‘แก้วสิงห์’ แกรนิตจากขวดแก้ว ลดขยะ เพิ่มมูลค่าให้เศษแก้ว

เศษแก้วที่เกลื่อนกลาดจนเป็นขยะมากมายในเมืองไทย เกิดจากการบริโภคโดยไม่ยั้งคิด และขาดการวิจัยเพื่อที่จะหาทางออกให้ขยะเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการทำลายโลกให้น้อยสุด สามารถตอบสนองทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ซึ่งในแง่ของการออกแบบและวิจัยมันสามารถช่วยได้จริง

อย่างเช่นกรณี Bottle House บ้านขวดเครื่องดื่มชูกำลังจากเมืองบันดุง อิโดนีเซียที่เคยเขียนถึงในคราวก่อน หรือโบสถ์ขวดเช่นกัน เหล่านี้ล้วนเป็นอีกคำตอบที่อยู่ในแนวทางอันหลากหลายว่า การออกแบบจะช่วยโลกได้อย่างไร และเราจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนอกจากจะนำมาประกอบเป็นสถาปัตยกรรมโดยยังคงรูปร่างของขวดเดิมอยู่ ซึ่งในหลายๆ ครั้งของการออกแบบ ก็ยากที่จะหาวิธีทำให้เข้ากันกับทุกงานออกแบบได้

แต่ในอีกคำตอบที่น่าสนใจจาก วัฒน ทิพย์วีรนันท์ เจ้าของแบรนด์ ‘แก้วสิงห์’ ที่เริ่มไอเดียจากเศษแก้ว ซึ่งไม่อยากให้จุดจบของเศษขวดเหลือใช้จบลงแค่ส่งคืนโรงงานหลอมแก้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากตัวเขาเองเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วสิงห์ ทำให้ตัวเขาเห็นถึงทางออกของเศษแก้วเหล่านี้ เรื่องเริ่มต้นที่งานวิจัยของเขาซึ่งทาง MTEC (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) ให้โอกาสสร้างการทดลอง และ ดร.อนุชา วรรณก้อน กับ ดร.วรพงษ์ เทียมสอน ดูแลโครงการวิจัยเพื่อสร้างคำตอบจากวัสดุเหล่านี้

แม้ว่าคุณภาพที่ได้จะยังอยู่ในการทดลองเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ด้วยว่าจากการเริ่มต้นยังได้แกรนิตแก้วที่มีความคงทนสู้กับหินแกรนิตจริงไม่ได้ แต่ได้พัฒนาจนในที่สุดสามารถเพิ่มความแข็งแรงจนน่าพอใจ หากเราลองสังเกตดูจะพบว่าแก้วสีเขียวมากจากขวดเบียร์ แก้วสีน้ำตาลมาจากเครื่องดื่มชูกำลัง วัสดุใกล้ตัวเหล่านี้เคยเป็นขยะตามท้องถนนมาแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าลองใส่ใจสักนิดจะพบว่า เราสามารถสร้างมูลค่าจากขวดขยะเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

จากการวิจัยให้คำตอบมากกว่าที่เราเคยคิด แม้ว่าประเทศเราจะไม่ให้ความสำคัญต่อการวิจัยมากเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว แต่หากมองให้มากกว่าข้อมูลเดิมๆ เราย่อมได้คำตอบมากกว่าหนึ่งกับการสร้างสรรค์ให้โลกเราแน่นอน

อ้างอิง : artHOUSE, NSTDA, TCDC Connect