึ่งสะดวกต่อการใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตรแบบยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีให้ทำลายดิน ทำลายคนอีก แต่ส่วนที่ธรรมดาแสนพิเศษคือ การออกแบบที่ให้มีการระบายอากาศที่ดีจากการแยกอาคารส่วนชายหญิงออกจากกัน จากนั้นเพิ่มร่มเงาด้วยการปลูกต้นไม้ตรงกลางส่วนเปลี่ยนถ่ายของอาคาร รายละเอียดของการแยกอาคาร เกิดพื้นผิวที่มากขึ้น พื้นที่เหล่านี้เองที่อยู่ภายใต้เงาของชายคา เงาของอาคารด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นผลจากมุมของการโคจรของพระอาทิตย์ พื้นที่เหล่านี้ก่อให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมเป็นผนังกระดานดำ มีชอล์กระบายไปทั่วผิวอาคารเกิดเป็นศิลปะจากเด็กในชุมชน และในเงากว้างของชายคายังมีส่วนซักล้างให้เหล่าแม่บ้านเข้ามาร่วมกันใช้งาน เกิดการพบปะสังสรรค์ในชุมชน ผู้คนมีกิจกรรมร่วมกัน เท่านี้คงจะพอเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่า สถาปัตยกรรมช่วยเปลี่ยนโลกได้อย่างไรบ้าง

เรียบง่ายดีไหม? เรื่องง่ายๆ แต่ถ้าฉุกคิด มันก็จะช่วยโลกได้ทีละนิด ว่าแล้วก็นึกถึงกรุ่นกลิ่นผัดผักแสนอร่อยเมื่อสมัยยังเดินทางเที่ยวในจีน สาเหตุก็เพราะปุ๋ยดีอย่างนี้นี่เอง

อ้างอิง: Gansu Bathhouse